10 เคล็ดลับเพิ่มความจำ ในแบบฉบับ Harvard มหาวิทยาลัยชื่อดัง

แคมปัส-สตาร์ มีเคล็ดลับดีๆ ที่จะช่วยน้องๆ ในเรื่องการเพิ่มความจำ มาฝากค่ะ โดยบทความนี้วารสาร HEALTHbeat จากสำนักพิมพ์ Harvard University ได้ตีพิมพ์ออกมา เพื่อให้นักศึกษาได้อ่าน และลองนำไปปฏิบัติ ข้อดีคือหากนำไปทำเป็นประจำ จะช่วยเสริมสร้างในเรื่องของสมองให้มีความคิด ความจำ ที่ดีขึ้นได้ น้องๆ ชาวแคมปัสฯ ลองไปทำตามกันได้เลยน้าาา…

เคล็ดลับเพิ่มความจำ แบบ Harvard

1.เชื่อมั่น

การศึกษาทำในคนวัยกลางคนและสูงอายุพบว่า ความจำของคนเราแปรตามความเชื่อมั่น คนเราจะจำอะไรๆ ได้ดีถ้าเชื่อมั่นว่า “เราทำได้” คนที่มองโลกในแง่ดีและเชื่อว่า ความจำของคนเราไม่ลดน้อยถอยลงไปตามอายุจะมีความจำดีกว่าคนที่คิดว่า “เราแก่แล้ว จำสู้เด็กๆ ไม่ได้”

2. จด

การจัดเรื่องต่างๆ ให้เป็นหมวดหมู่ช่วยป้องกันการลืม เครื่องมือป้องกันการลืมที่สำคัญได้แก่ ปฏิทิน แผนที่ สมุดวางแผน แผ่นจดรายการของต้องซื้อก่อนไปชอปปิ้ง สมุดจดที่อยู่-เบอร์โทรศัพท์

3. แบ่งเป็นชุดเล็กๆ

สมองคนเราจำเรื่องเล็กๆ ได้ดีกว่าเรื่องใหญ่ๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าจะจำตัวเลข 8 หลัก “27984689″ ควรแบ่งเป็น 2 ชุดแบบที่เราใช้จำเบอร์โทรศัพท์ “2798-4789″ เวลาจะจำอะไรก็ควรฝึกจำทีละชุดเล็ก เช่น อ่านหนังสือวันละน้อย ดีกว่าฝึกจำชุดใหญ่ เช่น อ่านหนังสือรวดเดียวก่อนสอบ

4. ใช้ประสาททั้งห้า

ใช้ประสาททั้งตา หู จมูก ลิ้น และกายที่ประทับใจมากที่สุด เพื่อจดจำเรื่องราว ประทับใจอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องขอ “เชื่อมโยง” กับประสบการณ์ในอดีตด้วยว่า สัมผัสหรือเรื่องนั้นคล้ายกับอะไรด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าอยากจำรายละเอียดในร้านอาหาร ให้ ลองสูดหายใจเข้าแรงๆ ได้กลิ่นอะไรให้รีบจำกลิ่น และเชื่อมโยงว่า กลิ่นนี้คล้ายกลิ่นอะไร เช่น คล้ายกลิ่นขนมที่คุณยายทำให้ตอนอายุ 2 ขวบ

5. ขยายขอบเขต

การท่องออกเสียงดังๆ วาดภาพประกอบ บันทึก หรือทำภาพไดอะแกรมเชื่อมโยงกระบวนการเข้าด้วยกัน เช่น แผนภูมิก้างปลา ช่วยให้จำได้ง่ายกว่าการอ่านในใจเพียงอย่างเดียว

6. เรียกชื่อ

คนเราจะจำชื่อคนได้ดีขึ้นถ้าเรียกชื่อคนที่เราเห็นทุกครั้ง หรือถ้านึกถึงใครในใจก็ให้รีบทบทวนชื่อคนนั้นทันที

7. เว้นช่วง

คนเราจะจำเรื่องราวต่างๆ ได้ดีถ้าทบทวนซ้ำในช่วงที่ห่างกันหลายๆครั้ง ได้ดีกว่าการท่องรวดเดียว

8. คำย่อ

คำย่อมีส่วนช่วยให้จำอะไรได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น E, G, B, D, F ซึ่งเป็นโน๊ตในบรรทัด 5 เส้น ให้ลองนำอักษรตัวแรกมาแต่งเป็นประโยค เช่น Every good boys does fine.

9.ท้าทาย

สมองคนเราเป็นเรื่องที่ต้อง “ท้าทาย” หรือฝึกบ่อยๆ จึงจะใช้การได้ดี การฝึกสมอง เช่น การเล่นคำต่อ หมากรุก การฝึกใช้มือข้างที่ไม่ถนัดทำงาน มีส่วนช่วยฝึกสมองให้ตื่นตัว และใช้การได้ดีขึ้นในระยะยาว

10.นอนให้พอ

คนที่พักผ่อนนอนหลับเพียงพอมักจะจดจำอะไรๆ ได้ดีกว่าคนที่อดนอน ถ้าจะถนอมสมองให้ใช้ได้ดีไปนานๆ ก็ควรนอนให้พอ และอาจเสริมด้วยกิจกรรมฝึกสมาธิ สมาธิกำหนดลมหายใจ และออกกำลังเป็นประจำ

บทความจาก : joinstick , Cr.photo : www.wikihow.com

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง