นศ. วิศวกรรม ฯ มข. คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวด Moral Hackathon 2023

Home / กิจกรรม / นศ. วิศวกรรม ฯ มข. คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวด Moral Hackathon 2023

นักศึกษาวิศวกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน Moral Hackathon 2023 จัดขึ้นภายใต้โจทย์ “Moral Move” เเรงขับเคลื่อนแห่งสังคมคุณธรรม จัดโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ซึ่งมีทั้งหมด 14 ทีม จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ

การประกวด Moral Hackathon 2023

โดย นางสาวชาคริยา จันทรคามิ ได้ร่วมกับเพื่อสมาชิกต่างสถาบัน ชื่อทีม Easy Easy” ประกอบด้วย นางสาวชาคริยา จันทรคามิ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ,นายปริภัทร์ มะลีแก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,นายเมฆินทร์ วงศ์ศรีลานักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

จัดทำผลงานชื่อ “Sign Sense” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเชื่อมโลกของคนหูดี และคนหูหนวกเข้าด้วยกันผ่านการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีส่วนช่วยในการสื่อสาร นวัตกรรมนี้จึงช่วยสื่อสารระหว่างผู้พิการในการได้ยินและคนหูดี ช่วยเชื่อมโลกสองใบเข้าด้วยกัน

นางสาวชาคริยา จันทรคามิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า “SignSense เกิดขึ้นจากที่พวกเรานั่ง ระดมความคิดกันว่าอยากลองทำเทคโนโลยีเพื่อคนพิการ โดยสนใจกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน และสื่อความหมาย (คนหูหนวก)

เมื่อลองศึกษาปัญหาของคนหูหนวกดู ว่าปัจจุบันพวกเขามีปัญหาอะไรบ้าง เราจึงพบว่าจริงๆ แล้วคนหูหนวกไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก  และไวยากรณ์ภาษามือไทยไม่เหมือนกับภาษาไทย ทำให้เค้าสื่อสารกับคนหูดีลำบาก บางคนจึงเขียนไม่ได้เลย อ่านไม่ได้ด้วย หรือเขียนออกมาแล้วคนหูดีไม่เข้าใจ พวกเราจึงเกิดไอเดียที่ว่าจะดีกว่ามั้ยถ้าจะทำให้คนหูหนวกและคนหูดียังสื่อสารกันได้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายยังได้ใช้ภาษาแม่ของตัวเอง”

“พวกเราจึงทำ SignSense ซึ่งเป็น Application ที่ใช้ AI ที่แปลง ‘ภาษามือเป็นเสียง’ และ ‘แปลงเสียงเป็นภาษามือ’ ไปพร้อมๆ กันแบบ Realtime กล่าวคือเมื่อคนหูดีพูดก็จะแปลงคำพูดเป็นภาษามือ และเมื่อคนหูหนวกทำภาษามือก็จะแปลงเป็นเสียงออกไปให้คนหูดีได้ยินนั่นเอง โดยการแปลในลักษณะนี้จะทำให้สื่อสารกันได้อย่างไร้รอยต่อ (seamlessly) เพื่อสร้างความเท่าเทียม ลดช่องว่างในการสื่อสาร และทำให้คนหูหนวกได้เข้าถึงสื่อ, ข้อมูลมากขึ้นนั่นเอง”