biology mind map ชีววิทยา เคล็ดลับการเรียน เรียนเก่ง

เคล็ดลับการเรียน ชีววิทยา ให้เก่งและเข้าใจอย่างดี | Biology

Home / วาไรตี้ / เคล็ดลับการเรียน ชีววิทยา ให้เก่งและเข้าใจอย่างดี | Biology

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเพื่อนเราบางคนถึงได้เรียนวิชา ชีววิทยา เก่งกันจังเลย ทั้งที่ก็บอกเราตลอดว่า ไม่ชอบวิชานี้เลย มันต้องจำคำศัพท์เยอะ แถมยังเป็นศัพท์แปลกๆ อีกยิ่งจำยากเข้าไปใหญ่เลย แต่พอผลสอบออกมาทีไรก็ได้คะแนนสอบ หรือเกรดดีกว่าเราเสมอๆ แต่กับเราเนี่ยสิ ซึ่งเป็นวิชาที่เราชอบที่สุด และยังไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมแล้วด้วย แต่พอผลสอบออกมากลับไม่ค่อยดี เป็นดั่งใจหวังเอาซะเลย จะทำยังไงดีนะ ลองอ่านเคล็ดลับที่เรานำมาฝาก

เคล็ดลับการเรียน ชีววิทยา ให้เก่งและเข้าใจ

ความหมาย .. ชีววิทยา

ก่อนที่เราจะดูเคล็ดลับการเรียนชีววิทยาให้เก่ง เรามารู้กันก่อนดีกว่าว่า จริงๆ แล้ว “ชีววิทยา” มีความหมายว่าอย่างไร?

ชีววิทยา (Biology) เป็นแขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (natural science) ที่ศึกษาเกี่ยวกับชีวิต และสิ่งมีชีวิต ซึ่งรวมถึงโครงสร้าง การทำงาน การเจริญเติบโต ถิ่นกำเนิด วิวัฒนาการ การกระจายพันธุ์ และอนุกรมวิธาน โดยเป็นการศึกษาในทุกๆ แง่มุมของสิ่งมีชีวิต โดยคำว่า “ชีววิทยา (Biology)” มาจากภาษากรีก คือคำว่า “bios” แปลว่า สิ่งมีชีวิต และ “logos” แปลว่า วิชา หรือการศึกษาอย่างมีเหตุผล

ชีววิทยาเป็นสาขาวิชาที่ใหญ่มากจนไม่อาจศึกษาเป็นสาขาเดียวได้ จึงต้องแยกออกเป็นสาขาย่อยต่างๆ ในหัวข้อนี้จะแบ่งสาขาย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม

  • กลุ่มที่ 1 เป็นสาขาที่ศึกษาโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต อย่างเช่นเซลล์ ยีน เป็นต้น
  • กลุ่มที่ 2 ศึกษาการทำงานของโครงสร้างต่างๆ ตั้งแต่ระดับเนื้อเยื่อ ระดับอวัยวะ จนถึงระดับร่างกาย
  • กลุ่มที่ 3 ศึกษาประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิต
  • กลุ่มที่ 4 ศึกษาความสัมพันธ์ในระหว่างสิ่งมีชีวิต

อย่างไรก็ตาม การแบ่งกลุ่มนี้เป็นเพียงการจัดหมวดหมู่ให้สาขาต่างๆ ในชีววิทยาให้เป็นระเบียบและเข้าใจง่าย แต่ความจริงแล้ว ขอบเขตของสาขาต่างๆ นั้นไม่แน่นอน และสาขาวิชาส่วนใหญ่ก็จำเป็นต้องใช้ความรู้จากสาขาอื่นด้วย

ตัวอย่างเช่น สาขาชีววิทยาของวิวัฒนาการ ต้องใช้ความรู้จากสาขาอณูวิทยา เพื่อจัดลำดับของดีเอ็นเอ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจความแปรผันทางพันธุกรรมของประชากร หรือสาขาวิชาสรีรวิทยา ต้องใช้ความรู้จากสาขาชีววิทยาของเซลล์ เพื่ออธิบายการทำงานของระบบอวัยวะ

เคล็ดลับการเรียนชีววิทยา

1. จำให้ได้

ขั้นแรกน้องๆ ต้องฝึกรากศัพท์ให้คล่อง และจำให้ได้เสียก่อน

“ชีวะ” เป็นวิชาที่น้องๆ จะได้พบกับ คำศัพท์เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต่างๆ (ศัพท์ชีววิทยาโดยเฉพาะ) เป็นจำนวนมากในเนื้อหาทุกๆ เรื่อง ซึ่งหลายๆ คนอาจจะบ่นว่าแค่จำศัพท์ชีวะ ให้หมดทุกคำก็ยากแล้ว พร้อมกับต้องจำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องไปด้วย ตายแน่!! การตั้งใจจะจำศัพท์ให้หมดทุกคำอย่างไม่มีหลักการ และไม่เป็นระบบก็ต้องยากแน่นอน

ดังนั้นการเรียนชีวะให้ได้ดีนั้น น้องๆ จะต้องรู้จักรากศัพท์ และจำความหมายของรากศัพท์ให้ได้ เพราะนั่นจะช่วยลดจำนวนศัพท์ที่ต้องจำไปได้มาก และยังทำให้การจำของน้องๆ มีระบบมากขึ้นอีกด้วย เช่น คำว่า Hypo ที่แปลว่าใต้ หรือต่ำกว่า ดังนั้นเมื่อเจอคำว่า Hypo-osmolarity ก็ต้องแปลว่า มี osmolarity ที่ต่ำ หรือ Hypodermis ที่แปลว่า ชั้นที่อยู่ใต้ dermis (ชั้นหนังแท้) เป็นต้น ถ้าน้องๆ ทำอย่างนี้ได้การจำ ศัพท์ชีวะ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปนะจ้า

2. สรุปเนื้อหาให้ตัวเองเข้าใจง่าย

เมื่อเราจำรากศัพท์ได้แล้ว ขั้นต่อมา เรามาเริ่มเขียนสรุปเนื้อหา ให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นกันดีกว่า อืม… แต่จะให้เราเขียนสรุปแบบธรรมดามีแต่ตัวอักษรก็ไม่ดีเสมอไปนะ (อาจจะทำให้เราจำได้ยากด้วย) น้องๆ ลองมาเปลี่ยนวิธีการเขียนเป็นแผนภาพ หรือ mind map ช่วยได้เยอะเลยนะ (ตอนเรียนพี่ก็ใช้วิธีนี้ทำให้เราจำ และเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น)

ภายในเนื้อหาปริมาณมหาศาลนั้น ถ้าหากว่าเราอ่านดีๆ จะพบความเชื่อมโยงของเนื้อหาอยู่เป็นอย่างมากในหลายๆ เรื่องนั้น ซึ่งวิธีการที่เราเขียนเป็น mind map แทนการเขียนสรุปแบบธรรมดาจะช่วยให้สมองจดจำภาพรวมทั้งหมดได้อย่างรวดเร็ว

3. แผนภาพ หรือ mind map

เทคนิคการเขียน mind map ให้กระชับ เข้าใจง่าย ก็ไม่ยากเลย คือ เราต้องสรุปเนื้อหาเมื่อเรียนผ่านแต่ละบท เพื่อที่จะได้นำมาอ่านในช่วงใกล้สอบ เน้น keyword ที่สำคัญให้ชัดเจน ละเอียด รู้เรื่อง

หรือถ้าใครไม่ชอบการทำ mind map ก็ลองแต่งเนื้อหาที่เราเรียนมาแต่ละบท เป็นกลอน เพลง ก็ได้นะคะ

ชีววิทยา

4. เข้าใจแนวคิด

ต่อมาคือ การอ่านหนังสือชีวะ หรือเนื้อหาที่เรียนนั้น น้องๆ ต้องเข้าใจแนวคิดให้ได้เสียก่อน แล้วจึงจะสามารถเติมความหมาาย หรือข้อความที่ถูกต้องลงไปได้

หากได้ลองอ่านหนังสือวิชาชีวะนั้นจะพบว่า รายละเอียดจะค่อนข้างเยอะมากในแต่ละบท เช่น เนื้อเยื่อพืชแบ่งได้เป็น 1.เนื้อเยื่อเจริญ ซึ่งก็คือ….. เนื้อเยื่อเจริญแบ่งได้…ประเภท ได้แก่….. 2. เนื้อเยื่อถาวร คือ…… แบ่งได้เป็น…. เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าถ้าหากน้องๆ อ่านไปเรื่อยๆ ก็จะพบรายละเอียดเพิ่มขึ้น และก็ขยายความรายละเอียดต่อไปเรื่อยๆ แล้วเมื่อเรียนบทนั้นๆ จบอาจจะยังตอบไม่ได้ด้วยซ้ำว่า “เนื้อเยื่อพืชแบ่งเป็นกี่ประเภท” เพราะมัวแต่สนใจรายละเอียดของเนื้อหามากเกินไป ดังนั้นจึงแนะนำให้ทำความเข้าใจ แนวคิดของเรื่องนั้นๆ หรือภาพรวมของเนื้อหาเสียก่อน แล้วจึงค่อยๆ อ่านเนื้อหาต่อไป จะช่วยให้ลำดับการจำเนื้อหาน้องๆ เป็นระบบ จำได้ง่าย และจำได้นานขึ้น

เคล็ดลับการเรียน

5. ดูภาพเยอะๆ นั้นสำคัญ

นอกจากการอ่านเนื้อหาให้เข้าใจแล้ว การดูภาพเยอะๆ ก็ช่วยได้!!

การเรียนชีวะนั้นในหลายๆ บท น้องๆ จะต้องอ่านเนื้อหาที่บรรยายถึงโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ เช่นเรื่องระบบขับถ่ายของเสียของคน ก็จะมีการบรรยาเกี่ยวกับโครงสร้างของไตว่า renal pelvis คือ บริเวณที่…. renal cortex คือ….. Major calyx เป็นส่วนที่อยู่….. ซึ่งเมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้ช่วยให้น้องจินตนาการภาพออกเลยว่า แต่ละส่วนประกอบของไตที่ว่านั้น เรียงตัวอยู่บริเวณใด ดังนั้น แนะนำให้น้องๆ ดูรูปภาพประกอบที่มีลูกศรชี้ตำแหน่งแสดงชื่อเรียกต่างๆ แล้วอ่านหนังสือที่บรรยายเนื้อหาไปด้วยจะช่วยให้จำได้มากเลยทีเดียว

หวังว่าเคล็ดลับเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่น้องๆ ไม่มากก็น้อยนะคะ 

อ้อ!! และอีกอย่างที่จะลืมไม่ได้ คือ น้องๆ ต้องไม่มีอคติกับวิชานี้นะ ไม่ว่าน้องๆ จะชอบหรือไม่ชอบชีวะ เก่งหรือไม่เก่งชีวะ มาก่อนด้วยสาเหตุอะไร แต่อยากจะขอให้ลองเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนวิธีการเรียน

เริ่มจากอย่ามีอคติกับวิชานี้ คิดเสมอว่าเราจะต้องเข้าใจวิชานี้ให้ได้ (เหมือนกับอาจารย์ของพี่เขาเคยสอนไว้ว่า “เราต้องรักวิชาที่เราเรียน ถึงจะไม่ชอบ หรือไม่ถนัดก็ตาม แล้ววิชานั้นก็จะรักเราตอบกลับมา”) ลองนำเคล็ดลับนี้ไปใช้กันนะจ้า ได้ผลเป็นยังไงมาบอกกันด้วยนะ หรือถ้าใครมีเคล็ดลับการเรียนแบบอื่นๆ ก็มาแชร์กันได้นะ >_<

เรียบเรียงโดย : Campus-Star
ข้อมูล และภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.top-atutor.com/ , www.siraekabut.com/2013/07/mind-map/ , www.memrise.com/courses/english/biology/ , ifvpcommunity.ning.com/photo/systems-our-amazing-body , www.edgehill.ac.uk/courses/secondary-science-biology-education-with-qts/

บทความแนะนำ