เรื่องน่ารู้ ก่อนเข้าเรียน “สาขาการบริหารธุรกิจ” ที่ จุฬาฯ VS มศว

มา Battle กันเถอะ!! คราวนี้เป็นการจับคู่กัน ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ ที่จะมา Battle กันในเรื่องของ สาขาการบริหารธุรกิจ ที่มีความโดดเด่น และเป็นสาขาที่มีคนรุ่นใหม่สนใจที่จะเรียนกันเป็นจำนวนมาก แต่มหา’ลัยไหนจะน่าสนใจกว่ากัน เรามาลุ้นไปพร้อมๆ กันเลย

เรื่องน่ารู้ ก่อนเข้าเรียน สาขาการบริหารธุรกิจ

จุฬาฯ VS มศว

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย แต่เดิมเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนภายในพระบรมมหาราชวัง และได้สถาปนาเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2459 มีสัญลักษณ์ประจำมหา’ลัยคือ “พระเกี้ยว” เป็นพิจิตรเรขา ประจำในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ พระเกี้ยว มาเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฯ และมาเป็นสัญลักษณ์ประจำมหา’ลัยในเวลาต่อมา

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มเปิดแผนกวิชาการบัญชี การพาณิชยศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2481 ต่อมาได้เป็นแผนกวิชาอิสระ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2483 เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่ผลิตบุคลากร เพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน ตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมา ทางคณะมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความเป็นสากลเทียบเท่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก พัฒนานิสิต พัฒนาคณาจารย์ และส่งเสริมให้คณาจารย์สร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ ตลอดจนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเจริญก้าวหน้าต่อไป

หลักสูตร และสาขาที่เปิดสอน : คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มีหลักสูตรให้เลือกเรียนทั้งหมด 5 หลักสูตรด้วยกัน ได้แก่

1. หลักสูตรบัญชีบัณฑิต

– สาขาวิชาการบัญชี กลุ่มวิชาการรายงานการเงินและการให้ความเชื่อมั่น
– สาขาวิชาการบัญชี กลุ่มวิชาการบัญชีบริหารและการควบคุม
– สาขาวิชาการบัญชี กลุ่มวิชาการระบบสารสนเทศทางการบัญชี

2. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต

– สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ
– สาขาวิชาระบบสารสนเทศทางการจัดการ
– สาขาวิชาการธนาคารและการเงิน
– สาขาวิชาการตลาด

3. หลักสูตรสถิติศาสตรบัณฑิต

– สาขาวิชาสถิติ
– สาขาวิชาประกันภัย
– สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจ

4. หลักสูตรบริหารธุรกิจนานาชาติ

– สาขาวิชาการบัญชี
– สาขาวิชาการจัดการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ประกอบด้วย 2 แขนงวิชา คือ แขนงวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ และ แขนงวิชาการวิเคราะห์การเงินและการลงทุน

สาขาวิชาที่น่าสนใจ ได้แก่

1. สาขาวิชาการบัญชี เป็นกลุ่มสาขาวิชาหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมกันอย่างมาก เพราะตำแหน่งงานเปิดกว้างมาก ให้น้องๆ ได้เลือกเรียนกันอย่างอิสระ ซึ่งสาขานี้ที่เรียนจบมาน้องๆ ก็จะได้ทำงานที่เกี่ยวกับ งบ งบดุล บัญชี ใบองค์กรต่างๆ หรือออกมาเปิดสำนักงานบัญชีของตัวเองก็ได้ เป็นสำนักงานบัญชี ตรวจสอบบัญชีบริษัท ซึ่งคนที่จะเรียนสาขานี้ได้นั้นก็ต้องมีความชอบในเรื่องตัวเลขมากเป็นพิเศษ เพราะตัวเลขเยอะมากจริงๆ และงานที่ทำจะเกี่ยวกับตัวเลข จบออกมาทำงานเป็น นักบัญชี นักบริหารภาษี รายได้สำหรับอาชีพก็ถือว่าไม่น้อยเลย ยิ่งสอบเป็นผู้ตรวจบัญชีได้ยิ่งเป็นการเพิ่มภาษีให้กับตนเองได้อีก ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีนี้เป็นที่ต้องการ และขาดตลาดมากๆ ในไทย มีคนสอบได้รวมทั้งหมดแล้วไม่กี่พันคนเอง ทำให้เป็นที่ต้องการมากๆ หาทำงานในสายงานนี้ได้อย่างดี รับรองเลยว่า เงินเดือนจะสูงลิ่วเลยล่ะ

2. สาขาวิชาการตลาด สาขายอดฮิตของเหล่านักบริหารตลอดการเลยจริงๆ โดยสาขาวิชานี้จะได้เรียนเกี่ยวกับการวางแผนการตลาดอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค วิจัยการตลาด ทิศทางธุรกิจ การส่งเสริมการขาย มีคนเรียนเยอะเพราะเมื่อจบไปแล้วสามารถประกอบธุรกิจได้หลากหลาย ทั้งไปทำงานด้านการบริหาร หรือนำความรู้ที่ได้เรียนมาไปสร้างธุรกิจส่วนตัวแล้วบริหารงานด้วยตนเองก็ยังได้ มีแนวทางเลือกให้ได้เลือกมากกว่าสาขาอื่นๆ

3. สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจ สาขายอดนิยมของคนที่ชื่นชอบทั้งคอมพิวเตอร์ และการบริหารฯ สาขานี้จะเรียนโดยสอนให้ใช้เทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การเป็นนักบริหารด้านคอมพิวเตอร์ เสริมศักยภาพระดับสูงด้วยการมีความคิดสร้างสรรค์ในด้านการบริหารธุรกิจ มีการเรียนใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เทคโนโลยีสารสนเทศ และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จบออกมาอาชีพที่รอต้อนรับอยู่นั้นก็คือ งานด้านไอที คอมพิวเตอร์ ต่างๆ แถมยังสามารถเข้าไปแย่งงานของสายกราฟิคดีไซน์ กับวิศวะคอมฯ ได้ด้วย เช่น นักออกแบบกราฟิกคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ นักออกแบบ และวิเคราะห์ระบบงาน นักวิเคราะห์ทางธุรกิจ ผู้ดูแลเว็บไซต์ และผู้ให้คำปรึกษาด้านคอมพิวเตอร์

ผลคะแนนจากชาว Campus Star

เป็นที่รู้จัก : 9.5
ความหลากหลายของหลักสูตร : 8
สาขาน่าสนใจ : 8
บรรยากาศมหา’ลัย : 8.5
โอกาสประสบผลสำเร็จ : 9
คะแนนรวม : 43 คะแนน

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)

อดีตเคยเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2492 จนพัฒนามาเป็นชื่อปัจจุบันในปี พ.ศ.2517 และเป็นมหา’ลัยที่มีความสำคัญในการผลิตวิทยากรวิชาชีพแขนงต่างๆ เป็นจำนวนมาก และเป็นมหา’ลัยที่ติด Top 10 ของประเทศไทย คณะสัมคมศาสตร์ กำเนิดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 เมื่อครั้งที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แต่เดิมนั้น คณะสังคมศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งกับคณะวิชามนุษยธรรมและสังคมศาสตร์ ประกอบไปด้วยกัน 7 ภาควิชา ต่อมาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ก็ได้แยกออกเป็น 2 คณะ คือ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบัน คณะสังคมศาสตร์ ประกอบด้วย 5 ภาควิชาหลัก

หลักสูตร และสาขาที่เปิดสอน : คณะสัมคมศาสตร์ มีหลักสูตรให้เลือกเรียนทั้งหมด 5 หลักสูตรด้วยกัน ได้แก่

1. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต

– สาขาวิชาประวัติศาสตร์
– สาขาวิชาพัฒนาชุมชนเมือง

2. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต

– สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร
– สาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยวและโรงแรม
– สาขาวิชาการตลาด
– สาขาวิชาการบัญชี
– สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ

3. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

– สาขาวิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ

4. หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต

– สาขาวิชารัฐศาสตร์ ประกอบด้วย 3 แขนงวิชา คือ การเมืองการปกครอง, รัฐประศาสนศาสตร์ และ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

5. หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต

– สาขาวิชาสังคมศึกษา (5 ปี)

สาขาวิชาที่น่าสนใจ ได้แก่

1. สาขาวิชาการเงิน สำหรับใครที่ฝันจะทำงานธนาคาร ต้องเรียนสาขานี้เลย เพราะหลักสูตรจะเน้นการบริหารการเงินอย่างสร้างสรรค์ รอบรู้แนวคิด และหลักโครงสร้างการบริหารสถาบันการเงิน และตลาดหลักทรัพย์ หลักการลงทุน นโยบายการเงิน การคลัง ตลอดจนกฏหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อจบไป ไม่ได้ไปเป็นพนักงานตามเคาท์เตอร์ธนาคารอย่างที่เราเห็นกันอยู่หรอกนะ แต่จะเป็นงานเกี่ยวกับ การบริหารการเงิน นักวิเคราะห์ และบริหารสินเชื่อ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นักการธนาคาร หรืองานที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ ซึ่งค่าตอบแทนรายได้สำหรับอาชีพนี้ เงินเดือนสูงปรี๊ด! เลยเชียวล่ะ

2. สาขาวิชาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ เป็นสาขาที่กำลังมาแรงในยุคแห่ง AEC นี้เลยเช่นกัน เพราะสาขานี้จะส่งให้กลายเป็นนักบริหารจัดการธุรกิจระหว่างประเทศรุ่นใหม่ ที่ก้าวไกลด้วยความคิดสร้างสรรค์ทางธุรกิจ มีแนวคิดทางด้านการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศอย่างมีระบบ คนที่เรียนสายนี้จะต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยเลยล่ะ ถ้าใครชอบเดินทางล่ะก็ถือว่าเหมาะสุดๆ ด้านอาชีพที่รองรับก็จะเป็นพวก นักวิชาการ นักวิจัยด้านการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ นักธุรกิจด้านการนำเข้า และส่งออก หรือที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ อย่างหลังนี่เท่ไม่หยอกเลยนะ

3. สาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยวและโรงแรม สาขานี้เหมาะคนที่รักการบริการ และการท่องเที่ยว เพราะเราจะได้เที่ยวกันบ่อยมากระหว่างเรียน รวมถึงได้เรียนรู้ในเครือธุรกิจโรงแรมทั้งหมด ตั้งแต่เรียนการจัดโต๊ะ มารยาทในการทาน  มีการจัดทริปไปเที่ยวที่ต่างรวมถึงการเป็น มัคคุเทศก์ฝึกหัดอีกด้วย สำหรับภาคทฤษฎีที่เราต้องเรียน การจัดการงานโรงแรม จิตวิทยาการบริการ การตลาดสำหรับโรงแรมและการท่องเที่ยว การจัดการธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ เป็นต้น แนวทางประกอบอาชีพสำหรับสาขานี้ก็มีให้ได้เลือกเยอะอยู่เช่นกัน สาขานี้สามารถทำได้หมดที่เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม เช่น  การจัดการด้านแหล่งท่องเที่ยว ทำงานในบริษัทท่องเที่ยว หรืออาจจะทำงานกับ ททท. เป็นผู้จัดการโรงแรม ภัตตาคาร จัดประชุมสัมมนาต่าง หรือทำงานในธุรกิจสปา หรือบางคนจะไปเป็นไกด์ก็เหมาะ รายได้ไม่น้อยเลยเช่นกัน

ผลคะแนนจากชาว Campus Star

เป็นที่รู้จัก : 8
ความหลากหลายของหลักสูตร : 9
สาขาน่าสนใจ : 8
บรรยากาศมหา’ลัย : 8
โอกาสประสบผลสำเร็จ : 9
คะแนนรวม : 42 คะแนน

ผลคณะที่ได้ออกมา คือ… 43 ต่อ 42 ถือว่าไม่ได้ทิ้งห่างกันมากนักสำหรับสาขาบริหารธุรกิจของ จุฬาฯ ที่ชนะไป แต่สำหรับ Battle ในครั้งนี้ถือว่าสูสีไม่น้อย เพราะทั้งสองมหาลัยต่างก็มีหลักสูตรที่เปิดสอนอย่างหลากหลาย ตรงต่อความต้องการของน้องๆ ที่สนใจจะเรียนด้านนี้อยู่หลายสาขา หลายแขนงด้วยกัน เห็นอย่างนี้แล้วก็อยู่ที่แต่ละคนว่า จะชอบเรียนสาขาไหนกันนะคะ ที่แน่ๆ ก่อนที่จะเรียนก็ควรศึกษาหลักสูตรให้ดีก่อนว่าเขาสอนอะไรบ้าง จบมาแล้วได้ทำอะไร ได้ทำอาชีพที่ชอบหรือไม่ ต้องดูให้ดีๆ เลยนะ เพราะสาขาที่มีการเรียนคล้ายๆ กันแต่มีการสอนเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน ก็ทำให้เรามีความรู้ที่แตกต่างกันได้ ฉะนั้นต้องศึกษาคณะ สาขาที่สนใจกันให้ดีก่อนนะ ^^

ข้อมูลจาก : www.dektalent.com/board/view.php?topic=180 และ นิตยสาร Campus star V.12 (พฤษภาคม 2014)
ภาพจาก : ninewsmoss.blogspot.com

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง