100 เรื่องน่ารู้ เรื่องน่าสนใจ เกี่ยวกับ ม.ธรรมศาสตร์

รวม 100 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ม.ธรรมศาสตร์ ที่น่าสนใจ ที่น้องๆ อาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน มาเล่าสู่กันฟังค่ะ ซึ่ง ม.ธรรมศาสตร์เป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่มีประวัติความเป็นมายาวนานมาก จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็น มหาวิทยาลัยประวัติศาสตร์ที่มีบทบาทในสังคมไทยมามากกว่าค่อนศตวรรษกันก็ว่าได้ค่ะ

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ม.ธรรมศาสตร์

1. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 2 ของประเทศ

2. ชื่อเดิมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) คือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) ที่ ต้องตัดคำว่า และการเมือง ออกนั้น เพราะว่า เพื่อไม่ให้ นศ. ฝักใฝ่การเมืองมากไป รวมระยะเวลาที่ใช้ชื่อนี้ 18 ปี

3. สถาปนาโดยท่านผู้ประศาสน์การ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งปัจจุบันองค์การยูเนสโกได้ประกาศว่าท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลกอีกด้วย

4. เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ใช้ตำแหน่งผู้ประศาสน์การ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นตำแหน่งอธิการบดี)

5. ตำแหน่งผู้ประศาสน์การมีเพียงท่านเดียว คือ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เพื่อยกย่องท่านในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย

6. อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย เป็นนายกรัฐมนตรี คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

7. จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีก็เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ด้วย

8. วันสถาปนามหาวิทยาลัย คือ 27 มิถุนายน 2477 (ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว)

9. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เพราะขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

10. ที่ตั้งเดิมของมหาวิทยาลัยก่อนจะย้ายไปที่ท่าพระจันทร์คือ ตึก ร.ร.กฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เชิงสะพานผ่านภพลีลา ปัจจุบันเป็นที่ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล

11. นายจิตรเสน (หมิว) อภัยวงศ์ สถาปนิกผู้มีชื่อเสียงเป็นผู้ออกแบบ “ตึกโดม”

12. ความหมายของตึกโดม คือ ตัวโดมที่เป็นรูป 6 เหลี่ยม เพราะจะได้สะท้อนถึงหลักที่ 6 ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร คือ จะต้องให้การศึกษาเต็มที่แก่ราษฎร และที่ยอดตัวโดมแหลมขึ้นฟ้านั่นก็เพราะเปรียบโดมเสมือนดินสอ ที่จดบันทึกวิชาความรู้ และเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่รู้จักจบสิ้นเอาไว้บนผืนฟ้าอันกว้างใหญ่

13. จุดประสงค์ในการก่อตั้ง คือ เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่ให้ความรู้ทางด้านกฎหมาย การเมือง และเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิทยาการสมัยใหม่แก่ประชาชนทุกชนชั้น โดยเก็บค่าเล่าเรียนให้น้อยที่สุด

14. ตราประจำมหาวิทยาลัย คือ “พระธรรมจักร” เกิดขึ้นในปี 2479 มีความหมายว่าสถาบันแห่งนี้ยึดถือคติธรรมของพระพุทธศาสนาในการกล่อมเกลาบัณฑิต สิ่งที่อยู่กลางธรรมจักรคือพานรัฐธรรมนูญหมายถึง การยึดมั่นเชิดชูรัฐธรรมนูญ

15. สีประจำมหาวิทยาลัย คือ “สีเหลือง-แดง” มีความหมายว่า เหลืองคือ ธรรมประจำจิตใจของ นศ. แดงคือ โลหิตที่ต้องอุทิศตนเพื่อประชาชน

16. ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ “ต้นยูงทอง” มีอยู่ 5 ต้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเพาะชำเอง และเสด็จฯ มาทรงปลูกด้วยพระองค์เอง ยังความปลาบปลื้มมาสู่ชาวธรรมศาสตร์จวบจนทุกวันนี้

17. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยมี ร.ร.เตรียม เรียกว่า ชั้นเตรียมปริญญา ชื่อ ร.ร.เตรียม ม.ธ.ก. เพื่อผลิตนักเรียนเข้าเรียนต่อใน ม.ธ.ก. มีแค่ 8 รุ่นเท่านั้น แล้วก็ยุบไป

18. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นเจ้าของธนาคารเอเชียด้วย (เพราะตอนแรกไม่ได้ขึ้นตรงต่อรัฐบาล จึงไม่ได้รับงบฯ) แต่ต่อมาถูกใช้อำนาจสกปรกขู่เข็ญให้มอบหุ้นทั้งหมดให้นายทหารผู้หนึ่ง (น่าเสียดายมากๆ)

19. คณะเริ่มแรกตั้งแต่สถาปนามหาวิทยาลัย มี 4 คณะ คือ นิติศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์

20. เพลงประจำมหาวิทยาลัยมี 2 เพลง เพลงแรกที่ใช้ คือ เพลงประจำมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ทำนองมอญดูดาว) แต่งโดยขุนวิจิตรมาตรา และเพลงที่ 2 คือ เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

21. ธรรมศาสตร์เคยจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพ” ด้วย เพื่อจะได้ดูเป็นกลาง แต่ไม่สำเร็จ

22. งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งแรก มีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2477 ณ ทุ่งพระสุเมรุ สนามหลวง ผลคือเสมอกัน 1-1 โดยครั้งนั้นยังไม่มีขบวนพาเหรด แปรอักษร หรือเชียร์ อย่างในปัจจุบัน

23. เคยสงสัยไหมว่า? งานฟุตบอลประเพณีบางปีทำไมเรียก ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ บางปีเรียก จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เพราะว่า ปีใดที่ไหนเป็นเจ้าภาพ ก็จะเอาชื่อของที่นั่นขึ้นก่อน ซึ่งการเป็นเจ้าภาพ ธรรมศาสตร์ จะเป็นครั้งที่เป็นเลขคี่ เพราะเริ่มครั้งแรกที่ธรรมศาสตร์ ส่วนจุฬาฯ จะเป็นครั้งที่เป็นเลขคู่ เช่น ปีหน้าครั้งที่ 62 จุฬาฯ เป็นเจ้าภาพ

24. ธรรมศาสตร์มีงิ้วล้อการเมืองที่มีชื่อเสียงมาก คือ “งิ้วธรรมศาสตร์ หรือ งิ้วการเมือง” โดยมีต้นกำเนิดจาก คณะนิติศาสตร์

25. สมเด็จพระพี่นางฯ ทรงเคยเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ด้วย

26. ปีการศึกษา 2540 พระองค์ภาฯ ทรงเข้าไปนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ยังความภาคภูมิใจมาสู่ชาวธรรมศาสตร์เป็นล้นพ้น โดยทรงจบการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 2 อีกด้วย

27. หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นหอประชุมที่นักศึกษามธ.ในอดีตภาคภูมิใจว่า เป็นหอประชุมที่ใหญ่ และทันสมัยที่สุด ในเอเชียอาคเนย์

28. คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ได้แยกตัวออกไปเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

29. มหาวิทยาลัยถูกปิดความเป็นตลาดวิชาลงเมื่อ พ.ศ.2503 เป็นระบบสอบเข้าแทน

30. ธรรมศาสตร์ ไม่มีระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง แต่จะเรียกว่าเพื่อนใหม่ เพราะถือว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

31. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จมาทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์กับนักศึกษามธ. ด้วย

32. ในปี 2507 มีมติจากสภาการศึกษาแห่งชาติให้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเป็น “มหาวิทยาลัยภูมิพล” โดยให้โอน ม.ธรรมศาสตร์ไปรวมกับ ม.แพทยศาสตร์ (ม.มหิดลปัจจุบัน) และ ม.ศิลปากร แต่สมาคมธรรมศาสตร์มีมติคัดค้าน จึงไม่มีการเปลี่ยนแต่อย่างใด

33. อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยควบกับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ แต่ตามระเบียบ ก.พ. นั้นข้าราชการจะทำงานพร้อมกันทีเดียว 2 แห่งได้ แต่จะได้รับเงินเดือนอีกแห่งเพียงครึ่งเดียว โดยอ.ป๋วย เลือกรับเงินเดือนคณบดีเต็มอัตรา 8,000 บาท และรับเงินเดือนผู้ว่าแบงค์ชาติครึ่งอัตราคือ 25,000 บาทแทน นับเป็นพระคุณอันยิ่งใหญ่ในการตัดสินใจของท่าน เพื่อชาวธรรมศาสตร์
34. ธรรมศาสตร์ไม่มีผู้อัญเชิญธรรมจักร เพราะถือว่า ธรรมจักรอยู่ในหัวใจของนักศึกษาทุกคน

35. จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นผู้ก่อตั้ง คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

36. วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นวันธรรมศาสตร์อีกด้วย

37. โขนธรรมศาสตร์ เคยใช้เป็นการแสดงในการสมโภชการสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร

38. ลิฟท์แดง อยู่ที่คณะศิลปศาสตร์

39. ลานโพธิ์ เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตยของธรรมศาสตร์ และสังคมไทย นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ที่ขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชนร่วมกันต่อสู้ เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย

40. ผู้มีพระคุณในเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ชาวธรรมศาสตร์จะลืมไม่ได้ก็คือ แม่ค้าย่านท่าพระจันทร์ และปากคลองตลาด ที่จัดทำเสบียงส่งให้ตลอด

41. สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เช่าที่ดินของธรรมศาสตร์ (ที่รังสิต) เนื้อที่ 1,110 ไร่ เป็นเวลา 30 ปี รวมค่าเช่า 3,000 บาท

42. รถโดยสารใน ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต คือ “รถราง” (รอนานมากๆ บางทีไม่จอดด้วย แถมคนขับก็ดุยังกะแมว)

43. อาหารที่ศูนย์รังสิต แพงกว่ามหาวิทยาลัยอื่นมากๆ แล้วก็ไม่ค่อยมีที่ไหนอร่อยเลย

44. ห้องเรียนที่ ม.ธรรมศาสตร์ ติดแอร์หมดทุกห้อง ทำให้หลับสบาย อิอิ

45. คณะที่เป็นขวัญใจของสาวๆ คือ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร หรือ SIIT แบบว่ารูปหล่อ บ้านรวย เรียนเก่ง (คือถ้าขึ้นปี 2ได้ ถือว่านายแน่มาก) เข้าง่าย ออกง่าย (โดนไทล์) แต่จบยาก

46. เศรษฐศาสตร์ เป็นคณะหนุ่มหล่อของธรรมศาสตร์

47. บัญชี รัฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เป็นคณะรวมสาวสวยของธรรมศาสตร์

48. หอเอเชี่ยนเกมส์ เป็นหอมหาวิทยาลัยรัฐฯ ที่หรูที่สุด มีแอร์ เครื่องทำน้ำอุ่น ยูบีซี ลิฟท์ แล้วก็เบอร์โทรศัพท์ 02 ส่วนตัวทุกห้อง (ต่อเน็ตได้สบายๆ) ค่าไฟแพงหูฉี่เลย (เปิดแอร์อย่างเดียวตก ช.ม. ละ 6 บาท)

49. หอเอเชี่ยนเกมส์ จะมีโซน A-E แต่หอ นศ.จะอยู่ที่โซน B C E โซน B เป็นโซนห้องละ 4 คน มี 8 หลังๆ ละ 8 ชั้น โซน C เป็นโซนห้องละ 2 คน มี 11 หลังๆ ละ 8 ชั้น เช่นกัน ส่วนโซน E มี 2 หลังๆ ละ 4 ชั้น ไม่มีลิฟท์ ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่นด้วย หน้าหนาวทีก็ทนๆ เอาละกัน

50. หอในเป็นหอพัดลม อาบน้ำรวม จะมีอะไรที่เหมือนๆ กับหอมหาวิทยาลัยอื่นทั่วๆ ไป

51. เด็ก self จัดต้องนี่เลย สถาปัตย์ฯ กับ ศิลปกรรมฯ

52. ถ้าใครเล่น msn หรือเกมส์ ในห้องคอม หอสมุดป๋วย จะโดนขึ้นประจานให้ทุกเครื่องทราบว่าคุณกำลังทำผิดกฎห้องสมุด แล้วทุกคนก็จะหันมาทางคุณกันหมด (เป็นเรื่องที่น่าอับอายมากๆ)

53. โรงอาหาร SC ปัจจุบันกลายเป็น โรงอาหารวิศวะ 2 ไปซะแล้ว เพราะ 50% ที่กินข้าวที่นี่ล้วนแต่ใส่ช็อปทั้งนั้น

54. สะพานที่คู่รักมักจะไปนั่งจู๋จี๋ให้อาหารปลากัน คือ “สะพานปลา” ที่หน้าตึกคณะวิศวะฯ

55. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีอีกชื่อว่า โรงพยาบาลซาร่า เพราะถึงแม้ว่าจะเจ็บปางตาย ถ้าไปขอยาจากที่นี่ก็จะได้แต่ ซาร่า (หรืออาจจะมีอย่างอื่นด้วยไม่แน่ใจ)

56. ชื่อโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

57. บ.ร. คือ “อาคารบรรยายรวม” มีทั้งหมด 5 หลัง ตึกบ.ร. มีฉายาว่า “บรรทมรวม” เพราะวิชาที่น่านอนหลับจะเรียนที่ตึก บ.ร. เป็นส่วนใหญ่

58. ขนมบราวนี่ เป็นขนมที่อร่อยขึ้นชื่อของที่วิทยาเขตรังสิต เวลาไปเรียน TU130 คนมักจะต่อแถวกันยาวเหยียดเพื่อซื้อขึ้นไปกิน ทั้งๆ ที่หน้าห้องเขียนว่า ห้ามนำอาหาร และน้ำเข้ามาในห้องบรรยาย ก็ตาม

59. ค่าไฟเฉพาะห้องบรรยาย 1,000 คน ที่ บ.ร.4 อย่างเดียวตกเดือนละ 400,000 บาท

60. สะพานดาวอยู่หน้ามหาวิทยาลัย ที่ศูนย์รังสิต เอาไว้พาแฟนไปชมดาวกันตอนกลางคืน ทางที่ดีควรไปรถป๊อป เพราะปั่นจักรยานไป ขาลากแน่นอน เพราะไกลมากๆ

61. ฝั่งโน้น ในความหมายของเด็กธรรมศาสตร์ คือ ร้านเหล้าทั้งหลายแหล่ ที่อยู่ฝั่งประตูเชียงราก ที่ดังๆ ก็จะมี กระฉ่อน 89, Sweet duck เป็นต้น

62. ลักษณะของโดม ของม.ธรรมศาสตร์ แต่ละที่มีดังนี้

63. คลื่น PCT จะมีที่หอเอฯ โซนซี อินเตอร์โซน แล้วก็ บ.ร.1-บ.ร.4

64. ที่ศูนย์รังสิตมีโชว์รูมรถยุโรปด้วย ไม่ว่าจะเป็น S-class, BMWseries5, เฟอรารี่ ฯลฯ สามารถหาดูได้ที่ SIIT แต่ถ้าเป็นรถญี่ปุ่นจะเป็นของอาจารย์

65. SIIT กับ วิศวะฯ ภาคอินเตอร์ คือ คนละอย่างกัน เพราะ SIIT เป็นอีกสถาบัน แต่สังกัดม.ธรรมศาสตร์

66. ธรรมศาสตร์ มี 4 ศูนย์ คือท่าพระจันทร์ รังสิต พัทยา และลำปาง

67. ในสมัยที่คุณหญิงนงเยาว์ เป็นอธิการบดี เคยมีการปิดโรงอาหารกลางตอนกลางคืน เพื่อเป็นเธค ให้ความผ่อนคลายแก่ นศ. ด้วย

68. ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่มีห้องสมุด อยู่ชั้นใต้ดิน ชื่อ “หอสมุดปรีดี พนมยงค์” ที่ท่าพระจันทร์

69. มีการขุดพบปืนใหญ่หลายกระบอกเมื่อครั้งก่อสร้างประตูใหม่ที่ต่อจากกำแพงโบราณ ด้าน ถ.พระจันทร์

70. มีการขุดพบแนวกำแพงเมืองเก่า ในขณะสร้างอาคาร 60 ปี และลานจอดรถใต้ดิน หน้าคณะรัฐศาสตร์

71.  ตลาดนัดที่นี่มีฉายาว่า “ตลาดนัดดูตัว” เพราะจะมีคนหน้าตาดี มาเดินเยอะมาก จะมีทุกวันจันทร์ กับพฤหัสบดี ของกินอร่อยๆ ก็เยอะ ของใช้ก็เยอะ เด็กม.อื่นก็มาเดินตลาดนัดที่นี่กันเยอะเช่นกัน แม้แต่จุฬาฯ ก็ยังมีเลย

72. ในปี 2550 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน กีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อนโดยใช้ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเป็นสถานที่จัดการแข่งขัน

73. ที่จะลืมไม่ได้เลย ในปี 2541 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชี่ยนนเกมส์ ครั้งที่ 13 ก็ใช้ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นสถานที่จัดการแข่งขันด้วย

74. อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ฉายาคนของแผ่นดิน ผู้เป็นตัวอย่างของการใช้ชีวิตอย่างสมถะ และสันโดษ ก็เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดี

75. สามอนุสาวรีย์ คนดีศรีธรรมศาสตร์ และประเทศไทย อยู่ที่ธรรมศาสตร์ รังสิต ได้แก่ อาจารย์ปรีดีอยู่ที่หน้าตึกยิม 2 อาจารย์ป๋วยหน้าตึกเรียนรวม (SC) และอาจารย์สัญญาอยู่หน้าตึกคณะนิติศาสตร์-คณะรัฐศาสตร์

76. ธรรมศาสตร์เป็นดินแดนแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว

77. คำขวัญอมตะของธรรมศาสตร์ คือ ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน

78. นักศึกษาไม่จำเป็นต้องใส่ชุดนักศึกษามาเรียนก็ได้ แต่อาจจะยกเว้นบางวิชา แต่ตอนนี้ได้มีการรณรงค์ให้แต่งชุดนักศึกษา

79. มีผู้เคยกล่าวไว้ว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็คือประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์

80. ม.ธรรมศาสตร์ เป็นที่เรียนที่มีการเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ปริญญาเอก

81. ม. ธรรมศาสตร์ไม่เรียกผู้ที่ศึกษาที่นี่ว่า นิสิต เพราะ ถือว่าการเป็นนิสิตเป็นการถูกกำหนดขอบเขต

82. EC210 คือวิชายาขมสำหรับเด็กนอกคณะที่ต้องถูกบังคับเรียนเศรษฐศาสตร์ เพราะคณะนี้เคี่ยวจริง ดีจริงๆ

83. ค่าไฟแต่ละเดือนของธรรมศาสตร์ไม่ต่ำกว่า 8 ล้านบาท จึงต้องมีโครงการธรรมศาสตร์หาร 2

84. หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ อยู่ตรงข้ามหอสมุดปรีดี ที่ท่าพระจันทร์ ถ้าต้องการศึกษาประวัติมหาวิทยาลัยตั้งแต่ ปี 2477 ก็สามารถดูได้จากที่นี่

85. ศาลเจ้าแม่สิงโต ซึ่งเป็นที่เคารพ สักการะของ นศ.คณะรัฐศาสตร์ และคณะอื่นๆ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอาคาร 60 ปี

86. นศ. ที่อยู่หอพักที่ศูนย์รังสิต จะต้องทำการย้ายทะเบียนบ้านเข้าหอ เพื่อที่ธรรมศาสตร์จะได้ทำคุณประโยชน์ให้กับชุมชนคลองหลวงบ้าง

87. คณะแพทยศาสตร์ มีหลักสูตรปกติ 6 ปี แต่สามารถยื๊อได้ถึง 12 ปี ถ้าติด F หลายวิชา

88. อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของธรรมศาสตร์ รังสิต

89. แฟนพันธุ์แท้โขนไทย อยู่คณะรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ

90. ตึกเรียนที่หรูที่สุดในศูนย์รังสิต คือ ตึกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (ตึก 4 ชั้น) หน้ามหาวิทยาลัย

91. ตึกคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีโครงเสาเหล็กมาตั้งแต่พี่ปี 5 อยู่ปี 1 จนปัจจุบันโครงเสานี้ก็ยังอยู่เหมือนเดิม

92. หอเอฯโซนบี มักจะมีเริ่องเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติมาโดยตลอด

93. นาฬิกาลูกตุ้มบนตึกโดม มีชื่อว่า “นาฬิกาปารีส” ได้รับบริจาคจาก ห้างเอส.เอ.บี

94. เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 มีผู้เสียชีวิตมากมาย และนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงกว่า 14 ตุลาคม 2516 มาก เนื่องจากท่านอธิการบดีในขณะนั้น คือ อาจารย์ป๋วย ถูกกล่าวโจมตีว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ จนตัวท่านต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

95. ลงทะเบียนเรียนทางเทเลแบงค์ 1551 เป็นอะไรที่ต้องใช้ความอดทนสูงในการกดโทรศัพท์ พอๆ กับลงทะเบียนเรียนเพิ่มกับเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียน (ที่แสนจะใจดี๊ใจดี)

96. การเดินขบวนเรียกร้องดินแดนอินโดจีน จากฝรั่งเศสคืนเป็นการเดินขบวนครั้งแรกของ นศ.ธรรมศาสตร์

97. อาจารย์ป๋วย เป็นศิษย์เก่า ม.ธรรมศาสตร์ คนแรก ที่ได้เป็นอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์

98. 8 ธ.ค. 2484 ธรรมศาสตร์แพ้ฟุตบอลประเพณีกับจุฬาฯ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 2477 ทำให้อาจารย์ผู้คุมทีมถึงกับหัวใจวายถึงแก่กรรม

99. ปลายเดือน ก.ย. 2545 เกิดฝนตกหนัก ลมกรรโชกแรง ทำให้ต้นโพธิ์ธรรมศาสตร์ ฉีกกลางลำต้น

100. ถึงแม้ว่านักศึกษาบางคณะจะไม่ได้ศึกษาที่ท่าพระจันทร์ แต่ความเป็นจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ก็ได้รับการถ่ายทอด และหล่อหลอมให้กับนักศึกษาทุกคนเสมอมา

ข้อมูลจาก : http://www.rac.ac.th/
ภาพจาก Facebook : TU Summercamp

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง