มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

Rajabhat Rajanagarindra University

Home / academy / มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (Rajabhat Rajanagarindra University) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2483 เปิดสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรจังหวัด (ครู ว.) เดิมมีชื่อว่า “วิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา” และยกฐานะเป็น… See More

มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (Rajabhat Rajanagarindra University) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2483 เปิดสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรจังหวัด (ครู ว.) เดิมมีชื่อว่า “วิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา” และยกฐานะเป็น “สถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา”   จนกระทั่งได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2547 ปัจจุบันเปิดสอนใน 5 คณะ

มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

 มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

ประวัติความเป็นมา
มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ตั้งอยู่เลขที่ ๔๒๒ ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๖๐ ไร่  ด้านหน้ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นทิศตะวันออกติดกับถนนมรุพงษ์ ทิศตะวันตกติดถนนศรีโสธรตัดใหม่  ทิศเหนือ  ติดบริเวณบ้านพักปลัดจังหวัด  และทิศใต้ติดถนนศรีโสธรและกองพันทหารช่างที่ ๒ รักษาพระองค์ เมื่อปี ๒๕๓๙ ได้เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ แห่งที่ ๒ ที่ตำบลหัวไทร อำเภอบางคล้า และเริ่มจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑

ย้อนหลังไปเมื่อ ๗๐ ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมชาย ต่อมาเมื่อโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมชายย้ายไปที่จังหวัดปราจีนบุรี  ทางราชการเห็นว่าสถานที่นี้เหมาะจะตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูสตรี  ศึกษาธิการจังหวัดฉะเชิงเทราจึงได้ติดต่อขอที่ดินจากกองพันทหารช่าง เพื่อขยายเนื้อที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการในการตั้งโรงเรียน ได้มีการปรับปรุงสถานที่สร้างรั้วโรงเรียน สร้างหอนอน ๑ หลัง เรือนพักครู ๒ หลัง  แล้วจึงย้ายนักเรียนฝึกหัดครูสตรีที่เรียนรวมอยู่กับโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา  “ดัดดรุณี”  มาเรียนแทนในปลายปี ๒๔๘๓ ให้ชื่อว่า “โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัด” รับเฉพาะนักเรียนหญิง มาเป็นครูประกาศนียบัตรจังหวัด (ครู  ว.)

พ.ศ.๒๔๘๕ ได้เปิดสอนฝึกหัดครูประชาบาล (ป.บ.) ขึ้นตามความต้องการของท้องถิ่น  และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนมาเป็น “โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูฉะเชิงเทรา”

เมื่อภาวะสงครามสิ้นสุดลง  ทางราชการได้ยกเลิกชั้นฝึกหัดครูประชาบาล (ป.บ.) และฝึกหัดครูประกาศ- นียบัตรจังหวัด (ว.) ออกปีละชั้น  นักเรียนฝึกหัดครูประชาบาล (ป.บ.) สิ้นสุดลงในปี ๒๔๙๑ และนักเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรยุติลงในปี  ๒๔๙๕

พ.ศ. ๒๔๙๓ ทางราชการสั่งให้เปิดชั้นฝึกหัดครูมูลขึ้น และให้งบประมาณสร้างหอพักนักเรียนเพิ่มขึ้นอีก ๑ หลัง

พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรฝึกหัดครูประถม  (ป.ป.)  ซึ่งนับเป็นการเปิดสอนนักเรียนฝึกหัดครู  ป.บ.  หญิงเป็นแห่งแรกในส่วนภูมิภาค

ในปีเดียวกันนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งองค์การปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาขึ้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงเรียนฝึกหัดครูแห่งนี้ได้รับการอุปการะให้เข้าอยู่ในข่ายปรับปรุงขององค์การฯ ด้วย จึงได้มีการขยายสถานที่  ปรับปรุงอาคารและสร้างอาคารเพิ่มขึ้น ตลอดจนได้รับจัดสรรในด้านวัสดุอุปกรณ์การสอนที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาเพิ่มขึ้นด้วย

กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นสถานที่ทดลองปรับปรุงส่งเสริมการศึกษา เพราะเหตุผลดังนี้
๑.  มีลักษณะพื้นที่เป็นแบบอย่างแก่จังหวัดอื่นๆ  ได้ทั่วประเทศ  คือ  มี  นา  สวน  ป่า  เขา   ทะเล
๒.  มีโรงเรียนครบทุกประเภท  สำหรับทดลองการศึกษาได้ทุกระดับ  คือ  อนุบาล  ประถม  มัธยม  อาชีวะและฝึกหัดครู
๓.  มีประชากรที่อ่านออกเขียนได้มาก  มีครูประกาศนียบัตรมากพอ  พลเมืองมีอาชีพและรายได้เหมาะสม
๔.  สามารถติดต่อกับกรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นศูนย์กลางได้สะดวกเพราะมีการคมนาคมดีทั้งทางแม่น้ำ คลอง ถนน ทางรถไฟ และอยู่ไม่ห่างไกลนัก
โครงการปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาฉะเชิงเทรา มีข้อตกลงในหลักการใหญ่ดังนี้
๑.  เลือกสถานที่ให้เหมาะสมที่จะขยายงานการศึกษา
๒.  ทำการทดลองหาวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อนำไปเผยแพร่ในส่วนอื่นๆ  ของประเทศ
๓. ใช้ระยะเวลาให้มากพอที่จะเก็บผลของการทดลองไปเป็นตัวอย่างได้ คือ เป็นเวลาอย่างน้อย ๑๐ ปี
๔.  จัดให้มีผู้ดำเนินงานที่มีความสามารถเป็นผู้นำ  และร่วมมือกันในรูปคณะกรรมการ
๕.  มีบริการทางการเงินและอื่นๆ  เพื่อดำเนินงานให้ลุล่วงตามโครงการที่กำหนดให้  หน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในโครงการนี้ ได้แก่ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) องค์การอาหารและเกษตร (FAO) องค์การกรรมกรสากล (ILO) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การบริหารความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USOM)

ชาวต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินงานร่วมในโครงการนี้มี อังกฤษ อเมริกา เดนมาร์ก สวีเดน นอรเวย์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย ซีลอน  และญี่ปุ่น ประธานกรรมการดำเนินงานคนแรกขององค์การปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาฉะเชิงเทรา คือ Mr.Thomas  Wilson ในช่วงที่มีการปรับปรุงส่งเสริมการศึกษานี้ โรงเรียนฝึกหัดครูได้จัดสถานที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับให้โรงเรียนต่างๆ  ใช้เป็นที่ประชุมนัดหมายกันและได้จัดที่พักให้กับเจ้าหน้าที่สตรีที่กระทรวงศึกษาธิการส่งมาช่วยงานอีกด้วย  การส่งเสริมงานวิชาการขององค์การฯ  คือ  การสาธิตวิธีสอนวิชาต่างๆ  โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  มีการสาธิตวิธีสอนแบบหน่วย  การสอนวิทยาศาสตร์  การสอนภาษาอังกฤษ  และการแสดงอุปกรณ์การสอน  เป็นต้น    อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนฝึกหัดครูแห่งนี้ในขณะนั้น คือ อาจารย์จรัสสม ปุณณะหิตตานนท์ ได้รับเชิญให้เป็นกรรมการดำเนินงานขององค์การฯ ด้วย

ปี  ๒๔๙๘  มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องหลักสูตร  คือ  ประกาศใช้หลักสูตร  ป.กศ.  แทนหลักสูตร  ป.ป. และรับนักเรียนชายเข้าเรียนด้วย  ชื่อโรงเรียนจึงเปลี่ยนจาก  “โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูฉะเชิงเทรา” มาเป็น  “โรงเรียนฝึกหัดครูฉะเชิงเทรา”  ในปีเดียวกันนี้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งชาติ  (UNESCO)  ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการศึกษา  ๒  คน  มาร่วมปฏิบัติงานกับอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูฉะเชิงเทรา  ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนนี้  ได้แก่  Dr.H.H.Ponny  จากเมือง  Adelaide  ประเทศออสเตรเลีย  และ  Mr.M.P.Jual จากเมือง Oslo ประเทศสวีเดน Dr.H.H.Ponny  เป็นนักการศึกษาคนสำคัญคนหนึ่งของออสเตรเลีย  การปฏิบัติงานของท่านผู้นี้ได้พัฒนาไปพร้อมกันทั้งด้านอาคารสถานที่  แนวการสอนแบบใหม่ๆ  และพัฒนาการฝึกสอนของนักเรียนฝึกหัดครูให้มีระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ส่วน  Mr.M.P.Jual  เป็นผู้ที่มีเจตนาแรงกล้าที่จะวางแนวการฝึกสอนของนักเรียนฝึกหัดครูให้เหมาะสมหยิบยกปัญหาการฝึกสอนขึ้นมาพิจารณา แนะนำการวางแผนงานฝึกสอน  กำหนดหน้าที่ครูพี่เลี้ยง  ตลอดจนให้นักเรียนกรอกแบบสอบถามหลังจากการฝึกสอนเสร็จแล้ว  เพื่อประกอบการพิจารณาการวางแผนงานประจำวัน  นอกจากนั้นยังได้เรียกร้องขอความร่วมมือจากโรงเรียนทั่วไปให้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือนักเรียนครูให้มากขึ้น  โดยมีเหตุผลว่านักเรียนครูย่อมจะออกไปเป็นครูตามที่โรงเรียนต่างๆ  ต้องการ

การอบรมสั่งสอนนักเรียนฝึกหัดครูของโรงเรียนได้รับการส่งเสริมให้ดีขึ้นทุกวิถีทาง  ส่วนด้านอาคารสถานที่ก็มีการปรับปรุงและขยายมากขึ้น  มีอาคารเรียน  หอพักสำหรับนักเรียน  โรงอาหาร  บ้านพักอาจารย์  เรือนรับแขก  และคุรุสัมมนาคาร  และจัดหาอุปกรณ์การสอนเพิ่มขึ้นอีกมาก

ตั้งแต่ปี ๒๕๐๑ องค์กรปรับปรุงส่งเสริมการศึกษายังคงให้ความช่วยเหลือโรงเรียนฝึกหัดครูฉะเชิงเทราตลอดมา ทำให้มีการก่อสร้างเพิ่มขึ้น หอพักหญิงได้รับการก่อสร้างเพิ่มเติมจากเดิม มีการปรับปรุงเครื่องใช้ในการกินอยู่ด้านการอนามัย และสวัสดิภาพของนักเรียน ด้านการเรียนการสอนมีการปรับปรุงให้นักเรียนมีกิจกรรมต่างๆมากขึ้น

ปี ๒๕๐๕ เริ่มมีโครงการฝึกหัดครูชนบท เป็นโครงการที่ต้องการให้นักเรียนครู มีประสบการณ์ในการสอนเด็กตามชนบทและช่วยปรับปรุงโรงเรียนที่ออกไปฝึกสอนด้วย ผลเป็นที่พอใจของโรงเรียนต่างๆมาก

ส่วนสวัสดิการสำหรับครู อาจารย์มีการสร้างเรือนพักครูขึ้น ๑ หลังในบริเวณโรงเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ครู อาจารย์ และให้ครู อาจารย์ ได้ใกล้ชิดกับนักเรียนที่อยู่หอพัก

ต่อมาเมื่อวันที่  ๑  ตุลาคม  ๒๕๑๓  โรงเรียนฝึกหัดครูฉะเชิงเทราได้รับการสถาปนาเป็นวิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา  เปิดสอนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง  (ป.กศ.สูง) ทั้งภาคปกติและภาคค่ำทำให้จำนวนนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น  วิทยาลัยจึงได้พิจารณาสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้น  ๓  หลังในปี  ๒๕๑๕  วิทยาลัยก็ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนเพิ่มขึ้น

พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ วิทยาลัยครู  พ.ศ. ๒๕๑๘ วิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา  จึงได้รับการยกฐานะตามพระราชบัญญัติให้ผลิตครูได้ถึงระดับปริญญาตรี และให้มีภารกิจอื่นๆ คือ การค้นคว้าวิจัย ทำนุบำรุงศาสนา และศิลปวัฒนธรรม การส่งเสริมวิทยฐานะครู และการอบรมครูประจำการ จึงได้มีโครงการอบรมครูประจำการ (อ.ค.ป.) ขึ้น โดยได้เปิดสอนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๒ จนถึง พ.ศ. ๒๕๓๐

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ ๒) และให้วิทยาลัยครูเปิดสอนสาขาวิชาต่างๆ ถึงระดับปริญญาตรีได้ วิทยาลัยครูฉะเชิงเทราจึงเปิดสอนระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาการศึกษา(ค.บ.) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์(วท.บ.) สาขาวิชาศิลปศาสตร์(ศศ.บ.) ทั้งนักศึกษาภาคปกติ และนักศึกษาตามโครงการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ(กศ.บป.) ในวันเสาร์-อาทิตย์ และเริ่มมีการเปิดศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งทั้งที่จังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรี

วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ กรมการฝึกหัดครูได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานาม วิทยาลัยครูว่า “สถาบันราชภัฏ” ตราเป็นพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกาเล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๔ ก วันที่  ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘ วิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา”

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ กรมที่ดินกระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้ใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์บริเวณหนองกระเดือย หมู่ ๔ ตำบลหัวไทร อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นที่ตั้งสถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา ศูนย์บางคล้า ตามหนังสือเลขที่  มท ๐๖๑๘/๑๑๙๖๔ ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙

ในช่วงนั้นมีการเตรียมการเปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษาจึงมีการพัฒนาอาจารย์ให้มีคุณวุฒิสูงขึ้น และให้มีความรู้ที่ได้มาตรฐานและทันสมัย จึงมีโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาอาจารย์ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง Edith Cowan University(ECU)  และ University of Qucensland (UQ) ประเทศออสเตรเลีย

และในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ประทานนามสถาบันราชภัฏฉะเชิงเทราว่า “สถาบันราชภัฏราชนครินทร์” สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้นำร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายตามความในราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๑๕ ตอนที่  ๗๒ ก เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ สถาบันราชภัฏฉะเชิงเทราจึงเปลี่ยนชื่อเป็น
“สถาบันราชภัฏราชนครินทร์”

วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเปิดการใช้นาม สถาบันราชภัฏราชนครินทร์อย่างเป็นทางการในสถาบันราชภัฏราชนครินทร์ บางคล้า

พ.ศ. ๒๕๔๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๔๗ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๑ ตอนพิเศษ ๒๓ ก. ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ทำให้สถาบันราชภัฏราชนครินทร์เปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์” ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา ใช้อักษรย่อภาษาไทย “มรร” และใช้ชื่อภาษาอังกฤษ Rajabhat Rajanagarindra University ตัวย่อ  RRU

โดยในปี  พ.ศ.  ๒๕๕๕  นี้  เป็นปีแห่งวันครบรอบวาระต่างๆ ที่สำคัญ  ประกอบด้วย  ครบ  ๒๐  ปี  ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พระราชทานนาม  “ราชภัฏ”  , สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  สยามมกุฎราชกุมาร  ทรงมีพระชนมายุ  ๖๐  พรรษา  ,  ครบรอบ  ๑๒  ปี  ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  เสด็จเปิดป้ายสถาบันราชภัฏราชนครินทร์  ,  ครบรอบ  ๗๒  ปี  มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์  ประกอบกับในวันที่  ๑๐  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๕  เป็น  “วันพระเมตตากัลยาณิวัฒนา”  และวันที่  ๑๔  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๕  เป็นวันสถาปนา  “สถาบันราชภัฏ” และวันที่  ๑๙  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๕  เป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ประทานนาม  “ราชนครินทร์”

ปัจจุบันมีหน่วยงานหลักๆ ที่สนับสนุนภารกิจของมหาวิทยาลัย  ดังนี้  คณะครุศาสตร์  คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  คณะวิทยาการจัดการ  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  บัณฑิตวิทยาลัย  สถาบันวิจัยและพัฒนา  ศูนย์ศิลปะ  วัฒนธรรมและท้องถิ่น  สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน  สำนักงานอธิการบดี  สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง  และสถาบันพัฒนาคุณภาพครู

อัตลักษณ์  : บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์  “จิตอาสา ใฝ่รู้ สู้งาน”

เอกลักษณ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์  “เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภูมิภาคตะวันออก”

ปรัชญา : “มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์  เป็นสถาบันอุดมศึกษา  ให้โอกาสทางการศึกษา  และการวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น”

วิสัยทัศน์ : “มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์  เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้  และภูมิปัญญาเพื่อปวงประชาและท้องถิ่น”

ค่านิยมองค์การ : มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย

ตรา 1

ตราประจำมหาวิทยาลัย
เป็นรูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศ ประกอบด้วยวงจักรกลางวงจักรมีอักขระเป็น อุ หรือเลข 9 รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออก ในรอบเหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้นตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศ และรอบนอกด้านบนมีตัวอักษรภาษาไทยว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ” ด้านล้างมีอักษรภาษาอังกฤษว่า “RAJABHAT RAJANAGARINDRA UNIVERSITY” สีของสัญลักษณ์ประกอบด้วย 5 สี ดังนี้
1. สีน้ำเงิน แทนค่า สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิดและพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยราชภัฏ”
2. สีเขียว แทนค่า แหล่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏ 41 แห่ง ในแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
3. สีทอง แทนค่า ความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
4. สีส้ม แทนค่า ความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ก้าวไกลใน 41 สถาบัน
5. สีขาว แทนค่า ความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สีประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ สีขียว-สีเหลือง

ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ ดอกสารภี

ที่ตั้ง :
วิทยาเขตหลัก เลขที่ 422 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
วิทยาเขตแห่งที่ 2 เลขที่ 40 ถนนศรีโสธรตัดใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
วิทยาเขตแห่งที่ 3 เลขที่ 6 ตำบลหัวไทร อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ : Rajabhat Rajanagarindra University
ชื่อย่อ : มรร. / RRU.
คติพจน์ : สิกฺเขยฺย สิกฺขิตพฺพานิ แปลว่า “พึงศึกษา ในสิ่งที่ควรศึกษา”
สถาปนา : พ.ศ. 2483
ประเภท : รัฐ
เว็บไซต์ : www.rru.ac.th
Facebook : rru.ac.th

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

See Less

กิจกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

ดาวเด่น มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

ชิลเอ้าท์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

มุมต่างๆในรั้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

เรื่องเล่า มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้