มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี (Phetchaburi Rajabhat University) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ตั้งอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี เดิมตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี มีชื่อว่า “โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม” ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 จึงย้ายมาตั้งในจังหวัดเพชรบุรี
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
ประวัติความเป็นมา
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เริ่มก่อตั้งครั้งแรกที่ตำบลอู่เรือ จังหวัดราชบุรี จากการเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2469 จากนั้นจึงมีวิวัฒนาการตามลำดับดังนี้
– พ.ศ.2470 ย้ายมาอยู่ในเขตพระราชวัง พระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) ตำบลบ้านหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
– พ.ศ.2476 ยกฐานะขึ้นเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูมูลและเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู ประกาศนียบัตร จังหวัดเพชรบุรีในปีต่อมา
– พ.ศ.2481 ย้ายสถานที่ไปตั้งบริเวณวัดเกตุ ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
– พ.ศ.2485 เปิดสอนนักเรียนฝึกหัดครูประชาบาลและเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูมูล เพชรบุรี
– พ.ศ.2491 ยกเลิกหลักสูตรครูประชาบาล และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรี
– พ.ศ.2506 ย้ายมาตั้งอยู่ที่ตำบลนาวุ้ง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี บนเนื้อที่ 200 ไร่เศษ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งปัจจุบัน
– พ.ศ.2512 เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง และยกฐานะเป็น วิทยาลัยครูเพชรบุรีเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม
– พ.ศ.2519 ยกฐานะขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ.2518
– พ.ศ.2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ” เมื่อ วันที่ 14 กุมภาพันธ์
– พ.ศ.2538 ยกฐานะเป็นสถาบันราชภัฏเพชรบุรี ตาม พ.ร.บ.สถาบันราชภัฏ พ.ศ.2538
– พ.ศ.2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547
ปรัชญา “คุณธรรมนำความรู้ มุ่งสู่สากล”
ปณิธาน “คลังปัญญาของท้องถิ่น”
คติพจน์ “นฺตถิ ปญฺญา สมาอาภา “แสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญาไม่มี”
อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย “ซื่อสัตย์ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้”
เอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย “มหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับด้านอาหารและท่องเที่ยว”
ค่านิยมองค์กร “ทำงานเชิงรุก สร้างประโยชน์สุขที่เป็นธรรม สำนึกนำความรับผิดชอบ กอปรกิจเป็นหนึ่งเดียว”
(PBRU : Proactive Benefit Responsibility Unity)
P : Proactive = ทำงานเขิงรุก
B : Benefit = สร้างประโยชน์ สุขที่เป็นธรรม
R : Responsibility = สำนึกนำความรู้ผิดชอบ
U : Unity = กอปรกิจเป็นหนึ่งเดียว
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ราชภัฏสัญลักษณ์ได้หลอมรวมมาจากสัญลักษณ์เดิมของวิทยาลัยครูจำนวน 36 สถาบัน ให้คงเหลือความเป็นหนึ่งในรูปแบบสัญลักษณ์ใหม่เพียงรูปแบบเดียว โดยคำนึงถึงประโยชน์ในการนำไปใช้เพื่อการสื่อความหมายง่ายต่อการจดจำมีจุดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสถาบัน
การกำหนดรูปแบบสัญลักษณ์ของสถาบันราชภัฏ
– รูปแบบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ทรงให้กำเนิดสถาบันราชภัฏ
– รูปแบบที่เป็นกลาง เกี่ยวข้องกับถิ่นที่ตั้ง ธรรมชาติและความสอดคล้องกับชื่อสถาบันราชภัฏที่ได้รับพระราชทาน
สีของสัญลักษณ์ ประกอบด้วยสีต่างๆ จำนวน 5 สี ดังต่อไปนี้
– สีน้ำเงิน แทนค่า สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิด และพระราชทาน “สถาบันราชภัฏ”
– สีเขียว แทนค่า แหล่งที่ตั้งของสถาบันราชภัฏ 36 แห่ง ในแหล่งธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
– สีทอง แทนค่า ความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
– สีส้ม แทนค่า ความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ก้าวไกลใน 36 สถาบัน
– สีขาว แทนค่า ความคิดอันบริสุทธิ์ ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
การพัฒนารูปแบบตัวอักษรของราชภัฏสัญลักษณ์
แสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจนในกรณีการปรับเปลี่ยนแผนการศึกษาของชาติที่เด่นชัด โดยพัฒนาระบบการศึกษาที่เริ่มจากบ้าน วัด วัง และโรงเรียนตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดสำคัญเมื่อทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยทรงใช้กระบวนการทางปัญญาแก้ปัญหาของระบบการพัฒนาประเทศ ตัวอักษรจึงเป็น ส่วนประกอบสำคัญในการจัดวางรูปแบบตามสัญลักษณ์ ปรับตัวอักษรไทยให้มีโครงสร้างในลักษณะใกล้เคียงระบบสากล คือใช้อักษรโรมันแบบ Gothic หรือตัวอักษรอังกฤษแบบ Old English ตัวอักษรล้านนาและตัวอักษรขอม พัฒนาประกอบเข้าด้วยกันเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์รูปแบบตัวอักษรให้สามารถแทนค่าความรู้สึกในการสื่อสารร่วมสมัยและแสดงความสูงส่งแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์
รูปแบบของตราสัญลักษณ์
อัญเชิญดวงตราพระราชลัญจกร ประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันโดยมีอุณาโลมสีทองขอบสีส้มประดับบนเศวตฉัตร 3 ชั้นล่าง ด้านล่างของเศวตฉัตร ในวงกลมเปลี่ยนจักรซึ่งหมุนรอบอุณาโลมเดิมเป็นลายไทยสีทองบนพื้นเขียว พร้อมทั้งขอพระราชทานพระปริมาภิไธยย่อ “ภปร” สีทอง ขอบสีส้มประดับในวงกลมซึ่งมีพื้นสีน้ำเงินเส้นขอบสีขาว เปลวของดวงตราลัญจกรสีทองขอบสีส้มสามสิบหกเปลวอยู่เหนือพื้นที่ภายในวงรีสีน้ำเงิน วงรีนอกของดวงตราด้านบนเป็นชื่อเดิมภาษาไทยของสถาบันราชภัฏทั้ง 36 แห่ง รวมทั้งสภาสถาบันราชภัฏ และมีลายประจำยามปิดหน้าและท้ายตัวอักษร ด้านล่างเป็นชื่อภาษาอังกฤษ ตัวอักษรสีทองบนพื้นเขียวและล้อมวงรีทั้งด้านในและด้านนอกด้วยเส้นสีทองทับ
ความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระราชลัญจกร “พระราชลัญจกร” แบ่งออกได้ 3 ประเภท ประกอบด้วย
1. พระราชลัญจกรประจำแผ่นดินหรือที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่าตราแผ่นดิน สำหรับประทับ กำกับพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ หรือกำกับนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
2. พระราชลัญจกรประจำพระองค์ หมายถึง พระตราที่ใช้ประทับกำกับพระปริมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ที่ไม่เกี่ยวด้วยราชการ แผ่นดิน
3. พระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันเป็นรูปกลมรี ตั้งแปลงไปกว่าพระราชลัญจกรองค์อื่น ๆ ดังกล่าวแล้วลายกลางเป็นรูปพระมหาอุณาโลมอยู่ภายในวงจรรอบวงจักรีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ
การที่ผู้กำหนดรูปแบบพระราชลัญจกร ดังนี้ มีอธิบายว่า หมายถึง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินโดยที่ผู้แทนทั้งแปดน้อมนำแผ่นดิน และความเป็นใหญ่มาถวายเป็นสัญลักษณ์ แห่งวันบรมราชาภิเษก ตามโบราณราชประเพณีที่เสด็จประดับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศ และสมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกโดยทิศทั้งแปด และครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภา แทนที่จะทรงรับจากราชบัณฑิตดั่งในรัชกาลก่อนเนื่องมาจากพระปรมาธิปไธย “ภูมิพล” ซึ่งหมายถึง กำลังแผ่นดิน เมื่อจะกำหนดรูปแบบออกมาไม่มีอะไรเหมาะเท่าพระที่นั่งอัฐทิศ ซึ่งเป็นพระแท่นแปดเหลี่ยมซึ่งถึงจะอย่างไรก็ได้ชื่อว่าตั้งอยู่บนแผ่นดิน เป็นกำลังแผ่นดิน
พระราชลัญจรประจำพระองค์ ดังกล่าวข้างต้นนั้น สำหรับใช้ประทับกับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน เช่น ประทับในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ เป็นต้น
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี : Phetchaburi Rajabhat University
คติพจน์ : คุณธรรมนำความรู้ ค้ำชูสังคม
สถาปนา : 1 เมษายน พ.ศ. 2469
ประเภท : รัฐบาล
ที่ตั้ง : ตำบลนาวุ้ง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
เว็บไซต์ : www.pbru.ac.th
Facebook : PBRUWelcome
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี