ปิโก สานต่อการพัฒนาวิชาชีพครู EDUCA 2019 สร้างความร่วมมือรวมพลัง ยกระดับการศึกษาไทย

(16 ตุลาคม 2562: กรุงเทพฯ) บมจ.ปิโก (ไทยแลนด์) ไม่หยุดเสริมแกร่งครูไทย จัดงาน “มหกรรม ทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู” หรือ “EDUCA” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 ชูแนวคิด “พลังของชุมชนแห่งการเรียนรู้” หวังกระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ พร้อมเปิดไฮไลท์การประชุมนานาชาติโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ ครั้งที่ 7 ที่ยกมาจัดในไทยเป็นครั้งแรก รวมถึงมี เวิร์คชอปกว่า 170 หัวข้อให้ครูได้เลือกตามความสนใจ

มหกรรม ทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู EDUCA 2019

นายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) (Mr.Silchai Kiatpapan, Chief Executive Officer of Pico (Thailand) Public Company Limited) ผู้จัดงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (EDUCA) กล่าวว่า ปิโก ให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูไทย มาโดยตลอด เพราะตระหนักว่าครูคือ ผู้ให้ ผู้นำ และผู้หล่อหลอมความแข็งแกร่งและอนาคตของประเทศชาติ

ซึ่งงาน EDUCA เป็นแพลตฟอร์มเพื่อสื่อสาร แบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ด้านการศึกษาที่ดีที่สุดทั้งจากนักวิชาการระดับโลก และครูนักปฏิบัติที่เชี่ยวชาญ เพื่อความก้าวหน้าในการพัฒนาตนเองของครูทั่วประเทศ โดยงาน EDUCA 2019 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด พลังของชุมชนแห่งการเรียนรู้ (The Power of Learning Communication) มุ่งหวังให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของพลังในการเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งให้กับการศึกษาไทย

นายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

“แนวทางการสร้างพลังของชุมชนแห่งการเรียนรู้ในงาน EDUCA 2019 เริ่มจากการพัฒนาให้ครูเป็นผู้นำทั้งด้านการจัดการเรียนรู้ และเป็นผู้นำทางปัญญาของสังคมผ่านการเรียนรู้กันในชุมชนทางวิชาชีพ เพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ทำงานอย่างมีกลยุทธ์ และเรียนรู้นวัตกรรมการสอนที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พร้อมทั้งสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปโรงเรียนตามศักยภาพของตน โดยเริ่มต้นจากพลังภายในท้องถิ่นในการสร้างครูและโรงเรียนคุณภาพ เพื่อความยั่งยืนของสังคม”

โดยงาน EDUCA ปีนี้มีพันธมิตรจากหลากหลายหน่วยงานมาจับมือร่วมกันพัฒนาครูไทย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, คุรุสภา, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด และองค์กรทางการศึกษาจากประเทศนิวซีแลนด์, เกาหลีใต้ ตลอดจนคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย

“หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงานปีนี้คือ การประชุมนานาชาติโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ ครั้งที่ 7 (The 7th International Conference of School Learning Community 2019) มาจัดที่ EDUCA 2019 ด้วยแนวคิด การสืบสอบและความร่วมมือรวมพลังทั้งในห้องเรียนและห้องทำงานของครู (Inquiry and Collaboration both in Classroom and Staff Room) โดยมีศาสตราจารย์มานาบุ ซาโต ผู้คิดค้นแนวคิด SLC และวิทยากรจากประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิด SLC โดยตรง”

นอกจากนั้น ยังมีฟอรั่มครูใหญ่ (Principal Forum) ที่มีการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่อง “การประกันคุณภาพระดับห้องเรียนด้วยพลังชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” และมีเวิร์คชอปพิเศษสำหรับครูใหญ่ที่จัดโดยหน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์กับหัวข้อ “Unlock Your Potential and Leadership to Empower Learning Community”

รวมถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการและสัมมนากลุ่มย่อยที่มีกว่า 170 หัวข้อใน 5 ประเภทใหญ่ ได้แก่ 21st Century Skills ทักษะแห่งโลกอนาคต, Psychology เข้าใจตัวเอง เข้าใจเด็ก และเข้าใจเพื่อนร่วมงาน, Curriculum & Pedagogy เครื่องมือของครู เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก, ICT กับการเรียนรู้ที่แตกต่าง และชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

รวมภาพ EDUCA 2019

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง