มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษา สู่ดินแดนภาคใต้เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาของท้องถิ่นและเพื่อการสนับสนุนการพัฒนาภูมิภาค และนอกจากนี้ยังมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยหลายวิทยาเขตในภาคใต้ เพื่อขยายโอกาสการศึกษาได้อย่างทั่วถึงในทุกๆ จังหวัดอีกด้วย กระทู้นี้เราจึงขอรวบรวมเรื่องน่ารู้ของวิทยาเขตต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมาฝากกันค่ะ
เรื่องเล่าน่าสนใจเกี่ยวกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)
ข้อมูลทั่วไปของมหาวิทยาลัย
ทำไมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงใช้อักษรย่อว่า ม.อ.
– เด็กมออื่นชอบถามเด็กมอนี้ว่า ทำไมชื่อย่อมหาลัยถึงเป็น “ม.อ.” ทั้งที่ชื่อ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นนามพระราชทานมาจากพระนาม สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ โดยชื่อมหาวิทยาลัยมาจากพระอิสริยยศ กรมหลวงสงขลานครินทร์ อักษรย่อ ม.อ. มาจากพระนามเดิมของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช
– ชื่อภาษาอังกฤษคือ Prince of Songkla University แปลว่า “มหาวิทยาลัย เจ้าชายแห่งสงขลา”
ภาพจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ Prince of Songkla University – PSU เมื่อ 24 ธันวาคม 2015
– วันคล้ายทิวงคตของพระองค์ท่านคือ วันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็น “วันมหิดล” นักศึกษาทั้ง 2 มหาวิทยาลัยและบุคคลกรทางการแพทย์ถือเป็นวันสำคัญ
– ผู้เป็นแกนนำเรียกร้องรัฐบาล พ.อ.ถนัด คอมันตร์ ให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคใต้ เป็นหมอ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี ชื่อ นายแพทย์วิทยา ยุวชิต และท่านยังเป็นประธานจัดสร้างพระบรมราชานุเสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หน้าตึกอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานี
– นักศึกษารุ่นบุกเบิกของทั้ง 2 มหาลัยบางท่านสนิทกันแต่น่าแปลกที่ไม่มีกีฬาประเพณี (หรืออาจจะเคยมี)
– พ.อ.ถนัด คอมันตร์เป็นประธานคณะกรรมการฯ เริ่มดำเนินการให้มีการก่อสร้างมหาวิทยาลัย และเป็นอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีชื่อย่อว่า ม.อ. และเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ใช้คำว่า “วิทยาเขต”
– สีประจำมหาวิทยาลัยคือ “สีบลู” ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยคือ “ดอกศรีตรัง”
– เดิม ม.อ. ก่อตั้งครั้งแรกที่ปัตตานี แต่ไอทะเลทำให้เครื่องมือวิทยาศาสตร์เสียหาย จึงขยายวิทยาเขตไปที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
– วิชา Foundation English เป็นวิชาที่มีคนดรอปมากที่สุด
– คณะวิศวกรรมศาสตร์ก่อตั้งเป็นคณะแรกใน ม.อ.
– งานรับปริญญา จะผลัดกันจัดที่ปัตตานีและหาดใหญ่ (แต่ตอนนี้จัดที่หาดใหญ่ที่เดียวแล้วเพราะปัญหาทางด้านชายแดนภาคใต้)
– เพลงประจำมหาวิทยาลัยแต่งทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวงสุนทราภรณ์
– นักศึกษาที่นี่ไปแข่งกีฬาในต่างประเทศมากกว่าในประเทศซะอีก (มาเลย์, อินโดนีเซีย, สิงค์โปร์) และน่าจะมากกว่านักกีฬาทีมชาติบางชนิดที่ไปเก็บตัวที่ต่างประเทศ
– เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย คือ www.psu.ac.th
5 วิทยาเขต
วิทยาเขตหาดใหญ่ https://www.psu.ac.th/th
วิทยาเขตปัตตานี http://www.pn.psu.ac.th
วิทยาเขตภูเก็ต http://www.phuket.psu.ac.th
วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี http://www.surat.psu.ac.th
เขตการศึกษาตรัง : http://www.trang.psu.ac.th
ภาพจาก Facebook มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ Prince of Songkla University – PSU เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2013
วิทยาเขตหาดใหญ่
– โรงพยาบาลสงขลานครินทร์เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Hospital Accreditation (HA)
– ม.อ. มีโรงพยาบาลทันตกรรมเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
– 99.99% ของคนส่วนใหญ่คิดว่า จุฬาฯ เป็นที่แรกที่ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย แต่คน 0.01% ที่รู้ว่าม.อ. เป็นที่แรก ก็คือเด็กม.อ.เอง และ 0.0001% รู้ว่าอินเทอร์เน็ตครั้งแรกในไทยเกิดที่คณะวิทยาศาสตร์
– คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร เป็นคนมอบที่ดินให้ ม.อ. 400 กว่าไร่
– ตึกฟักทอง เป็นสัญลักษณ์คณะวิทยาศาสตร์ มีทั้งหมด 25 กลีบ บันไดทางเดินไปยังตึกฟัก (ทอง) ก็มี 25 ขั้น
– หลัง ม.อ.จะมีภูเขาล้อมรอบ บรรยากาศดีมากๆ เย็นๆ จะโรแมนติกมาก
– ที่โรงยิมตอนเย็นทุกวันจะมีการเต้นแอโรบิค แต่ที่คณะวิศวะจะมีคนเต้นเยอะกว่า เรียงตามอายุและเพศ คนอายุเยอะจะอยู่ด้านหน้า อายุน้อยและกระเทยจะอยู่ด้านหลัง
– โรงช้างคือ โรงอาหารที่เด็กม.อ. จะไปทานข้าวกัน แต่ก่อนเป็นเพิงบรรยากาศอบอุ่นเหมือนร้านอาโกในเรื่อง “มหาลัยเหมืองแร่” มีร้านขายของชำหลายร้านเหมือนในกิมหยง แต่เดี๋ยวนี้ทุบแล้วสร้างใหม่กลายเป็นโรงอาหารประถม
– ในเวลาตอนเที่ยงโรงช้างคนจะเยอะมากๆ แต่สถานที่ที่น่าไปทานข้าวเที่ยงมากที่สุดคือ โรงอาหารคณะทันตะ
– ตึกฟักทองเป็นที่อ่านหนังสือของเด็ก ม.อ. ในช่วงใกล้สอบ (ช่วงสอบเซเว่นจะขายดีมากที่สุด)
– เมื่อก่อนร้านสะดวกซื้อจะมีที่โรงช้างที่เดียว คนยืนเข้าแถววนจนจะรอบร้าน แต่ตอนนี้มีกระจายตามหอแล้ว
– ก่อนเข้าห้องสมุดทุกครั้งต้องแสดงบัตรนักศึกษา (เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นยิงบาร์โค้ดแล้ว)
– ช่วงเสาร์-อาทิตย์หลายคนมักจะดูบอลที่โรงช้างและใต้หอ โดยเฉพาะวันแดงเดือด ทั้งแฟนผีแฟนหงส์จะเยอะสุดๆ
– เมื่อน้องปี 1 เข้ามาเรียนจะมีชมรมและกิจกรรมต่างๆ ให้เข้าร่วมกันอย่างมากมาย
– เซเว่นใน ม.อ. มีอยู่ 4 ที่ (ที่จริงมี 5 แห่งอีกที่หนึ่งเป็นเซเวนลับจะรู้กันไม่มากเพราะอยู่ที่หลังตึกวิศวะ เค้านิยมเรียกกันว่าเซเวนวิดวะจะเจอสิงอมควันมากในที่นั้น)
– คาเฟตเปลี่ยนเป็นคณะแพทย์แผนไทยกับเนิร์สเซอร์รี่แล้วจ้า (ได้ข่าวว่าจะสร้างตึกคณะใหม่เเล้ว ที่วาริช คณะทรัพย์ มีโรงพยาบาลเเพทย์เเผนไทยย้ายไปที่นั่นด้วย)
– ทุกๆ วันใต้ตึก วจก. จะมีคนไปเล่นเน็ตกันมาก มีบางคนเรียกว่าลานโน๊ตบุ๊ค เยอะมากจริงๆ
– เด็ก ม.อ. บางคนเป็นผู้มีความสามารถพิเศษ แม้จะตื่น 7.50 น. ก็ยังไปเรียนคาบ 8.00 น. ทัน
– รถตุ๊กๆ และรถสวัสดิการเป็นรถที่จะพาเด็กม.อ. ไปเรียนกัน เดี๋ยวนี้มีรถไบโอดีเซลแล้ว จะวิ่งเป็นเวลา เรียกสั้นๆ ว่า “รถไบโอ” และต่อมาใน ปี 2554 มีรถเฉื่อยแล้ว หรือเรียกว่ารถไฟฟ้า
– ไปรษณีย์ ม.อ. จะอยู่หลังตึกอธิการบดี
– เมื่อเข้ามาปี 1 ใหม่ๆ เด็กแพดจะใส่ไทค์สีเขียว พยาบาล=สีส้ม วจก.=สีเฉดม่วง วิดวะ=สีเลือดหมู วิดยา=สีเหลือง
ภาพจาก Facebook : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ Prince of Songkla University – PSU เมื่อ 27 สิงหาคม 2014
– วจก. เป็นชื่อย่อของคณะวิทยาการจัดการ คณะนี้ว่ากันว่าสาวสวยที่สุด (บ้างก็ว่า วจก. ย่อมาจาก วิดวะจัดการ)
– เมื่อขึ้นปี 2 เด็กพยาบาล แพทย์ จะย้ายไปอยู่หอเฉพาะ
– สนามฟุตบอลม.อ. มีอยู่ 2 สนาม คือ 1. สนามบน เป็นชื่อเรียกของสนามที่อยู่ต่างระดับกันอยู่ข้างบน ชื่ออย่างเป็นทางการคือ “บนแทรฟฟอร์ด” ไว้แข่งรักบี้ เป็นส่วนใหญ่ และเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ส่งผู้ป่วยจากชายแดนใต้มาที่โรงพยาบาลอีกด้วย 2. สนามล่าง เป็นชื่อเรียกของสนามที่อยู่ระดับต่ำกว่า ชื่ออย่างเป็นทางการคือ “เซนต์เจมส์ล่าง” เป็นที่แข่งฟุตบอล
– คณะ อก. เป็นคณะที่อยู่ไกลที่สุด ถัดมาก็เป็นคณะทรัพย์
– หอ 3-4 เป็นหอเดียวที่อยู่ด้วยกัน และเป็นหอที่มีเรื่องเล่ามากที่สุด มีนักศึกษาเคยเสียชีวิตคาห้องมาแล้ว แต่ห้องไหนไม่รู้ใบให้ อยู่ปีก X313
– ตอนเปิดเทอมใหม่จะมีของขายที่ใต้ตึกกิจ เรียกว่าขายของน้องใหม่ และจะเป็นของที่แพงที่สุดเพราะเด็กใหม่จะยังงงงง และไม่รู้ว่ามันแพง คนขายเป็นบรรดารุ่นพี่ ที่รับของมาจากร้านในตลาด และเอาเฉพาะของถูกๆ มาเพิ่มกำไรขาย
– ประตู 108 และประตู 109 เป็นประตูอยู่ทางทิศตะวันออก (ประตูทางทิศตะวันออกชื่อประตูศรีทรัพย์)
– ประตู 108 ได้ชื่อจากจำนวนห้องของแฟลตที่ใกล้ประตู ส่วนประตู 109 ประตูใหม่หลังคณะทรัพย์ถัดจาก 108 เลยได้ชื่อว่า 109
– มีตลาดศรีตรังอยู่ข้างประตู 109 เด็กม.อ. ชอบมานั่งกินข้าว ดูบอลกันเยอะมากก แต่เสาร์-อาทิตย์ คนจะน้อย เพราะเด็กกลับบ้านกัน
– ประตูหลักๆ มีทางออกอยู่ 4 ที่ เปิดใช้แค่ 3 ที่
– ตลาดนัดเกษตร เปิดขายของทางคณะทรัพย์
– ในมหาลัยมีปั้มน้ำมันอยู่ 2 ที่ คือปั้มบางจาก อยู่ใกล้ประตูหน้า ม.อ. และก็คณะวิดวะ
– ช่วงเดือนสิงหาคม จะมีงานเกษตรภาคใต้ มีของขายเยอะมากๆๆ แถมคนเยอะโคตรๆ
– คณะ วจก. เป็นคณะที่อยู่ใกล้หอในมากที่สุด
– ว่ากันว่า ใครเดินผ่าน love path ระหว่าง วจก. กับศูนย์คอมฯ จะมีคู่ ว่าแล้วทำไม! ป้ากวาดถนนแถวนั่นฮอตจัง มีรปภมาจีบตลอด สวดยอด ต้องไปลองมั่งแล้ว อิอิ
– มอ. หาดใหญ่ อยู่หน้าเขา ส่วนมอ. ปัตตานีติดทะเล (โคลน)
– เมื่อก่อนรับปริญญาที่โรงยิม “ห้องทองจันทร์” ตอนนี้ไปที่ศูนย์ประชุมนานาชาติแล้ว (ตั้งแต่ปี 51)
– ที่หอสมุดคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร (ชื่อห้องสมุดที่นี่) มีคนมาหางานทำวิจัยโคตรเยอะ!
– ม.อ. ไม่มีหอพักสำหรับนักศึกษาทันตะ ที่นี่มีแต่หอพยาบาล หอแพทย์ นอกนั้น เป็นหอรวมๆ
– หอ 11 ใครที่อยู่ห้องมุมฝั่งเยื้องหอ 6 จะได้เห็นอ่างน้ำ และสนามซอฟท์บอลด้วย บรรยากาศส่วนตัวสุดๆ
– หอสมุดจะย้ายไปตึก LRC (ศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ ไม่ใช่ inductor resistor capacitor นะ) ส่วนหอสมุดเก่าเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์
– Big Four ของ ม.อ. หาดใหญ่ คือ วิศวะ วิดยา วจก. และทรัพย์
– ทุกปีในช่วงกลางเดือนสิงหา ช่วงกลางวันวิดยาจะคึกคัก (เพราะมีงานสัปดาห์วิทย์ฯ) แต่ช่วงกลางคืนทรัพย์ฯ จะคึกคักเช่นกัน (เพราะมีงานเกษตรฯ)
– ถ้ามา ม.อ.หาดใหญ่ แล้วได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์ ไม่ต้องตกใจ เพราะ ม.อ. เราอยู่ห่างจากค่ายทหารไม่ถึง 1 กิโลเมตร
วิทยาเขตปัตตานี
– “รูสะมิแล” ชื่อที่ตั้งของ ม.อ. ปัตตานี แปลว่า “สนเก้าต้น”
– “อาเนาะรู” เป็นชื่อตำบลใกล้ๆ กัน แปลว่า “ลูกสน”
– คลอง 200 ปี เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของ ม.อ.ปัตตานี (สมัยก่อนเป็นตลิ่ง มาเปลี่ยนเป็นคอนกรีตเมื่อประมาณปี 42-43)
– พระบิดา ม.อ.ปัตตานี ทรงยืน ซึ่งเป็นพระราชานุสาวนีย์พระบิดาแห่งเดียวในโลกที่ทรงยืนแต่ที่ ม.อ.หาดใหญ่ ทรงนั่ง เป็นที่มาของความคิดที่ว่า ม.อ.หาดใหญ่ สบายกว่า ม.อ.ปัตตานี
– เพลงประจำมหาลัย วงสุนทราภรณ์ แต่งโดยไม่เคยเห็นมหาวิทยาลัย ในเนื้อเพลงบอกว่าม.ติดทะเล สวยงามมาก แต่ที่จริง ม.ปัตตานี มีแต่ทะเลโคลน
– เพลงเขตรั้วสีบลู มีท่อนนึงร้องว่า “คอหงส์ เช่นกัน” แต่เด็ก มอ.ปัตตานี จะร้องว่า “คอหงส์ ชั่งมัน”
– เพลงประจำวิทยาเขตคือ “เพลงทิพย์สถาน” ซึ่งร้องยากที่สุดเพลงหนึ่ง ในการว๊ากเชียร์
– สัตว์ประจำ ม.อ.ปัตตานีคือ “ปลาตีน” มีเพลงประกอบด้วยชื่อเพลง “หัวใจปลาตีน”
– ม.อ.ปัตฯมีสระว่ายน้ำครึ่งสระ ม.อ.หาดใหญ่ มีสระว่ายน้ำสระครึ่ง (เพราะแบ่งจากม.อ.ปัตตานีไปครึ่งสระ ก่อนที่จะได้งบสร้างสระใหม่ แต่ตอนนี้ไม่รู้มีกี่สระแล้ว)
– หน้าม.ปัจจุบันนี้อดีตคือสวนมะพร้าวหลังม. หน้าม.ที่แท้จริงคือหลังม.ในปัจจุบัน สังเกตได้จากถนนกว้างขวาง 4 เลน และมีป้ายบอกทางจากในตัวเมืองให้เข้าทางที่ปัจจุบันเป็นหลังม.
– ครั้งหนึ่ง ม.อ.ปัตตานี เคยถูกเรียกว่า ม.กล้วยไข่ จากการลงข่าวของหนังสือพิมพ์มติชน เรื่องการรับน้องมหาลัย ซึ่งมีภาพ น.ศ.หญิงกำลังอมกล้วยไข่ที่ตั้งอยู่บนเป้าของบัดดี้ชาย (รับน้องปี 41) เนื่องด้วยเหตุการณ์ข้างบน เราเลยมี “บูมกล้วยไข่” เพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งบูม
– ถนนที่วิ่งตัดผ่าน ม.เส้นนั้น (ก็มีอยู่เส้นเดียวแหล่ะ) เรียกว่า Street of Mor-Or Pattani
ภาพจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ Prince of Songkla University – PSU 22 พฤศจิกายน 2016
วิทยาเขตภูเก็ต
– เมื่อก่อน ม.อ.ภูเก็ต อยู่ที่สะพานหิน (ที่รู้จักกานในนามว่าตึกที่ซิบ้าเช่าม.อ.อยู่)
– คณะอุตสาหกรรมบริการ เมื่อก่อนชื่อ การจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว (ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นการบริการและการท่องเที่ยวแล้ว)
– ผู้หญิงการโรงแรมจะบึกบึนเป็นพิเศษเพราะส่วนใหญ่มีแต่ผู้หญิงและเพื่อนสาว ต้องทำอะไรด้วยตัวเองตลอด
– ในอดีต ตึกดนตรีไทยเคยเป็นหอชายล้วนด้วย เรียกว่าเล้าไก่
– ส่วนหอหญิงทางมหาลัยเช่าตึกเอทั้งตึก ให้ผู้หญิงอยู่
– คณะอุตสาหกรรมบริการ สาขาวิเทศน์ธุรกิจจีน (สาวสวยเยอะ) เป็นคณะที่เรียน 3 ปี ครึ่ง
– ช่วงสอบก็ต้อง “ไก่เมา” เรานอนเช้าก็เพราะเรารอไปกิน “ไก่เมา” เมื่อก่อนเป็นไก่ก๊ะ เพราะว่าคนขายเป็นก๊ะ (ไม่รู้อันเดียวกับไก่เมารึป่าว) กินเสร็จแล้วต้องไปเหนวรอบเกาะ นั่งเล่นริมทะเล แล้วกลับหอตอนตี 3
– ใกล้ๆ ไก่ก๊ะจะมีอีกไก่ทอดอีกเจ้า กินเวลาก๊ะไม่มาขาย เลยถูกเรียกว่าไก่แก้ขัด 55
– คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เดิมคือโครงการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ตอนนี้แตกแขนงอีกมายมาย จนนับม่ะถูกแล้น
– อาคารกีฬาวิทยาเขตภูเก็ต มีลักษณะเหมือนยุ้งฉางเก็บข้าว และเมื่อตอนแผ่นดินไหวตอนเกิดซึนามิ โรงยิมร้าว แก้ไขโดยการทาสีปิดรอยร้าว
– หอพักมหาลัย ใช้ระบบแสกนลายนิ้วมือเข้าหอ
– เด็กภาคคอม จะพยายามจีบเด็กภาคอุตสาหกรรมบริการ และเด็กวิเทศ อิอิ
– น้ำประปาที่ใช้ในมหาลัย มาจากขุมน้ำหน้าหอพักทั้งหมด เกือบทุกเช้าจะมีคนมาโปรยคลอรีนลงในขุมน้ำนั้นด้วย และนักศึกษาที่ไม่ใช้ครีมนวดผมนั้น ทรงผมจะเหมือนใส่เจลล์
สัญลักษณ์ 50 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีแนวความคิดในการออกแบบ คือ การผสมผสานเลข ๕๐ กับ ตัวย่อชื่อมหาวิทยาลัย ม.อ. เพื่อเป็นการสื่อถึงการครบรอบ 50 ปี ที่มีลักษณะเฉพาะ โดยแฝงชื่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อยู่ด้วย โดยใช้การจัดวางแบบกริดและรูปทรงสีเหลี่ยมที่ให้ความทันสมัย แต่ไม่แข็งกระด้างด้วยเส้นโค้ง
#50ปีสงขลานครินทร์ #PSU50Years
– หน้ามหาลัยมีป้ายห้ามขี่ม้าเข้ามาในมหาลัย
– จอดรถในที่ห้ามจอด จะถูกล๊อคล้อ ถ่ายรูปเป็นหลักฐาน และปรับเงินร้อยนึง
– หอพักวิทยาเขตภูเก็ต มีอินเตอร์เน็ตถึงทุกห้อง
– ห้องน้ำที่หอพักชายเก่า จะมีห้องที่ล๊อกมาจากด้านใน และชั้นบนจะมีผีดุมากก
– โรงอาหาร เรียกว่า “Canteen”
– Canteen ใหม่ (บ้างก็เรียก Canteen บน) เพิ่งสร้างเสร็จปลายปี 2009 แต่ 95% ของนักศึกษาก็ยังอดทนต่อคิวที่ canteen เก่า
– มีโรงแรมในมหาวิทยาลัย ชื่อ PSU Lodge
– ที่นี่ไม่มีการประชุมเชียร์ แต่มีกิจกรรมสอนน้องร้องเพลง
– สระอโนดาษ จะมีคนคนนึงไปว่ายน้ำ เค้าคือ อาจารย์แบลร์ และต้อนนี้สระอโนดาษสวยงามแล้วนะแถมยังไปวิ่งรอบๆ สระได้ด้วย วู๊วว อาจารย์แบลร์ (Blair) ชอบขึ้นไปวิ่งบนภูเขารอบมหาวิทยาลัยด้วย บางครั้ง (สมัยก่อน) ถ้าเห็นอาจารย์แบลร์วิ่งกระโดดข้ามรั้วหลังมหาวิทยาลัยเข้ามาก็ไม่ต้องตกใจไป นั้นเปรียบได้กับการวิ่ง jogging ของเรานั่นเอง
– เด็กปีหนึ่งคณะอุตสาหกรรมบริการทุกคนต้องเคยได้ยินอาจารย์แบลร์พูดว่า “Open your window directory!!!!”
– ด้านกีฬา มีสนามเทนนิส 2 คอร์ท สนามแบดมินตัน 2 สนาม สนามฟุตบอล สนามบาสกลางแจ้ง 2 สนาม สนามวอลเล่ย์บอลชายหาด 1 สนาม และสนามบาสในร่ม 1 สนาม
– รถประจำมหาลัยมีดังนี้ รถบัสพัดลม 1 คัน (สภาพพอใช้งานไปวันๆ) เค้าเรียกว่า รถบรรทุกหมู, รถบัสแอร์ (แต่ร้อนมาก สภาพเหมือนๆ กัน ) 1 คัน และ รถ 6 ล้อ ที่ไร้ระบบกันสะเทือน 1 คัน บ้างก็เรียกรถทัวร์ (ฮุก)
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ | Prince of Songkla University
15 ถ.กาญจนวณิชย์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ 0-7428-2000 โทรสาร 0-7455-8941
เว็บไซต์ www.psu.ac.th , Facebook PSUuniversityTH
ที่มาจาก ไร้สาระนุกรม (อัพเดทเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559) ภาพดอกศรีตรัง จาก www.77kaoded.com
**ข้อมูลบางอย่างอาจจะล้าสมัยไปบ้างแล้ว
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทความแนะนำ
- 6 ตำนานหลอน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตหาดใหญ่และปัตตานี)
- 10 เหตุผล ที่ทำให้ ม.หาดใหญ่ น่าเรียนมาก | ศึกษาต่อต่างประเทศ 1-2 ภาคการศึกษา
- ข้อดีของการไปเรียนต่อที่ USM มาเลเซีย | ประสบการณ์ล้ำค่า ของนักเรียนแลกเปลี่ยน
- 9 ประเทศ ที่การศึกษาเป็นเลิศ แต่คุณอาจไม่เคยรู้ – เรียนต่อต่างประเทศ
- แนะนำ 5 สถานที่ท่องเที่ยวในปีนัง ที่คุณไม่ควรพลาด