วรรณคดี กับ วรรณกรรม แตกต่างกันอย่างไร ?

สวัสดีค่ะ น้องๆ กลับมาพบกับครูพี่โบว์อีกครั้ง … ก่อนที่การสอบกลางภาคจะมาถึง เรามาทบทวนความรู้เรื่องวรรณคดีกันดีกว่า … น้องๆ รู้มั้ยคะว่า “ วรรณคดี กับ วรรณกรรม แตกต่างกันอย่างไร ” และมีที่มาอย่างไร

วรรณคดี กับ วรรณกรรม แตกต่างกันอย่างไร

นอกจาก “วรรณคดี” จะเป็น คำสมาส ที่ประกอบด้วยคำว่า “วรรณ” ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึง หนังสือ คำว่า “คดี” มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี หมายถึง การดำเนิน การไป ความเป็นไป และคำว่า “กรรม” มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึง การกระทำ, การงาน, กิจ แล้วนั้น

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ยังให้ความหมายว่า

• วรรณคดี เป็นคำนาม หมายถึง วรรณกรรมที่ได้รับยกย่องว่าแต่งดี มีคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ถึงขนาด เช่น พระราชพิธีสิบสองเดือน มัทนะพาธา สามก๊ก เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

• วรรณกรรม เป็นคำนาม หมายถึง งานหนังสือ, งานประพันธ์, บทประพันธ์ทุกชนิดทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ วรรณกรรมของเสฐียรโกเศศ วรรณกรรมฝรั่งเศส วรรณกรรมประเภทสื่อสารมวลชน

สำหรับประเทศไทยมีการใช้คำว่า “หนังสือ” ก่อนคำว่า “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม” กล่าวคือ ในอดีตเราเรียกงานเขียนทั่วไปว่า “หนังสือ” หรืออาจเรียกโดยใช้ชื่อผู้แต่งกับชื่อคำประพันธ์และประเภทของเนื้อหา เช่น นิราศนรินทร์ หรืออาจเรียกโดยใช้ชื่อลักษณะคำประพันธ์และเหตุการณ์ในเรื่อง เช่น เพลงยาวนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง เป็นต้น

“วรรณคดี” เป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2450 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว สมัยที่ชาติตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในทุกๆ ด้าน พระองค์ทรงตั้ง “โบราณคดีสโมสร” ขึ้น เพื่อส่งเสริมการประพันธ์ การศึกษาประวัติศาสตร์และงานทางโบราณคดี รวมทั้งพิมพ์ เผยแพร่วรรณคดีโบราณ เช่น ลิลิตยวนพ่าย ทวาทศมาส และนิราศพระยาตรัง เป็นต้น นอกจากนี้มีคณะกรรมการตรวจคัดหนังสือที่ “แต่งดี” เพื่อรับพระบรมราชานุญาตประทับพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้ว และจึงได้ชื่อว่าเป็น “วรรณคดี”

ต่อมาใน พ.ศ. 2457 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “วรรณคดีสโมสร” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแต่งหนังสือ ให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย สนับสนุนให้แต่งเรื่องที่อ่านแล้วได้สาระประโยชน์ เช่นเดียวกับวัตถุประสงค์ของโบราณคดีสโมสร

หนังสือ 5 ประเภท

“วรรณคดีสโมสร” จะคัดเลือกหนังสือที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ “เป็นหนังสือที่ดี(มีเนื้อหาดี)” และ “เป็นหนังสือที่แต่งดี” เพื่อเลื่อนฐานะเป็น “วรรณคดี” โดยมีการพิจารณาหนังสือประเภทต่างๆ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

• กวีนิพนธ์ คือ คำประพันธ์ประเภท โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน
• ละครไทย คือ เนื้อเรื่องที่ประพันธ์เป็นกลอนแปด
• นิทาน คือ เนื้อเรื่องที่ประพันธ์เป็นร้อยแก้ว
• ละครพูด คือ เนื้อเรื่องที่เขียนขึ้นสำหรับแสดงบนเวที
• ความอธิบาย คือ การแสดงศิลปะด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่ไม่ใช่แบบเรียน ตำรา หนังสือโบราณคดี หรือพงศาวดาร

น้องๆ คงจะทราบที่มากันแล้วนะคะ ว่าแต่ละเรื่องที่เราเรียกว่า “วรรณคดี” นั้น ไม่ใช่ว่าใครจะเรียกก็ได้นะคะ แต่ต้องได้รับการพิจารณาคุณสมบัติทั้งเนื้อหาที่โดดเด่นและการประพันธ์ที่ดีเยี่ยมจาก “วรรณคดีสโมสร” ก่อน และหนังสือที่ดีในรุ่นหลัง หากไม่ได้รับการพิจารณาก็จะต้องใช้คำว่า “วรรณกรรม” ค่ะ

บทความหน้าครูพี่โบว์จะนำวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรมาเล่าสู่กันฟัง อย่าลืมติดตามกันนะคะ

SEEME.ME : KruBow

Photo by Min An from Pexels

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง