เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นวันสอบ GAT/PAT วันแรกของเด็ก ม. 6 ที่จะ Admission ในปี 2562 ซึ่งเด็กที่เข้าสอบไม่ได้มีเพียงเด็กทั่วไป แต่ยังมีเด็กกลุ่มพิเศษ ที่เป็นกลุ่มของผู้ที่มีภาวะทางร่างกายบกพร่องอีกด้วย ทว่ากลับมีสนามสอบแห่งหนึ่ง ห้ามเด็กที่มีความพิการทางสายตานำ สเลท กับสไตลัส ซึ่งเป็นอุปกรณ์การเขียนสำหรับผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะเข้าห้องสอบ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่โหดร้ายมาก
ผู้คุมสอบ GAT-PAT ไม่ให้เอาอุปกรณ์เขียนอักษรเบรลล์เข้าห้องสอบ
หลังจากที่หมดเวลาสอบ GAT/PAT ของปี 62 ในวันแรก ก็มีผู้ใช้เฟสบุ๊กท่านหนึ่ง ที่ใช้ชื่อว่า Pond Pum Pum ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงบนเฟสบุ๊กส่วนตัวถึงเรื่องการสอบในวันที่ 23 ก.พ. เอาไว้ว่า มีสนามสอบแห่งหนึ่ง ผู้คุมสอบ GAT-PAT ไม่ให้ผู้บกพร่องทางสายตา นำสเลท กับสไตลัส เข้าไปสอบ ด้วยเหตุผลที่ว่า เขาไม่ให้เอาอะไรเข้าไปในห้องสอบ แล้วเด็กที่มีความบกพร่องทางสายตาจะทดเลข หรือเขียนสัญลักษณ์ทดข้อมูลเวลาที่สอบ GAT เชื่อมโยงได้อย่างไร เพราะตามตารางสอบวันแรกนั้นมีการสอบสองวิชานั้นก็คือ ความถนัดทั่วไป (GAT) กับ ความถนัดทางคณิตศาสตร์ (PAT 1)
วิธีการสอบ GAT-PAT ของผู้พิการทางสายตา
การสอบของผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายนั้นใช้ข้อสอบเหมือนกับเด็กปกติ แถมได้เวลาสอบเท่าเด็กปกติอีกด้วย เพียงแต่เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นจะมี ผู้ช่วยอ่าน เนื่องจากผู้บกพร่องทางการมองเห็นมีทั้งผู้ที่อ่านอักษรเบรลล์ได้ และอ่านไม่ได้ โดยผู้ที่พิการด้านการมองเห็นที่สามารถอ่านอักษรเบรลล์ได้ สทศ. จะเตรียมข้อสอบอักษรเบรลล์ไว้ให้ แต่สำหรับผู้ที่พิการด้านการมองเห็นที่ไม่สามารถอ่านอักษรเบรลล์ได้จะมีผู้ช่วยอ่านคำตอบให้เลือก ส่วนการตอบข้อสอบจะมีผู้ช่วยฝนกระดาษคำตอบให้
อักษรเบรลล์คืออะไร
อักษรอักษรเบรลล์ (Braille) เป็นตัวอักษรที่นิยมใช้กับผู้ที่มีความบกพร่องในการมองเห็น มีลักษณะเป็นการรวมกลุ่มของจุดนูนบนกระดาษ วิธีการอ่านอักษรเบรลล์ก็ให้ใช้ปลายนิ้วสัมผัสตัวอักษรที่นูนขึ้นมา ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการเขียนอักษรเบรลล์มี 2 อย่างด้วยกันก็คือ สเลท (Slate) กับสไตลัส (Stylus) ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการการพิมพ์คือ เครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ (Brailler)
วิธีการใช้งาน สเลท กับ สไตลัส
มาถึงอุปกรณ์เจ้าปัญหาที่เกิดเป็นประเด็นของความเหลื่อมล้ำในการสอบ GAT/PAT ในวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมานี้ นั่นก็คือ สเลท (Slate) กับสไตลัส (Stylus)
สเลท (Slate) เป็นแผ่นกระดานเอาไว้ใส่กระดาษ ที่จะใช้เขียนอักษรเบรลล์ ด้านในกระดานจะแบ่งออกเป็นช่องเล็กๆ ในแต่ละช่องจะมีรูเอาไว้เขียนทั้งหมด 6 รู
สไตลัส (Stylus) เป็นอุปกรณ์ที่เอาไว้ใช้เขียน มีลักษณะส่วนปลายคล้ายกับหัวปากกาลูกลื่น แต่มีความยาวกว่าปากกาลูกลื่น และก็มีส่วนหัวที่เป็นเหมือนกับด้ามจับ
การใช้งานอุปกรณ์สองชิ้นนี้ต้องใช้คู่กัน โดยขั้นตอนแรกจะต้องใส่กระดาษลงไปในสเลท และกดล็อกสเลทให้เรียบร้อย เพื่อยึดกระดาษเอาไว้กับตัวกระดาน จากนั้นก็ใช้นิ้วชี้ด้านซ้ายสัมผัสกับช่องสเลท เพื่อกำกับช่องที่ใช้ในการเขียน โดยไล่จากด้านขวาไปด้านซ้าย และใช้มือขวาจับสไตลัส แล้วเขียนจากขวาไปซ้าย
ซึ่งเท่ากับว่า สเลทกับสไตลัส ก็เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเขียนของผู้พิการทางสายตา เหมือนกับที่เด็กปกติพกดินสอ 2B เข้าห้องสอบ เพื่อใช้ทด ใช้โน้ตทวนความถูกต้อง แต่เด็กที่พิการทางสายตากลับไม่มีโอกาสนำอุปกรณ์พวกนี้ติดตัวเอาไปด้วย ก็คงไม่แฟร์สำหรับผู้พิการเท่าไหร่ นอกจากนี้ผู้โพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊กคนดังกล่าวก็ยังบอกอีกว่า ปกติเวลาที่ตนสอบก็สามารถนำ สเลท กับสไตลัส เข้าได้ปกติ จึงอยากขอให้ทุกสนามสอบมีมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน
ที่มา : สำนักหอสมุดเบญญาลัย , สทศ. , Facebook ของ Pond Pum Pum
ภาพ : ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาคนตาบอด , brailleintl.org