สาขาน่าเรียน! สวนสุนันทา VS สวนดุสิต กับสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์

สาขาวิชาใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่สาขาที่ใกล้ตัวเราที่สุดคงไม่พ้นสาขาที่เกี่ยวกับเรื่องปากท้อง อาหารการกิน คราวนี้จึงขอดึงเอาสาขาที่น่าสนใจอย่างสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ มาให้เพื่อนๆ ชาว Campus Star ได้ช่วย Battle กัน!!

สวนสุนันทา VS สวนดุสิต กับการเรียนสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

ประวัติความเป็นมา… มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วังสวนสุนันทา เคยเป็นเขตพระราชฐานของพระราชวังดุสิตในรัชกาลที่ 5 มาก่อน นักเรียนและนักศึกษามหาวิทยาราชภัฏสวนสุนันทาทุกคนจะใช้คำแทนตัวเอง ว่า “ลูกพระนาง” ซึ่งพระนางในที่นี้ หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

มหาวิทยาลัยแห่งนี้เดิมเป็น โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 เปิดสอนประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) ต่อมาจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยครูสวนสุนันทาในปี พ.ศ. 2518 ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 เปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต ปี พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ” เป็นชื่อสถาบันการศึกษาในสังกัดกรมการฝึกหัดครูกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งยังได้พระราชทานตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ให้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำ สถาบันราชภัฏ และเมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2538 วิทยาลัยครูสวนสุนันทาจึงมีชื่อเป็น “สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา” และในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ยังผลให้สถาบันราชภัฏสวนสุนันทายกฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา” นับแต่นั้นเป็นต้นมา

หลักสูตรสาขาวิชาที่เปิดสอน มรภ.สวนสุนันทา

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มี 2 ภาควิชา รวมสาขา 13 สาขา ได้แก่

1. ภาควิชาวิทยาศาสตร์ 6 สาขา
– สาขาวิชาเคมี
– สาขาวิชาชีววิทยา
– จุลชีววิทยาอุตสาหกรรม
– ฟิสิกส์ประยุกต์
– คณิตศาสตร์สารสนเทศ
– สถิติประยุกต์

2. ภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์
– วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
– เทคโนโลยีชีวภาพ
– วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
– อุตสาหกรรมอาหารและการบริการ
– คหกรรมศาสตร์
– วิทยาการคอมพิวเตอร์
– เทคโนโลยีสารสนเทศ

ความโดดเด่น

ภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มี 3 สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาหาร คือ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร อุตสาหกรรมอาหารและการบริการ และคหกรรมศาสตร์ โดยสาขายอดฮิตที่ได้รับความนิยมสูงสุดของที่นี่คือ อุตสาหกรรมอาหารและการบริการ ที่มุ่งเน้นให้มีการปฎิบัติการด้านการอุตสาหกรรมด้านการประกอบอาหารและการบริการ สามารถวิจัย และพัฒนาต่อยอดในอนาคตเป็นผู้ประกอบการ วิจัย และพัฒนา ออกแบบ ตกแต่งอาหาร

สาขาอื่นๆ อาทิ คหกรรมศาสตร์ก็เป็นสาขาที่มุ่งเน้นการสอนด้านอาหาร และดูแลด้านโภชนาการเป็นสำคัญ มีการฝึกทักษะทางด้านการแกะสลักผัก ผลไม้ และใบตอง ศิลปะการจัดดอกไม้ ทั้งหมดเป็นศิลปะ ประเพณีที่สืบทอดทางวัฒนธรรม ปัจจุบันมีความพร้อมทางด้านห้องเรียนการประกอบอาหาร และห้องเพื่อการวิจัย พัฒนาอาหาร และในปีการศึกษา 2558 จะมีการปรับปรุง บูรณาการห้องปฎิบัติการใหม่ เพื่อการเรียนการสอนที่ครบครันยิ่งขึ้นในอนาคต

จุดมุ่งหมายในอาชีพ

ปี 4 จะมีการให้นักศึกษาไปฝึกงาน (ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ) ตามโรงแรม หรือแลปการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ โดยถ้าหากเป็นโรงแรมก็จะเน้นว่าให้ฝึกกับโรงแรมระดับ 4-5 ดาว เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด กดดันที่สุด ซึ่งเป็นผลดีต่อนักศึกษาในการทำงานด้านนี้โดยตรง ผู้ที่สำเร็จการศึกษาสามารถไปประกอบอาชีพด้านการควบคุมการผลิตการวิเคราะห์อาหาร ควบคุมประกันคุณภาพอาหาร วิจัยและพัฒนาอาหาร หรือประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร เบเกอรี่ และนักโภชนาการด้านอาหาร และสุขภาพได้ในอนาคต

ผลคะแนนจากชาว Campus Star

เป็นที่รู้จัก : 8.5
สาขาน่าสนใจ : 9
กิจกรรมในคณะ : 8
อุปกรณ์ เครื่องมือ ห้องปฎิบัติการ : 9
การต่อยอดในสายอาชีพ : 9
คะแนนรวม : 43.5 คะแนน

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ประวัติความเป็นมา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

หรือชื่อเดิม “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต” เป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีชื่อเสียงในเรื่องการโรงแรมและธุรกิจบริการ และสวนดุสิตโพล

มหาวิทยาสวนดุสิตได้กำหนดอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญดั้งเดิม และโดดเด่น เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งสาขาที่มีความพร้อมสามารถตอบสนอง ความต้องการของสังคม และท้องถิ่น 4 ด้านด้วยกัน คือ ด้านอาหาร การศึกษาปฐมวัย อุตสาหกรรมการบริการ และการพยาบาล

การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ ตลอดจนการบริหารจัดการที่เป็นรูปแบบของสวนดุสิต จากภาวะผู้นำองค์กรได้หล่อหลอม และสร้างเป็นวัฒนธรรมของสวนดุสิตอยู่ในรูปแบบของการมีบุคลิกภาพที่ดี ศึกษาหาความรู้และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ ความมีวินัย และรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ความเป็นระเบียบ ประณีต และมีความรู้จริงในสิ่งที่ทำ อันนำมาซึ่งความเป็นตัวตนของ “สวนดุสิต” ในวันนี้ และเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาต่อไปในอนาคต

หลักสูตรสาขาวิชาที่เปิดสอน

โรงเรียนการเรือน มี 2 หลักสูตร รวม 4 สาขาวิชา ได้แก่
1. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
– สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์

2. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
– สาขาวิชาเทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร
– สาขาวิชาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริหาร
– สาขาวิชาโภชนาการและการประกอบอาหาร

ความโดดเด่น

โรงเรียนการเรือนมีความโดดเด่นด้านหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสาขาที่มีมานานเป็นระยะเวลา 80 ปี แล้ว โดยสาขาวิชานี้ประกอบด้วยการเรียนการสอน 5 แขนง ได้แก่ อาหาร, ผ้าเพื่อการตกแต่ง, การจัดดอกไม้, ศิลปะการออกแบบ และคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นสาขาที่ได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอ มุ่นเน้นในการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ เน้นเอกลักษณ์ด้านความประณีต และความเป็นไทย

สาขาที่ได้รับความนิยมเป็นลำดับต่อมาคือ สาขาวิชาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการ ค่อนข้างเป็นที่สนใจของนักศึกษาในยุคปัจจุบันมากขึ้น เนื่องจากจะเน้นในเรื่องของการประกอบอาหารนานาชาติ ที่นอกจากรสชาดอาหารจะต้องดีแล้ว หน้าตาอาหาร และการบริการต่างๆ ต้องดีด้วย ทำให้เป็นที่นินมกันมากในหมู่นักศึกษาสมัยใหม่ ปัจจุบันมหา’ลัยมีห้องปฎิบัติการอาหาร และศูนย์ประกอบการ (อาคาร 10) ที่สามารถรองรับ เพียงพอต่อนักศึกษา จำนวน 80 คนต่อชั้นปีได้เป็นอย่างดี มีการจัดกิจกรรมประจำปี อาทิ งานประจำสาขาวิชา คหกรรมศาสตร์วิชาการ และงานใหญ่ประจำปีของโรงเรียนการเรือน งานครบเครื่องเรื่องการเรือน

จุดมุ่งหมายในอาชีพ

มหา’ลัยมีหน่วยงานที่ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการศึกษาที่มีภารกิจแตกต่างกัน เพื่อสนับสนุนนักศึกษาในการเป็นสถานที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ คือศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติ เบเกอรี่โรงเรียนการเรือนสวนดุสิต ศูนย์ปฏิบัติการเนย มีภารกิจในการผลิตและจำหน่ายเนย โรงน้ำดุสิตา แต่เบื้องต้นนักศึกษาที่เรียนด้านคหกรรม หรือ เทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริหาร จะต้องหาที่ฝึกงานเป็นภัตตาคาร หรือโรงแรมระดับ 4-5 ดาวขึ้นไป หากไม่สามารถหาได้จึงจะเปิดให้นักศึกษาฝึกงานกับศูนย์ฝึกปฎิบัติการต่างๆ ของมหา’ลัย โดยนักศึกษาที่จบจากโรงเรียนการเรือน สามารถประกอบวิชาชีพด้านที่เกี่ยวข้องได้หลากหลายแขนง ได้แก่ ธุรกิจผู้ประกอบการร้านอาหาร เบเกอรี่ และภัตตาคาร ผู้วิเคราะห์และผลิตแปรรูปอาหาร งานบริการ นักโภชนาการด้านอาหาร งานด้านศิลปะการจัดดอกไม้  ผ้า และการจัดการคุณภาพชีวิต

ผลคะแนนจากชาว Campus Star

เป็นที่รู้จัก : 9.5
สาขาน่าสนใจ : 9
กิจกรรมในคณะ : 9
อุปกรณ์ เครื่องมือ ห้องปฎิบัติการ : 9.5
การต่อยอดในสายอาชีพ : 9
คะแนนรวม : 46 คะแนน

ผลคะแนนที่ได้ คือ

ผลการ Battle เป็นเอกฉันท์ ม.สวนดุสิต ชนะ มรภ.สวนสุนันทาไปด้วยคะแนน 46 ต่อ 43.5 ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ และเป็นที่รู้จักในฐานะโรงเรียนการเรือนทำให้ชนะไปในที่สุด ทั้งนี้การเรียนมาทางด้านนี้เป็นเพียงการจุดประกายฝันให้คนที่ชื่อชอบด้านนี้เท่านั้น มีหลายคนที่ล้มเลิกความตั้งใจ เพราะการเรียนนั้นทั้ง เข้มข้น และเข้มงวดเกินไป แต่ถ้าน้องๆ มีความตั้งใจแล้ว อาชีพนี้ก็สามารถทำรายได้ ได้สูงถึงหลักแสนเลยเชียว!

ที่มาจาก : นิตยสาร Campus star V.20 (มกราคม 2015) , www.sci.ssru.ac.th , FB KhhkrrmsastrSwnsunantha) , www.dusit.ac.th

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง