มาจะกล่าวบทไป ถึงนนทกน้ำใจกล้าหาญ
ตั้งแต่พระสยมภูวญาณ ประทานให้ล้างเท้าเทวา
อยู่บันไดไกรลาสเป็นนิจ สุราฤทธิ์ตบหัวแล้วลูบหน้า
บ้างให้ตักน้ำล้างบาทา บ้างถอนเส้นเกศาวุ่นไป
จนผมโกร๋นโล้นเกลี้ยงถึงเพียงหู ดูเงาในน้ำแล้วร้องไห้
ฮึดฮัดขัดแค้นแน่นใจ ตาแดงดั่งแสงไฟฟ้า
เป็นชายดูดู๋มาหมิ่นชาย มิตายจะได้มาเห็นหน้า
คิดแล้วก็รีบเดินมา เฝ้าพระอิศราธิบดี ฯ
สวัสดีค่ะ น้องๆ คุ้นหูคุ้นตาบทประพันธ์ข้างต้นกันมั้ยเอ่ย? บทประพันธ์นี้มาจาก วรรณคดี เรื่อง รามเกียรติ์ ที่น้องๆ เคยเรียนกันมาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาค่ะ นอกจากจะเคยเรียนแล้ว อาจจะมีบทท่องอาขยานที่ต้องท่องทุกวันด้วยใช่มั้ยล่ะคะ
วรรณคดี เรื่อง รามเกียรติ์
น้องๆ ทราบมั้ยคะว่า วรรณคดีของไทยเรามีทั้งที่ประพันธ์ขึ้นมา โดยเป็นเค้าโครงเรื่องที่คิดใหม่ และมีอีกหลายเรื่องที่ประพันธ์โดยใช้เค้าโครงเรื่องเดิมที่ได้รับสืบทอดหรือถ่ายทอดมา และได้นำมาปรับประยุกต์เข้ากับวัฒนธรรม หรือวัตถุประสงค์ของผู้แต่ง และเรื่องนี้ เรื่อง รามเกียรติ์ก็เป็นหนึ่งในวรรณคดีที่มีการปรับประยุกต์ค่ะ
จากบทประพันธ์ข้างต้นกล่าวถึง ตัวละคร “นนทก” อาจจะถือว่า เป็นตัวละครที่นำเข้าสู่เรื่องนี้เลยก็ว่าได้นะคะ เพราะนนทกเป็นยักษ์รับใช้ของพระอิศวร มีหน้าที่คอยล้างเท้าให้บรรดาเทพที่มาเข้าเฝ้าพระอิศวร อยู่ที่ตีนเขาไกรลาส แต่นนทกมักถูกแกล้งจนในที่สุดนนทกก็ทนไม่ไหว จึงไปเข้าเฝ้าพระอิศวร เพื่อทูลขอนิ้วเพชรที่มีฤทธิ์ชี้ไปที่ใครคนนั้นก็จะต้องตาย เมื่อพระอิศวรประทานนิ้วเพชรให้ นนทกไล่ชี้นิ้วเพชรใส่เทวดาที่เคยแกล้งตน เพื่อให้หายแค้น เทวดาต่างล้มตายกันเป็นจำนวนมาก
เมื่อความทราบถึงพระอิศวร จึงโปรดให้พระนารายณ์ไปปราบ พระนารายณ์จึงออกอุบายจำแลงเป็นนางอัปสร ไปหลอกล่อนนทก แกล้งยั่วให้นนทกร่ายรำตามจนถึงท่า “นาคาม้วนหาง” นนทกก็หลงกลชี้นิ้วเพชรไปที่ขาของตัวเองจนสิ้นฤทธิ์ นางอัปสรจึงคืนร่างเป็นพระนารายณ์
นนทกได้ตัดพ้อพระนารายณ์ว่า นนทกมีเพียงสองมือ จะสู้พระนารายณ์ที่มีหลายมือได้อย่างไร พระนารายณ์จึงให้คำสัตย์ว่า ให้ยักษ์นนทกไปเกิดใหม่ มีสิบเศียรสิบพักตร์ยี่สิบมือ เหาะเหินเดินอากาศได้ มีอาวุธนานาชนิดครบทุกมือ ส่วนพระนารายณ์จะไปเกิดเป็นมนุษย์มีสองมือและตามไปฆ่านนทกให้ได้
นี่แหละที่มาของการผจญภัยในเรื่อง
วันนี้ครูพี่โบว์ก็มี “ ที่มาและเรื่องน่ารู้จากวรรณคดี เรื่องรามเกียรติ์ ” มาฝากน้องๆ กันค่ะ
วิวัฒนาการ รามเกียรติ์
รามเกียรติ์ เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทย โดยมีต้นเค้ามาจาก “รามายณะ” ที่วาลมิกิชาวอินเดียแต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต เมื่อประมาณ 2,400 ปีมาแล้ว ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีพบว่าได้มีการติดต่อกับชาวอินเดีย ราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 เนื่องจากดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสินค้า ได้แก่ เครื่องเทศ ยางไม้หอม และไม้หอม
การติดต่อค้าขายดังกล่าวยังส่งผลให้เกิดการติดต่อเผยแพร่ทางอารยธรรม มีทั้งที่ชาวอินเดียเป็นผู้นำมาเผยแพร่โดยตรง รับผ่านจากประเทศข้างเคียง และจากการที่คนในดินแดนนี้เดินทางไปศึกษาในอินเดีย และรับเอาอารยธรรม ความรู้ และตำราต่างๆ มาเผยแพร่ ด้วยเหตุนี้รามายณะจึงกลายเป็นนิทานที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหา ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ จนกลายเป็นวรรณคดีประจำชาติ
สำหรับเรื่องรามเกียรติ์ของไทยนั้น มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับเล่นละครหลวง ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีมาแต่เดิมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์เพื่อเล่นละครหลวง และในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยใช้ฉบับของอินเดีย (รามายณะ) โดยใช้ชื่อว่า “บ่อเกิดรามเกียรติ์”
เนื้อเรื่องโดยย่อ
กล่าวถึงเนื้อเรื่องบนโลกมนุษย์ พิเภกได้ทำนายว่าสีดาธิดาของทศกัณฐ์จะเป็นกาลกิณีแก่กรุงลงกา ทศกัณฐ์จึงให้ใส่ผอบลอยน้ำไป ครั้นพระชนกฤๅษีเก็บผอบ (ผะ-อบ) ได้จึงเลี้ยงนางไว้ จนเมื่อพบรักกับพระรามและได้อภิเษกกัน ท้าวทศรถเตรียมให้พระรามครองกรุงศรีอยุธยา แต่นางไกยเกษีกลับขอให้พระพรตโอรสของนางขึ้นครองราชย์แทน และให้พระรามเดินป่า 14 ปี พระราม พระลักษมณ์ และนางสีดาจึงออกเดินป่าไปด้วยกัน
นางสำมนักขาน้องสาวของทศกัณฐ์มาพบพระรามก็หลงรัก ทำร้ายนางสีดาจึงถูกพระลักษมณ์ตัดหูตัดจมูกเพื่อลงโทษ นางสำมนักขากลับไปฟ้องทศกัณฐ์แล้วแกล้งกล่าวชมความงามของนางสีดาจนทศกัณฐ์หลงใหล ออกอุบายให้มารีศแปลงเป็นกวางทองล่อพระราม พระลักษมณ์ออกจากอาศรม แล้วลักพาสีดาไปไว้ที่กรุงลงกา
เมื่อพระราม พระลักษมณ์กลับมาไม่พบนางสีดาก็รู้ว่าเสียทีจึงออกติดตาม ระหว่างทางพบนกสดายุแจ้งข่าวสีดาถูกทศกัณฐ์ลักพาไปกรุงลงกา และได้หนุมานและสุครีพมาเป็นทหารเอก พระรามส่งหนุมาน องคต ชมพูพานไปยังกรุงลงกาเพื่อสืบข่าวนางสีดาและได้ยกทัพเคลื่อนพลไปช่วยนาง ฝ่ายทศกัณฐ์ฝันร้าย พิเภกจึงแนะนำให้ส่งนางสีดาคืน ทศกัณฐ์โกรธมากจึงขับไล่พิเภกออกจากเมือง พิเภกจึงมาขอสวามิภักดิ์กับพระราม จากนั้นพระรามให้จองถนนข้ามไปยังกรุงลงกา แล้วรบกันหลายครั้งโดยฝ่ายพระรามมีพิเภกคอยช่วยแก้ไขกลศึก ทศกัณฐ์จึงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
ทศกัณฐ์เชิญท้าวมาลีวราชซึ่งมีวาจาสิทธิ์มาตัดสินข้อพิพาท ท้าวมาลีวราชตัดสินให้ส่งนางสีดาคืน แต่ทศกัณฐ์ไม่ยินยอมจึงออกรบกับพระรามอีก พระรามแผลงศรใส่แต่ไม่สามารถสังหารทศกัณฐ์ให้ตายได้ จนหนุมานต้องไปเอากล่องดวงใจของทศกัณฐ์ซึ่งฝากไว้ที่ฤๅษีโคบุตรมาทำลาย พระรามจึงแผลงศรสังหารทศกัณฐ์ได้สำเร็จ
นางสีดาขอลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง พระรามได้ขึ้นครองราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาเกิดเรื่องเข้าใจผิดระหว่างสีดากับพระราม นางจึงไปอาศัยอยู่กับฤๅษีจนประสูติพระมงกุฎ ต่อมาฤๅษีชุบพระลบให้นางอีกองค์หนึ่ง วันหนึ่งพระมงกุฎและพระลบประลองศร พระรามได้ยินเสียงนั้น จึงคิดกระทำพิธีปล่อยม้าอุปการ พระมงกุฎพระลบจับม้าอุปการได้จึงนำไปขี่เล่น หนุมาน พระพรต พระสัตรุดสามารถจับพระมงกุฎได้ แล้วนำกลับไปกรุงศรีอยุธยา
พระลบมาช่วยพระมงกุฎหนี พระรามยกทัพตามมาสู้รบกัน จึงได้ทราบความจริงว่าพระมงกุฎและ พระลบเป็นโอรส พระรามได้ไปง้อขอคืนดีกับนางสีดาแต่นางไม่ยอม สุดท้ายพระอิศวรต้องเกลี้ยกล่อมให้พระรามกับนางสีดาคืนดีกันแล้วจึงจัดพิธีอภิเษกให้อีกครั้งหนึ่ง
รามเกียรติ์ เป็นวรรณคดีเรื่องหนึ่งที่มีความโลดโผน มีความสนุกสนาน และน่าติดตามด้วยมิติที่ซับซ้อนของตัวละครแต่ละตัวที่มีภาพลักษณ์ ลักษณะนิสัยที่โดดเด่น แต่ก็มีบุคลิกที่แอบแฝง เช่น หนุมาน เป็นทหารเอกของพระรามที่มีมุมของความจงรักภักดี มีความซื่อสัตย์ มีกลอุบายในการทำศึกมาก แต่อีกมุมหนึ่งก็มีนิสัยเจ้าชู้ ทะเล้น
ดังนั้นถ้าน้องๆ ได้ศึกษาวรรณคดีอย่างแท้จริงก็จะรู้ว่าสนุกครบรสไม่แพ้นวนิยายเลยทีเดียวค่ะ
บทความต่อไป ครูพี่โบว์จะนำตัวละครจากเรื่องมาแนะนำให้น้องๆ รู้จักกันดีกว่า จะมีใครกันบ้าง อย่าลืมติดตามกันน้า 💕