เปิดเส้นทางกว่าจะเป็น ครู ต้องสอบอะไรบ้าง – เรียนจบไม่ตรงสาขาทำอย่างไร?

ครู ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพในฝันของใครหลาย ๆ คน แต่รู้หรือไม่ว่าเส้นทางของการเป็นครูนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย เพราะนอกจากจะเป็นคนที่ชอบสอน หรืออธิบายแล้ว ยังจะต้องเป็นที่ขยัน มีความอดทน และมีความรับผิดชอบ อีกด้วย

เปิดเส้นทางกว่าจะเป็น ครู ต้องสอบอะไรบ้าง?

สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่อยากจะเข้าศึกษาต่อใน คณะครุศาสตร์ หรือ คณะศึกษาศาสตร์ และกำลังลังเลอยู่ว่าเราจะเหมาะกับการเรียนด้านนี้หรือไม่นั้น ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ก็ได้รวบรวมข้อมูลเส้นทางการเป็น “ครู” มาฝากกันด้วยค่ะ มาเริ่มค้นหาตนเองไปพร้อม ๆ กันได้เลย…

ทำไมเราถึงอยากเป็น “คุณครู”

อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในทุกอาชีพนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัว ดังนั้นน้อง ๆ คนไหนที่อยากจะเข้าเรียนต่อด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เพื่อที่อยากจะทำอาชีพครูในอนาคตนั้น น้อง ๆ จะต้องลองย้อนกลับมาคิดก่อนเลยว่า เราจะสามารถใช้ชีวิตและการทำงานแบบครูได้หรือไม่ ซึ่งถ้าเราอยากทำเพราะมีความสุขในการได้สอนเด็ก ๆ อยากคอยสนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองไปในสิ่งที่ตนเองชอบ หรือบรรลุเป้าหมายได้นั้น ขอบอกเลยว่า น้อง ๆ มาถูกทางแล้ว

แต่หากใครอยากเป็นครู เพราะว่าคิดว่าจะมีวันหยุกเยอะ เมื่อเด็ก ๆ ได้ปิดเทอม เราก็จะได้หยุดพักยาว ๆ ไปด้วยนั้น ขอบอกเลยว่าต้องคิดใหม่ เพราะหน้าที่ของการเป็นครูนั้นไม่เคยมีวันหยุดและจะต้องใช้พลังกาย พลังใจ พลังสมอง และจะต้องมีการวางแผนการสอน อีกด้วย โดยในขณะเดียวกันเราก็ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเด็ก ๆ แต่ละคนด้วย เพราะพวกเขาแต่ละคนนั้นมีวิธีการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน และมีนิสัยที่แตกต่างกัน

การสอบเข้าเรียนต่อ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

นอกจากน้อง ๆ จะต้องมีคะแนนสอบต่าง ๆ แล้ว เช่น O-NET, GAT ฯลฯ อีกหนึ่งวิชาที่น้อง ๆ จะพลาดการสอบไม่ได้เลยก็คือ PAT5 เป็นวิชาวัดความถนัดทางวิชาชีพครู ที่น้อง ๆ จะต้องใช้ในการยื่นคะแนนสมัครเข้าเรียนต่อที่คณะครุศาสตร์/คณะศึกษาศาสตร์ ในสถาบันการศึกษาที่เปิดสอน โดย PAT5 เป็นข้อสอบเฉพาะกลุ่ม สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเป็นครู ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

ความรู้พื้นฐาน

ส่วนที่ 1 คือ ความรู้พื้นฐานที่จะใช้ในการเรียนต่อในคณะครุศาสตร์/คณะศึกษาศาสตร์ เช่น ความรู้พื้นฐานวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษาฯ และภาษาอังกฤษ เป็นต้น

การวัดแววความเป็นครู

ส่วนที่ 2 คือ ความถนัดในการเรียนต่อในคณะคณะครุศาสตร์/คณะศึกษาศาสตร์ให้สำเร็จ หรือเป็นการวัดแววความเป็นครู เช่น ความสามารถในการแสวงหาความรู้ ทักษะการสื่อสารรู้เรื่อง หลักจิตวิทยาครู เป็นต้น

…..

สัดส่วนคะแนนที่ใช้ (รอบแอดมิชชัน)

โดยมีการแบ่งสัดส่วนคะแนนที่ใช้ออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1
– GPAX 20%
– O-NET 30%
– GAT 20%
– PAT5 30%

รูปแบบที่ 2
– GPAX 20%
– O-NET 30%
– GAT 10%
– PAT5 20%
– PAT (ตามสาขาวิชา PAT1 หรือ PAT2 หรือ PAT7 20%)

เข้าเรียนแล้ว จะต้องทำการฝึกสอนด้วย

สำหรับน้อง ๆ ที่เข้าไปเรียนต่อในคณะครุศาสตร์/คณะศึกษาศาสตร์ได้แล้ว นอกจากจะต้องเรียนในวิชาบังคับ วิชาเลือก และทำกิจกรรมต่าง ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว ยังจะต้องทำการฝึกสอนเป็นระยะเวลา 1 ปี

โดยจะต้องทำการเรียนการสอนให้ตรงกับวิชาเอกของตนเอง ซึ่งข้อบังคับในการฝึกสอนในแต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะมีความแตกต่างกันออกไป น้อง ๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดคู่มือการปฏิบัติการฝึกสอนได้ที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่ตนเองต้องเลือกเรียนได้เลยค่ะ

ไม่เรียนด้านครูมาโดยตรง จะทำอย่างไร?

สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่ไม่ได้เรียนจบด้านครูมาโดยตรง แต่อยากมาเป็นครู อาจจะต้องสมัครสอบความรู้ตามมาตรฐานของวิชาชีพคุรุสภา หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตการสอนแล้ว ก็สามารถสมัครเข้าสอนในโรงเรียนต่าง ๆ ได้ เช่น โรงเรียนเอกชนที่ไม่ใช้ใบประกอบวิชาชีพครู และเมื่อสอนครบ 1 ปี ผ่านกาประเมินการสอนแล้ว ก็สามารถขอขึ้นทะเบียนเพื่อทำการขอใบประกอบวิชาชีพครูได้ (ใบประกอบวิชาชีพมีอายุ 5 ปี) ฯลฯ

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน ได้แก่

– คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : portal.edu.chula.ac.th
– คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต : education.dusit.ac.th
– คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา : edu.bsru.ac.th
– คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา : edu.ssru.ac.th
– คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : lsed.tu.ac.th
– วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล : www.rs.mahidol.ac.th
– วิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพระเยา : www.cce.up.ac.th
– คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ : edu.swu.ac.th
– คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร : www.educ.su.ac.th
– คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : www.ku.ac.th
– คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง : www.edu.ru.ac.th
– คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น : ednet.kku.ac.th
– คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : www.edu.cmu.ac.th
– คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา : www.edu.buu.ac.th
– คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : edu.msu.ac.th
– คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต : www.rsu.ac.th
– คณะศึกษาศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ : www.pim.ac.th

** นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถาบันการศึกษาไทยที่เปิดสอนด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เท่านั้น น้อง ๆ สามาถเข้าไปดูรายละเอียดทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ของสถาบันการศึกษาที่น้อง ๆ สนใจกันได้เลยค่ะ

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง