ทบทวนความรู้กับ หนังสือเรียนวรรณคดีวิจักษ์ ม.5 – โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน

สวัสดีค่ะ น้องๆ กลับมาพบกับครูพี่โบว์อีกครั้ง …  ช่วงนี้กระแสสังคมและการเมืองเรียกว่าค่อนข้างจะมาแรงแซงทางโค้งกว่ากระแสอื่นๆ กันเลยทีเดียว แต่น้องๆ รู้มั้ยคะว่า ความหลากหลายทางความคิดเรื่องการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงนี้ วันนี้เรามาย้อนอดีตทบทวนความรู้ เรื่อง “โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน” เรื่องหนึ่งใน หนังสือเรียนวรรณคดีวิจักษ์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กันดีกว่าค่ะ

หนังสือเรียนวรรณคดีวิจักษ์ ม.5

โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน

ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 6 ช่วงพหุวัฒนธรรม ชาติตะวันตกมีอิทธิพลต่อชาติเราแทบทุกด้าน เห็นได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทความที่แสดงความคิดเห็น เรื่องปัญหาในการพัฒนาชาติ หรือตัวถ่วงในการพัฒนาประเทศมาแล้วครั้งหนึ่ง บทความนั้นมีชื่อว่า “โคลนติดล้อ” บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)

บทความเรื่องนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 11 พฤษภาคม พ.ศ.2458 พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทความเรื่องเดียวกัน เป็นภาษาอังกฤษชื่อ Clogs on Our Wheels ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Siam Observer โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อกล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่กีดขวางเหนี่ยวรั้งความเจริญของชาติ โดย “ล้อ เปรียบเสมือนประเทศชาติ โคลน เปรียบเสมือนตัวถ่วงที่ทำให้ประเทศชาติไม่เจริญก้าวหน้า”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดการทำหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษได้ทรงริเริ่มออกวารสารรายสัปดาห์สำหรับเด็ก และหนังสือพิมพ์ของสมาคมนักเรียนไทย เมื่อเสด็จกลับจากต่างประเทศได้ทรงออกหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน เช่น ชวนหัว ทวีปัญญา ดุสิตสมิต ดุสิตสมัย ดุสิตรีคอร์ดเดอร์

พระองค์ทรงใช้พระนามแฝงว่า “อัศวพาหุ” ในการพระราชนิพนธ์บทความเพื่อลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ บทความส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกิจการทหาร การสงคราม เหตุการณ์บ้านเมืองทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งการปลุกใจคนไทยให้ตื่นตัวในเรื่องความรักชาติบ้านเมือง ท่ามกลางกระแสความคิด ความเชื่อ ความกระหายความเจริญแบบตะวันตก

บทความเรื่อง “โคลนติดล้อ” แบ่งออกเป็น 12 ตอน ได้แก่ การเอาอย่างโดยไม่ตริตรอง การทำตนให้ต่ำต้อย การบูชาหนังสือจนเกินเหตุ ความนิยมเป็นเสมียน ความเห็นผิด ถือเกียรติยศไม่มีมูล ความจนไม่จริง แต่งงานชั่วคราว ความไม่รับผิดชอบของบิดามารดา การค้าหญิงสาว ความหยุมหยิม และหลักฐานไม่มั่นคง

“โคลนติดล้อ” บทความที่ทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา

บทความจัดเป็นงานเขียนแสดงความคิดเห็นที่พ้นสมัยค่อนข้างเร็วเพราะมักกล่าวถึงเรื่องราวที่กำลังเป็นประเด็นที่น่าสนใจอยู่ในขณะนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปบทความเหล่านั้นก็อาจถูกกลืนหายไปตามกาลเวลา แต่บทความเรื่องโคลนติดล้อเป็นบทความที่ยังคงทรงคุณค่าเหนือกาลเวลาเพราะประเด็นปัญหาที่ถูกนำมากล่าวถึงยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน

“โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน”

“ความนิยมเป็นเสมียน” เป็นหนึ่งในตัวถ่วงความเจริญของประเทศ ซึ่ง “เสมียนหรือเลขานุการ” เป็นอาชีพที่คนส่วนใหญ่ในสมัยนั้นให้ความสำคัญว่าจะได้ใช้ความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียน และได้มีหน้ามีตาหรือมีความโก้หรูมากกว่าอาชีพชาวนา หรือเกษตรกรผู้ซึ่งเป็นหลักและเป็นกำลังสำคัญ ของการผลิตผลผลิตและเป็นอาชีพหลักที่ทำให้ประเทศพัฒนา ดังตัวอย่างจากบทพระราชนิพนธ์

•“เด็กๆ ทุกคนซึ่งเล่าเรียนสำเร็จออกมาจากโรงเรียน ล้วนแต่มีความหวังฝังอยู่ว่าจะได้มาเป็นเสมียนหรือเป็นเลขานุการ และจะได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งขึ้นเร็วๆ เป็นลำดับไป เด็กที่ออกมาจากโรงเรียนเหล่านี้ย่อมเห็นว่ากิจการอย่างอื่นไม่สมเกียรติยศ นอกจากการเป็นเสมียน

•“การที่จะบอกให้เขาเหล่านี้ กระทำตัวของเขาให้เป็นประโยชน์โดยกลับไปบ้าน และช่วยบิดามารดาเขาทำการเพาะปลูกนั้น เป็นการป่วยกล่าวเสียเวลา เขาตอบว่าเขาเป็นผู้ที่ได้รับความศึกษามาจากโรงเรียนแล้วไม่ควรจะเสียเวลาไปทำงานชนิดซึ่งคนที่ไม่รู้หนังสือก็ทำได้”

• “ที่กล่าวว่าถ้าเขาอยู่ในเมือง เขาอาจจะทำประโยชน์ให้แก่บ้านเกิดเมืองนอนของเขาดีกว่าอยู่บ้านนอกนั้น เป็นความเหลวไหลโดยแท้ ท่านผู้มีความคิดคงจะเข้าใจได้ดีว่า อันประเทศอย่างเมืองไทยของเรานี้ชาวนา ชาวสวนอาจจะทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองได้มากกว่าเสมียน ซึ่งเป็นแต่เครื่องมือเท่ากับปากกาและพิมพ์ดีด”

•“เมื่อไหร่หนอพวกหนุ่มๆ ของเราจึงจะเข้าใจได้บ้างว่าการเป็นชาวนา ชาวสวนหรือคนทำงานการอื่นๆ นั้น ก็มีเกียรติยศเท่ากับที่จะเป็นผู้ทำงานด้วยปากกาเหมือนกัน ?”

• “ดังนี้จะไม่เป็นการสมควรแลหรือ ที่เราจะสอนพวกหนุ่มๆ ของเรา ปรารถนาหาการงานอื่นๆ อันพึงหวังประโยชน์ได้ดีกว่าการเป็นเสมียน ถ้าเราจะสอนเขาทั้งหลายให้รู้สึกเกียรติยศแห่งการที่จะเป็นผู้เพาะความสมบูรณ์ให้แก่ประเทศ เช่น ชาวนา ชาวสวน พ่อค้าและช่างต่างๆ จะไม่ดีกว่าหรือ?”

พระองค์ทรงใช้สำนวนภาษาที่กระชับ ชัดเจน และเข้าใจง่าย ในการเสนอความคิด ใช้คำถามกระตุ้นให้คิด ให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งใช้การเปรียบเทียบให้เห็นภาพ

มีหลายเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหาและน่าศึกษาซึ่งเราสามารถเรียนรู้ได้จากวรรณคดีและวรรณกรรมในสมัยนั้นๆ และยิ่งเราอ่านมากเท่าไหร่ เราก็จะรอบรู้มากขึ้นเท่านั้นนะคะ ครูพี่โบว์บอกเลยว่า … วรรณคดีไทย ยิ่งเรียนยิ่งสนุกมากกกกกกกก

บทความหน้าครูพี่โบว์จะมีเกร็ดความรู้เรื่องอะไรมาฝาก อย่าลืมติดตามกันนะจ๊ะ

ครูพี่โบว์เอาใจช่วยนะคะ ยังพอมีเวลาตัดสินใจค่ะ … สู้ๆ

SEEME.ME : KruBow

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง