กระเป๋า RADELLA เอกลักษณ์โดนใจนักศึกษา ของ “เอิร์ท-นันทภัค”

สาวน้อยหน้าละอ่อน เอิร์ท-นันทภัค คูศิริรัตน์ นักศึกษาปี 3 วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาวิชาเอกการจัดการธุรกิจไซเบอร์ มศว และเป็นเจ้าของธุรกิจแบรนด์กระเป๋า RADELLA ด้วยแนวคิดของความเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ประสบความสำเร็จในการจับเทรนด์ธุรกิจออนไลน์ จากการทำสินค้าที่มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์โดนใจนักศึกษา

เอิร์ท-นันทภัค เจ้าของ กระเป๋า RADELLA

ธุรกิจจากไลฟ์สไตล์ความชอบของตัวเอง

“จริงๆ เริ่มขายของตั้งแต่ ม.6 ทำกับพี่สาว ตอนนั้นเริ่มจากเอากางเกงของคุณแม่มาทำออนไลน์ก่อน แต่ด้วยความที่กางเกงมันมีหลายไซส์ รูปร่างคนแตกต่างกัน บางทีมีปัญหาสะโพกใส่ไม่ได้ เหนื่อยกับการต้องมาแก้ไขปัญหาพวกนี้ เลยคิดว่าจะมีสินค้าอะไรที่เราพอจะรู้ เราชอบแล้วเอามาทำได้บ้าง เลยเลือกเป็นกระเป๋าซึ่งไม่ต้องมีไซส์ที่ต้องเลือกมาก และเริ่มดูจากพฤติกรรมของตัวเอง ว่าเราใช้กระเป๋าแบบไหน ตั้งเป็นแบรนด์ว่า “RADELLA” ถามว่ามีที่มามั้ย ไม่มีนะ (หัวเราะ) แต่มันแปลว่าเทวดา เราเปิดดิกแล้วเห็นว่าชื่อมันสวย เพราะแบรนด์ผู้หญิงมักจะเลือกลงท้ายด้วยล่าล่านี่แหละ เลยเลือกตั้งชื่อนี้”

กว่าจะเป็น “RADELLA” ที่ลงตัว

“ตอนเริ่มต้นเราหาสไตล์เยอะเหมือนกันว่าแบรนด์เราเหมาะกับสไตล์ไหน ตอนแรกคิดว่าจะจับกลุ่มคนทำงาน ก็เลยทำออกมาทรงใหญ่ ใส่ของได้เยอะ แต่ไปๆ มาๆ ก็ปรับไปปรับมาใช้เวลาเกือบปี จนพบว่ากลุ่มวัยรุ่นไปเที่ยวมีกำลังซื้อมากกว่า เปลี่ยนกระเป๋าบ่อยกว่า จนมาเป็นจุดเด่นที่ลงตัวคือความคลาสสิคที่เข้าได้กับทุกชุด และมีรูปแบบดีไซน์ที่เป็นวัยรุ่น มีปรับสีปรับทรงให้ดูแตกต่างไปจากแบรนด์อื่นๆ เวลาที่ต้องจัดเชลฟ์กับกระเป๋าใบอื่น เขาจะจำเราได้ว่านี่คือกระเป๋าของเรา ซึ่งรุ่นแรกที่ออกมาก็คือรุ่น SCARLETTE ที่เราออกแบบให้เป็นกระเป๋าใบเล็กที่เปิดหยิบของได้ง่าย มาจากไลฟ์สไตล์ของหนูกับพี่ด้วยที่ไม่ชอบพกของออกไปเยอะ และอยากหากระเป๋าที่ซัพพอร์ตกับการออกไปเที่ยวข้างนอก ซึ่งตอนนี้ถือว่าเป็นรุ่นยอดนิยมของร้านเลย”

การเรียนที่สามารถนำมาใช้ในการขายจริงได้

“เริ่มแรกปัญหาที่เจอคือคนยังไม่รู้จักแบรนด์ของเรา แล้วการทำธุรกิจแบบนี้ต้องอาศัยความเชื่อใจของลูกค้าเยอะ เราก็เลยเลือกจะออฟไลน์คู่กันไปด้วย โดยมีไปออกบู๊ทให้เขาเห็นสินค้าของเรา ให้ความเชื่อใจว่าแบรนด์นี้มีอยู่จริง ให้เขาเห็นว่ากระเป๋าเหมาะกับเขามั้ย ลองสะพายดูก่อน เป็นการสร้างฐานลูกค้าให้แน่นขึ้น เราก็จะเริ่มรู้พฤติกรรมของลูกค้าว่าจะทำกระเป๋าแบบไหนให้เหมาะกับเขา ซึ่งการเรียนก็มีส่วนช่วยเราได้เยอะเลย ได้รู้ช่องทางการขาย อย่างเรื่องการโฆษณาก็เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าว่าชอบที่จะรับข้อมูลแบบนี้นะ ไม่ชอบการยัดเยียดข้อมูล เราก็ต้องพยายามสร้างคอนเทนท์ให้ดีขึ้น เวลาเจอปัญหาก็ไม่ได้ตื่นตระหนกตกใจมาก แต่เรียนรู้ที่จะค่อยๆ แก้ปัญหาไปตามระบบ”

 THINKING TO CAMPUS

“ส่วนตัวมองว่าสินค้าทุกอย่างมันขายได้ แค่จับตลาดให้เป็น สร้างจุดเด่นให้ได้ และถ้าคิดจะทำก็ทำเลย เวลาเจอปัญหา เราก็อายุยังน้อย มันจะมีเวลาปรับตัวไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งใจร้อน ค่อยๆ คิด ค่อยๆ แก้ปัญหาไป ยังไงมันต้องดีขึ้น อย่างแบรนด์ของเราก็ค่อยๆ ทำจากการลองศึกษาแบรนด์อื่น แบรนด์ดังที่เขาประสบความสำเร็จว่าเขาทำยังไง แล้วก็ทำตามเขาบ้าง หรือถ้าไม่ได้ก็ลองปรับในแบบของเราเองบ้าง ปรับไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเจอทางของตัวเอง”

ติดตามคอลัมน์อื่นๆ ได้ในนิตยสาร Campus Star No.67

www.facebook.com/campusstar

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง