เพราะเยาวชนคืออนาคตของชาติ ดังนั้นการพัฒนาเยาวชนให้เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นผู้นำที่จะพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในระยะยาวจึงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิซิตี้ จึงร่วมมือกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ดำเนิน “โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทักษะอาชีพเยาวชน” (Career Development for Youth Program) มาตั้งแต่ปี 2560 โดยเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับทักษะชีวิต รวมถึงทักษะการทำงานของเด็กและเยาวชนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้เยาวชนเหล่านั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พร้อมสำหรับการทำงานก่อนกลับสู่สังคมจริงในอนาคตต่อไป
5 ทริค วางแผนการเงิน
การออมเงินพื้นฐาน ฉบับเยาวชน ปลูกฝังความรู้การเงิน เพื่ออนาคตทางการเงินอย่างยั่งยืน
มูลนิธิซิตี้ ได้เข้าร่วมกิจกรรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการ วางแผนทางการเงิน และการออมเงินพื้นฐานแก่เยาวชน ณ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนสิรินธร (กรมพินิจฯ) จังหวัดนครปฐม โดยในช่วงแรกให้ความรู้เกี่ยวกับ 5 ขั้นตอนการวางแผนทางการเงินประกอบด้วย
1. ประเมินฐานะการเงิน
สิ่งที่สะท้อนฐานะทางการเงินที่แท้จริงของบุคคลไม่ใช่สินทรัพย์ที่มีอยู่ แต่เป็น “ความมั่งคั่งสุทธิ” ซึ่งสามารถประเมินได้โดยการจัดทำบัญชีนำสินทรัพย์มาหักลบกับหนี้สินที่มีอยู่ก็จะเหลือความมั่งคั่งสุทธิ เช่น มีสินทรัพย์ทั้งหมดรวมมูลค่า 1 หมื่นบาท และมีหนี้สินรวมทั้งหมดอยู่ที่ 3 พันบาท เท่ากับเรามีฐานะทางการเงินที่แท้จริงอยู่ที่ 7 พันบาทนั่นเอง
2. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
ควรมีการตั้งเป้าหมายและกำหนดเวลาที่จะพิชิตเป้าหมายให้ชัดเจน พร้อมจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายให้สอดคล้องกับความสามารถทางการเงินในช่วงเวลานั้น ๆ รวมถึงสิ่งที่จำเป็นกับสิ่งที่อยากได้แยกออกจากกัน เช่น เป้าหมาย คือ ต้องการซื้อรถมอเตอร์ไซค์ 1 คัน โดยเป้าหมายนี้ต้องใช้เงินจำนวน 5 พันบาท ในอีก 3 เดือน ต้องเก็บเงินวันละเท่าไหร่ เดือนละเท่าไหร่ พร้อมทั้งกำหนดวันเริ่มต้นการเก็บเงินและวันที่เก็บเงินสำเร็จด้วย เพื่อกระตุ้นให้เราเก็บเงินให้บรรลุเป้าหมาย
3. จัดทำแผนการเงิน รายรับ-รายจ่าย
จัดทำแผนการบริหารเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น เราจะใช้จ่ายเงินอย่างไร หารายได้เพิ่มเติมจากแหล่งไหน หรือนำไปลงทุนอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยต้องจัดสรรระยะเวลาของแผนให้สัมพันธ์กับรายได้และภาระทางการเงิน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ และไม่กดดันตัวเองจนเกินไป
4. ดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความมุ่งมั่นและมีวินัย เพราะหากขาดการปฏิบัติที่จริงจังและต่อเนื่อง ก็ยากที่จะบรรลุเป้าหมายได้
5. ตรวจสอบและปรับแผนตามสถานการณ์
ควรหมั่นตรวจสอบอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือนว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ หรือไม่หากไม่ก็ต้องหาสาเหตุว่า เกิดจากตัวเราหรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่ทำให้ไม่เป็นไปตามแผน แล้วปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
การออมเงินสร้างสรรค์
นอกจากนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวกับการออมเงินสร้างสรรค์อย่างง่าย ๆ เช่น ออมเงิน 1 ส่วน ใช้จ่าย 3 หรือการออมเงินแบบลบออกสิบ หมายถึงการหักเงิน 10% ของรายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือนออก สำหรับเก็บไว้เป็นเงินออมและใช้เงินที่เหลืออยู่ 90% สำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดจนไปฝากเงินไว้กับธนาคาร เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างวินัยในการออมเงินให้แก่เยาวชน พร้อมย้ำว่าวางแผนทางการเงินเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ เพราะทุกคนต่างก็มีความต้องการที่หลากหลายในแต่ละช่วงเวลา การวางแผนจะช่วยให้เราเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินและเป้าหมายในชีวิตได้อย่างราบรื่นและมีความมั่นคงทางการเงินมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจของมูลนิธิซิตี้ ที่ต้องการส่งเสริมและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสให้ดีขึ้น ด้วยการใช้ความเชี่ยวชาญในฐานะสถาบันการเงินชั้นนำ รวมถึงความพร้อมของพนักงานที่มีสนับสนุนผ่านการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เป้าหมายเพื่อให้เยาวชนที่ได้รับการอบรมมีพฤติกรรมการปรับตัวในเชิงบวกและมีความสามารถจัดการกับความต้องการทุกด้านในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.citifoundation.com