เปิดรั้วการศึกษา พี่หลักสูตรใหม่ วิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ PCCMS KMUTT

โลกก้าวหน้า วิทยาการรักษาก็เช่นกัน “การแพทย์แบบแม่นยำ” ถูกนำมาใช้ในทุกแขนงการรักษาและสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้แม่นยำและตรงจุดคือ “ฐานข้อมูล” ดังนั้นในโลกยุคใหม่ต่อไปนี้ คนที่จัดการฐานข้อมูล เชื่อมโยงได้แม่นยำ มีประสิทธิภาพ จะกลายเป็น “คีย์แมน” อีกหนึ่งฟันเฟือง คนสำคัญ

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ

กอปรกับเมื่อเร็วๆ นี้ เกิด หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งกำลังจะมีนักศึกษาจบมาเป็นรุ่นแรก ดังนั้นเพื่อให้น้องๆ รุ่นต่อมา ได้รู้จักกับคณะและหลักสูตรกู้โรคอันสมัยล่าสุดในตอนนี้ เริ่มจาก เจมส์-พีรวิชญ์ อามาตรมนตรี, ฟลุ๊ค-ธนัชชา ทองจิตติพงศ์, บอล-ณัฐวุฒิ แถมเงิน, ต้นข้าว อสมา ตั้งปรมัตถ์สกุล ต่อไปเราจะจาระไนอย่างละเอียด ด้วยประเด็นคำถามดังนี้

6 คำถามจากรุ่นพี่ รุ่นแรก

แรงบันดาลใจเรียนสาขานี้

1. มีความสนใจในด้านนี้ได้อย่างไร ? มีแรงบันดาลใจหรือเรื่องราวที่ทำให้เกิดความสนใจเรียนทางด้านนี้คะ?

เจมส์-พีรวิชญ์ : แรงบันดาลใจที่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ก็คือเป็นเพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงบูมของวงการดาต้าไซน์ ตอนนั้นจะมีบทความ หนี่งที่ฮิตมากในวงการเดต้าไซน์คือเรื่องของ ฮาร์วาร์ด บิสสิเนส สคูล ซึ่งบทความนี้บอกว่า อาชีพดาต้าไซน์เป็นอาชีพที่ฮิตสุดในศตวรรษที่ 21 ประมาณนั้น ซึ่งตอนนั้นผมหาข้อมูลเกี่ยวกับเดต้าไซน์ในเมืองไทยมีน้อยมาก เพิ่งมาเปิดเมื่อ 2-3 ปีย้อนหลังนี้เอง และยิ่งเป็นด้านเฮลท์ โดยส่วนตัวของผม ผมชอบเรื่องสุขภาพอยุ่แล้ว ชอบชีวะทางการแพทย์ เป็นทางด้านสาธารณสุขมันก็เลยประจวบเหมาะกับหลักสูตรนี้พอดี

ฟลุ๊ค-ธนัชชา: ตอนแรกสนใจทางด้านนี้เพราะว่า สายวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพเป็นสิ่งที่ใหม่มากในตอนนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่หนูเข้าปีหนึ่งแรกๆ มันใหม่มากสำหรับหนูและอาจจะเป็นเรื่องใหม่มากๆ ในสังคมด้วย พอได้เข้ามาเรียน สายงานทางข้อมูลสุขภาพมันสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ค่อนข้างหลากหลาย เพราะเกี่ยวกับข้อมูล และข้อมูลมันก็อยู่รอบๆ ตัวเรา มันอาจจะได้นำไปใช้ในสังคม และที่เรียนอยู่มันก็เป็นข้อมูลสุขภาพ คิดว่าในอนาคตข้อมูลเหล่านี้จะต้องเป็นที่ต้องการในปัจจุบันมากพอสมควร

บอล-ณัฐวุฒิ : เบื้องต้นผมก็สนใจเรื่องของวิทยาศาสตร์สุขภาพ กลุ่ม เฮลท์ไซด์ (Health Science) เป็นต้น ผมก็หาข้อมูลตอนที่จะกำลังศึกษาต่อ และก็มาเจอหลักสูตรนี้ โดนตอนแรกเราก็ไม่รู้รายละเอียดว่ามันเกี่ยวข้องกับอะไร แต่เราก็ไปลองหาข้อมูลมา แล้วพบว่า เทรนในโลกอนาคต เรื่องของการใช้ข้อมูล มันจะสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับเราก็อยากทำงานซัพพอร์ททางด้านสายเฮลท์อยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าตรงนี้น่าจะตอบโจทย์ ที่เราจะเข้ามาเรียน

ต้นข้าว-อสมา : ตอนมัธยมเคยอ่านบทความเกี่ยวกับดาต้าไซน์ ก็เลยทำให้ทราบว่ามันกำลังเป็นเทรน ก็เลยทำให้สนใจด้านนี้ พอเห็นหลักสูตรนี้ก็สนใจเพราะว่ามันน่าเรียน คิดว่าว่ามันเป็นอาชีพมาแรง คือเราโฟกัสว่าอยากทำอาชีพอะไรก็เรียนอย่างนั้น

การเตรียมตัวเรียน

2. การเตรียมตัวเรียนในหลักสูตรนี้ ต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง?

เจมส์-พีรวิชญ์ : โดยสรุปเตรียมพร้อมทั้งหมด 3 อย่าง ส่วนแรกก็คือ โปรแกรมมิ่ง เบสิกโปรแกรมมิ่งตรงนี้ควรที่จะมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นภาษาอาร์หรือภาษาไพทอน (R และ Python) ก็ควรจะมีมาก่อน ส่วนทีสองคือ คณิตศาสตร์ (Mathematics) ในเรื่องของสแตทเบื้องต้น ตรงนี้ควรที่จะรู้มาก่อนก็จะดี ส่วนที่สามคือ ความรู้ (Knowledge)การสาธารณสุข เรื่องของสุขภาพเบื้องต้น อันนี้ยังไม่ต้องเจาะลึก ให้รู้พื้นฐานของชีววิทยามาก่อนก็จะดีมากๆ

ฟลุ๊ค-ธนัชชา : ต้องเตรียมใจให้พร้อมในการไปเรียน เตรียมใจที่จะรับความรู้ใหม่ ๆ ต้องบอกก่อนว่าตอนเรียนแรก เราไม่รู้ว่าสาขานี้มันเกี่ยวกับอะไร มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่มากๆ มันต้องเรียนทางด้านข้อมูลคอมพิวเตอร์และทางด้านข้อมูลสุขภาพไปพร้อมๆ กัน และการเรียนนี้ต้องนำสองศาสตร์นี้มาประยุกต์เข้าด้วยกัน ก็เลยคิดว่าถ้าเรามีความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็จะสามารถเรียนหลักสูตรนี้ได้

บอล-ณัฐวุฒิ : หนึ่งก็ต้องชอบโปรแกรมมิ่งระดับหนึ่ง หรือถ้าไม่ชอบก็ต้องทำใจให้ได้ว่าต้องอยู่กับศาสตร์ด้านนี้ เพราะมันเหมือนเป็นเครื่องมือหลักที่เราจะใช้ในการทำงานด้านนี้ ส่วนต่อไปก็คือเราต้องคงความรู้ด้านเฮลท์ คือต้องมีเรื่องของชีวะ เรื่องของเจเนติก และอนาโตมี่บางส่วน และส่วนสุดท้ายเลยก็คือเบื้องหลังของเครื่องมือที่ใช้ในดาต้าไซด์ คือเราต้องใช้ในเรื่องคณิตศาสตร์โดยเฉพาะสถิติ ถ้ามี 3 ส่วนนี้มาก่อนจะทำให้การเรียนในมหาวิทยาลัย น่าจะง่ายขึ้น

ต้นข้าว-อสมา : ศึกษาข้อมูลก่อน ถ้าเข้ามาแล้วต้องเรียนอะไร ไปดูตัวหลักสูตรว่าเราต้องเรียนอะไรบ้างในอนาคต พอเข้ามาเรียนแล้ว คิดว่าไม่ต้องเตรียมตัวอะไรพิเศษเพราะพอเราเข้าปี 1 เขาก็จะมีการปูพื้นฐานให้ใหม่อยู่ดี เพียงแต่ว่า เราจะต้องรู้ว่าเราจะต้องไปเรียนอะไร

ทำไมเลือกเรียนที่นี่

เจมส์-พีรวิชญ์ อามาตรมนตรี

3. ทำไมถึงเลือกเรียนที่นี่ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แต่ละคนมีหลักเกณฑ์อย่างไรตอนเลือก?

เจมส์-พีรวิชญ์ : มีหลายมุมมอง หลายมิติ ตอนที่ตัดสินใจเลือกเรียนจริงๆ เพราะว่า หนึ่ง ที่นี่มีทุนการศึกษาให้ อย่างที่สองคือเรื่อง ที่นี่มีความเป็นเลิศเรื่องของวิทยาศาสตร์สุขภาพอยู่แล้ว ก็เลยทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ก่อนการตัดสินใจก็ได้ไปอ่านที่หลักสูตร ว่าเขามีรายละเอียดอย่างไร มีใครเป็นอาจารย์ที่สอนบ้าง

และด้วยความที่รุ่นของผมเป็นรุ่นแรก ก็จะเป็นทีแคส 5 รอบ ตอนนั้นก็มีโอกาสมากมาย แต่ที่ตัดสินใจให้เลือกได้ เพราะเรากลับมาถามตัวเองว่าอยากอยู่ตรงจุดไหนมากกว่า อยากทำงานในฟีลไหน เพราะแต่ละคณะ แต่ละสาขาต่างมีจุดที่ยูนีคของตัวเองอยู่แล้ว เราก็ต้องหาตัวตนของตัวเองจริงๆ ว่าตัวตนชอบอะไรกันแน่ ไม่ใช่สังคมบอกว่าเราชอบอะไร พอหาตัวเองก็ทำให้รู้ว่าเราชอบเรื่องของข้อมูลเพราะข้อมูลเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง

ฟลุ๊ค-ธนัชชา: สาเหตุที่เลือกเพราะถูกดึงดูดด้วยชื่อสาขาที่ค่อนข้างแปลกใหม่ ซึ่งเราก็เห็นว่าสาขานี้มีที่นี่แค่ที่เดียว และรู้สึกว่าค่อนข้างน่าเรียนและเป็นประโยชน์มากในอนาคต ก็เลยคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดี เพราะเรียนเกี่ยวกับข้อมูล ซึ่งปัจจุบันสังคมเราถูกขับเคลื่อนไปด้วยข้อมูล ด้วยเทคโนโลยี คิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของเรา บวกกับเรียนสายวิทย์มา อยากลองดูเพราะรู้สึกว่าหลักสูตรนี้น่าจะเป็นประโยชน์จริงๆ

“บอล” ณัฐวุฒิ : ผมอยากทำงานด้านเฮลท์อยู่แล้ว และจากที่ดูถ้าดูตั้งแต่เริ่มต้นหน่วยงานที่นี่ จะเหมือนกับผู้เชี่ยวชาญทางด้าน สุขภาพที่พยายามจะเคลื่อนไหวด้านสุขภาพมาโดยตลอด และตัวสาขาเองผมก็มองว่า ทั้งเฮลท์ที่เป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่แล้ว รวมทั้งตัวดาต้าไซด์ เป็นเทรนในอนาคต เมื่อสาขานี้นำสองส่วนนี้มารวมกัน ผมมองว่ามันมีโพรเทนเชียลที่เราจะสามารถหาความรู้และนำไปใช้ต่อได้ในอนาคตก็เลยมาศึกษาที่นี่แรกๆ ผมก็ต้องประเมินคะแนนของตัวเองก่อนเป็นหลัก ว่าคะแนนของตัวเองก่อนว่าคะแนนประมาณนี้เราจะอยู่ช่วงไหนได้บ้าง หลักเกณฑ์เริ่มต้นคือความชอบบวกกับคะแนนที่เรามี แล้วค่อยมาวิเคราะห์ดูว่ามีที่ไหนที่จะตอบโจทย์ ที่เราต้องการ

“ต้นข้าว” อสมา : เพราะสนใจหลักสูตรนี้อยู่แล้ว และตอนนั้นก็ไม่ค่อยมีที่ไหนเปิด ที่นี่เป็นที่แรกๆ ที่สอนด้านนี้ก็เลยเรียนที่นี่เลยค่ะ หลักการเลือกคณะ หนึ่งต้องเป็นสิ่งที่เราสนใจ สองเรียนจบแล้วมีงานทำไหม? ซึ่งค่อนข้างวอรี่ตรงนี้ สามมาเรียนแล้วชอบ เรียนไปเรียนมาสนุกดี อย่างวิชาดาต้าไซน์หรือแมทช์ชีนเลิร์นนิ่งจะมีงานที่แบบให้ทำโมเดลโน่นนี่ พอเราได้สร้างโมเดลแล้วมันเป็นงานที่สนุก ทำไปทำมาก็อยากทำโมเดลให้เก่งขึ้น แม่นขึ้นค่ะ ทั้งนี้มีเสน่ห์และความท้าทายอยู่ที่ แต่ละคนมีวิธีสร้างโมเดลต่างกัน ขึ้นอยู่ที่ว่าเราต้องการสร้างแบบไหนแล้วมันเหมาะไหม แต่ละคนทำก็จะไม่เหมือนกัน

บรรยากาศการเรียน ทั้ง 2 สถาบัน

บอล-ณัฐวุฒิ แถมเงิน

4. ทราบว่าไปเรียนถึงสองสถาบันฯ อยากให้เล่าให้ฟัง ถึงบรรยากาศการเรียนการสอนแต่ละฝั่งให้ฟังหน่อย

เจมส์-พีรวิชญ์ : บรรยากาศการเรียนการสอน ถ้าที่บางมดก็เน้นเลคเชอร์เป็นพื้นฐานเสียส่วนใหญ่ มีดิสคัทบ้าง แต่ที่เป็นดิสคัทซิกเนเจอร์ น่าจะเป็นที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ด้วยความที่ว่ามีผู้เรียน 25 คน การจัดกลุ่มย่อย การเรียนแทบจะตัวต่อตัวเลย และในหนึ่งรายวิชา มีอาจารย์เป็นสิบคน มันก็เลยจะสนุกไปอีกแบบ แต่บรรยากาศที่บางมดก็จะแปลกไปจากวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตรงที่เราจะได้เรียนร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ดังนั้นเราก็จะมีเพื่อน ต่างภาควิชาด้วย

ฟลุ๊ค-ธนัชชา : ใน มจธ. (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี) ในรายวิชาหนึ่งก็จะมีอาจารย์วิชาสอนเลคเชอร์และก็มีทำแลป กลับมาในส่วนของราชวิทยาลัย ในหนึ่งรายวิชาก็จะมีอาจารย์หลายคนสอน บางคาบจะมีอาจารย์พิเศษจากข้างนอกมาช่วยให้ความรู้ด้วย ต่างกันคนละแบบ ทางด้าน มจธ. ก็จะรู้สึกมันโฟร์มากกว่า เพราะคนเดียวสอนเขาจัดการคนเดียว แต่ว่าทางด้านจุฬาภรณ์ บางครั้งการโคกันมันจะไม่ต่อเนื่อง มันก็จะมีความแตกต่าง แต่อาจารย์แต่ละท่านสอนดี

“บอล” ณัฐวุฒิ : ที่ผ่านมาเบื้องต้นเราเรียนกับสถาบันมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี เป็นหลัก อันนั้นก็จะเหมือนกับบ้าน เพราะเราจะเรียนที่โน่นเยอะเป็นพิเศษ ทุกอย่างก็ค่อนข้างส่งเสริมต่อการเรียนรู้ได้ดี แต่ทางด้าน วิทยาลัยจุฬาภรณ์ของผมก็จะเรียนแค่อาทิตย์ละวัน เหมือนเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ ในแต่ละอาทิตย์ ก็จะได้เปลี่ยนบรรยากาศมาเรียนที่นี่บ้าง ช่วงก่อนโควิด และทางด้านวิทยาลัยฯ ก็จะมีกิจกรรมมาให้เราตลอด พอให้ได้พบปะกับคนอื่น และจะมีบทบาทเหมือนกับได้เจอกับญาติที่ห่างหายกันไป ในขณะที่ที่บางมดก็จะเหมือนกับเราอยู่กับบ้านอยู่แล้ว การที่เราได้เรียน 2 ที่ก็จะได้เปรียบตรงที่มีหลากหลายบรรยากาศ หลากหลายอารมณ์

“ต้นข้าว” อสมา : ส่วนใหญ่ก็จะเรียน มจธ. แต่จะมีแค่วันพุธที่ต้องไปเรียนกับวิชาฝั่ง มจพ. เขาก็จะมีรถบัสรับส่งให้ สนุกมาก ได้รู้จักอาจารย์เก่งจาก 2 มหาวิทยาลัย ถามว่าทั้ง 2 ที่สอนต่างกันไหม มันต่างกันตรงที่ตัววิชา อย่าง ววจ.ก็จะเป็นวิชาฝั่งเฮลท์หรือทางด้านสุขภาพ แต่ว่า ฝั่ง มจธ.หรือว่าบางมดจะเป็นวิชาวิศวะคอม ก็จะมีการเขียนโค้ต เนื้อหาก็ตามรายวิชานั้นๆ

หลักสูตรนี้เหมาะกับใคร

ต้นข้าว-อสมา ตั้งปรมัตถ์สกุล

5. ช่วยบอกน้องๆ ที่กำลังหาข้อมูล คิดว่า สำหรับหลักสูตรนี้ เหมาะกับใคร บุคลิกประมาณไหน ชอบวิชาอะไร มีคาแรคเตอร์แบบไหนเป็นพิเศษ?

เจมส์-พีรวิชญ์ : สำหรับน้องๆ ที่จะมาเรียนหลักสูตรนี้ เหมาะกับน้องๆ ที่เก่งในการตั้งคำถาม ถ้ากล้าคิด กล้าตั้งคำถาม เป็นนักวิทยาศาสตร์ได้แน่นอน กล้าตั้งคำถามไม่พอ แต่ต้องกล้าที่จะหาคำตอบด้วย

ดังนั้น น้องๆ ที่มีบุคคลิกที่จะมาเรียนดาต้าไซน์ หนึ่งคือต้องกล้าตั้งคำถาม สองกล้าหาคำตอบ อย่างที่สามก็คือ จะต้องมีความกล้าแสดงออกนิดหนึ่ง เพราะการเป็นเฮลท์ ดาต้าไซน์ที่ดีจะต้องสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้ด้วย เพราะดาต้าไซน์จะไม่เหมือนดาต้าเอ็นจีเนียร์ที่จะต้องนั่งเฉพาะคอมคลิกข้อมูล แต่ดาต้าไซน์จะต้องนำอินไซด์ข้อมูลนั้นๆ มาพูดกับผู้บริหารหรือว่าคนที่สามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อเข้าใจได้ด้วย ตรงนี้คือคีย์เวิร์ดสำคัญ

ฟลุ๊ค-ธนัชชา : หลักสูตรนี้เป็นการรวม 2 ด้านไว้ด้วยกัน ทั้งข้อมูลทางด้านคอมพิวเตอร์ และข้อมูลทางด้านสุขภาพ แต่พอเข้ามาเรียนๆ คิดว่ามันเหมาะสมกับคนที่สนใจทางด้านโปรแกรมมิ่งเป็นหลัก เพราะการทำงานด้านดาต้า ถ้าเราทำโปรแกรมมิ่งได้ มันก็จะดีกว่า อย่างข้อมูลสุขภาพมันสามารถใช้ข้อมูลทางด้านอื่นได้ เลยคิดว่าถ้ามีความชอบทางด้านโปรแกรมมิ่งเป็นหลัก ก็น่าจะเหมาะสมกับสาขานี้มากกว่า

ถ้าไม่อยากเสียเวลาไปเรียนทางด้านข้อมูลอื่น ข้อมูลทางด้านสุขภาพก็สำคัญเหมือนกัน รู้ 2 ด้านก็ดี สรุปคือหลักๆ เรื่องโปรแกรมมิ่ง รองลงมาคือข้อมูลสุขภาพ พวกชีวะและคอมพิวเตอร์ และอาจจะมีทางด้านสถิติด้วย

บอล-ณัฐวุฒิ : ถ้ารู้ตัวเองว่าชอบโปรแกรมมิ่งแต่ว่าไม่ได้อยากทำในสายงานที่โดยปกติมีอยู่แล้ว นี่ก็ถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่เอาโปรแกรมเมอร์ในสาขาใหม่ ก็จะได้เลือกให้ตัวเอง และคนที่มาเรียนแล้วผมคิดว่าน่าจะมีความสุข ก็คือคนที่สนใจเรื่องโปรแกรมเมอร์ด้วย เรื่องของโค้ดดิ้ง และด้านของชีววิทยา เขาน่าจะมีความสุขกับการทำงานสาขานี้ เพราะว่าก่อนหน้านี้ มันไม่มีสาขาไหนที่เอา 2 เรื่องนี้มารวมกันเป็นจริงจังเท่ากับสาขานี้ คนที่สนใจ 2 ศาสตร์นี้น่าจะเรียนตรงนี้ได้

สำหรับคนที่จะมาเรียนตรงนี้ ผมก็ขอฝากนิดหนึ่งว่า สาขาของเราเฉพาะมุมมองของชาวโปรแกรมเมอร์เครื่องมือต่างๆ หรือองค์ความรู้ต่างๆ มันไปไวมาก ๆ เพราะฉะนั้นคนที่มาเรียนผมก็อยากฝากให้ไม่กลัวที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ ผมว่าแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็น่าจะเพียงพอ และสามารถที่จะเรียนรู้ตรงนี้ได้

“ต้นข้าว” อสมา : น่าจะเป็นคนที่ชอบเขียนโค้ต ชอบคอมพิวเตอร์ ชอบเรียนด้านไบโอ ชอบเรียนด้านสุขภาพไบโอ หรือถ้ามีพื้นฐานภาษาอังกฤษมาเยอะๆ ก็ดีเพราะว่าเวลาเรียนต้องอ่านเปเปอร์เยอะมาก เพราะเปเปอร์ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ถ้าภาษาอังกฤษแน่นก็จะค่อนข้างได้เปรียบ ถ้าตัว ม.ปลายวิชาคอมพิวเตอร์ไม่สอนเขียนโค้ตมาอยู่แล้ว

เรียน 4 ปี ต้องเจออะไรบ้าง

ฟลุ๊ค-ธนัชชา ทองจิตติพงศ์

6. สุดท้าย ฝากถึงน้องๆ เพื่อให้เห็นภาพ สี่ปีที่จะต้องเจอในหลักสูตรนี้แน่ๆ

เจมส์-พีรวิชญ์ : ถามว่าเครียดไหม เอาจริงๆ ก็แอบเครียดพอสมควร เพราะว่าการที่เราจะเข้าใจข้อมูลได้เราต้องเอาตัวของเราไปอยู่กับข้อมูล ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถหาอินไซด์ของข้อมูลได้ ก็แอบเครียด แต่ถ้าถามว่าคลายเครียดอย่างไร ผมว่าการหาอินไซด์ของข้อมูลหรือการทำงานของเรา เหมือนเรากำลังเล่นเกมอยู่ พยายามมองในมุมของการทำข้อมูลมันไม่ใช่การมาทำงาน เพราะพวกเราจะโดนอาจารย์สอนมาแบบนี้ ว่าการทำข้อมูลมันอาจจะเครียด ข้อมูลมีเป็นแสนๆ ล้านๆ คอลัมน์ ข้อมูลเป็นบิ๊กดาต้า แต่สุดท้ายแล้วเราสามารถใช้โปรแกรมมิ่ง ในการซีเล็กซ์และอินไซด์ข้อมูลออกมาได้

ถามว่าช่วงหนึ่งถ้ามันเครียดมากๆ ผมก็จะอยู่กับตัวเอง ตั้งสติและอยู่กับตัวเอง หรืออาจจะไปพูดคุยกับอาจารย์ว่าขัดข้องตรงไหน ไม่สบายใจตรงไหน ก็ปรึกษากับอาจารย์ได้ หรือว่าอาจจะดูหนัง ฟังเพลง ใช้ชีวิตไลฟ์สไตล์ ได้ เพราะบางครั้งแล้วการคลายเครียดที่ดีที่สุดอาจจะเป็นแค่การทำอะไรง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องแอดวานซ์มากเกินไป เพราะนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มักจะคิดอะไรที่แอดวานซ์มากๆ ทั้งๆ ที่มันอาจจะแก้ปัญหาได้ง่ายๆ บางข้อมูลอาจจะใช้แค่เอ็กเซลแก้ปัญหาได้ แต่เราอาจจะคิดไปไกลว่าต้องใช้โปรแกรมมิ่ง ต้องใช้ภาษาอาร์ ต้องใช้ไพทอลนะถึงจะแก้ปัญหาได้ สุดท้ายแล้ววิธีการคลายเครียดก็คือการกลับมาดูในสิ่งที่แก้ปัญหาได้ง่ายที่สุด เท่านั้นเอง

ฟลุ๊ค-ธนัชชา : งานข้อมูลเป็นงานที่หนักมากๆ เพราะถ้าข้อมูลผิดพลาดแค่นิดเดียวมันก็จะทำให้ผิดพลาดทั้งหมด ถ้าไปทำงานจริงๆ ข้อมูลมันมีจำนวนมาก และมีขั้นตอนในการจัดการที่เยอะ ถ้าเราจัดการไม่ดีก็จะส่งผลไปยังขั้นตอนถัดๆ ไป ซึ่งเราจะต้องนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งาน แต่การเรียนหลักสูตรนี้ ทำให้เราจัดการกับข้อมูลง่ายขึ้น การคลีนข้อมูลให้พร้อมใช้งาน บางส่วนที่ขาดหายไป ควรจะทำอย่างไร และการนำข้อมูลตรงนี้ไปใช้ต่อ สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อ จริงๆ ขั้นตอนยังมีอีก แต่หลักๆ ก็มีประมาณนี้ ส่วนตัวมองว่านำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้รวมถึงงานทุกแขนง

บอล-ณัฐวุฒิ : 4 ปีที่มาเรียนหลักสูตรนี้จะเจอความท้าทายและความสนุกเป็นอันดับแรก (หัวเราะ) ภาพรวมทั้งหมด เพราะที่นี่ไม่ได้มีแค่การเรียนอย่างเดียว เรายังกิจกรรมให้ทำร่วมกันด้วย และถ้าพูดถึงเรื่องของการเรียน ปีหนึ่ง เราก็จะเรียนเรื่องพื้นฐานหมดเลย พื้นฐานโปรแกรมมิ่ง พื้นฐานคณิตศาสตร์ พื้นฐานทางชีววิทยา หรือว่าทางด้านสาธารณสุขทางการแพทย์ พอมาปี 2 เราก็จะได้จับเรื่องข้อมูลแล้ว แต่ก็จะเป็นเรื่องดาต้าเบส เป็นพื้นฐานเกี่ยวกับข้อมูล ดาต้า สตรัคเจอร์ (DATA STRUCTURE) ข้อมูลเป็นอย่างไร มีแหล่งที่มาของข้อมูลอย่างไร มีการโปรข้อมูลอย่างไร

ในปี 3 ก็จะเป็นเรื่องของดาต้าไซน์ล้วนๆ ก็จะเรียนวิชาดาต้าไซน์ เรียนวิชาบิ๊กดาต้า เรียนบิสซิเนส อินเทลลิเจนท์ (BUSINESS INTELLIGENT) เริ่มหาอินไซด์ของข้อมูลแล้ว แล้วพอมาปี 4 ซิกเนเจอร์ของเราคือช่วงเวลาของโปรเจค ช่วงที่เราเรียนมา 3 ปี เราจะเอาความรู้ตรงนั้น มาทำโปรเจคต์อะไรได้บ้างเพื่อที่จะนำมาแก้ปัญหาสังคมของเรา อันนี้มุมของการเรียน แต่ในมุมของกิจกรรม กิจกรรมของเรา ก็อย่างที่ถามมาเลย เพราะว่าเราเป็นนักศึกษาที่เรียน 2 สถาบัน ดังนั้นเราเหมือนเป็นนักศึกษา 200 เปอร์เซ็นต์ ก็คือเรามีบัตรนักศึกษา 2 ใบ มีชุดนักศึกษา 2 ชุด และการทำกิจกรรมของเราก็จะอยู่ทั้ง 2 ที่เราก็จะมีกิจกรรมคูณ 2 เลือกได้ตามสบายเลย ว่าอยากจะร่วมกิจกรรมอะไรบ้าง

“ต้นข้าว” อสมา : เครียดบ้างแต่ก็ไม่ได้เครียดตลอดเวลา ก็มีแบ่งเวลา มาทำ ฮอบบี้ของเรา แบ่งเวลามาฟังเพลง ดูหนัง ก็ปกติ คิดว่าคณะอื่นก็น่าจะเป็นเหมือนกัน โดยย่อหลักสูตรนี้ ปีหนึ่ง ปีสอง ก็จะเป็นวิชาทางด้านเฮลท์และคอมที่เรียนแยกกัน แต่ช่วงปี 3 เทอมสองและปี 4 ได้เอาวิชาที่เรียนมาก่อนหน้านั้น เอามารวมกันจริง คือด้านคอมและเฮลท์คือได้ทำโปรเจคต์ ซึ่งปี 4 จะได้ทำ ซีเนียร์โปรเจค แล้วตอนฝึกงานก็จะได้ทำจริงๆ

ความสนุกสนาน น่าจะอยู่ที่การทำโปรเจคนต์นี่แหละค่ะ สนุกมาก มีทำทั้งรายคนและรายกลุ่ม และเป็นการทำที่ได้นำวิชาที่เรียนมาใช้จริงๆ ท้ายสุด อยากบอกว่า ข้อมูลคือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และเกิดขึ้นทุกที่ทุกเวลาแหละ เราจะสามารถนำข้อมูลที่เกิดขึ้นมาสร้างอะไรได้บ้าง อย่าง หลักสูตรที่เรียนนี้คือการเอาข้อมูลที่เกิดขึ้นมาสร้างข้อมูลใหม่ขึ้นมา ซึ่งอนาคตถ้านำไปใช้เกี่ยวกับสุขภาพ จะทำให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยี เกิดการพัฒนาทางด้านการรักษาและยา ส่งผลให้สุขภาพของมนุษย์ทุกคนดีขึ้น”

น.สพ.ดร.พีรุทย์ เชียรวิชัย

จบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง ?

คงดีไม่น้อย ถ้าอาชีพการงานของเรา ได้มีส่วนช่วยเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากโรคภัยและความเจ็บปวด ไม่นับรวมถึงสาขาอื่นที่หลักสูตรนี้ต่อยอดไปได้ทุกทาง อาทิ 1. นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล 2. นักวิเคราะห์ข้อมูล 3. นักพัฒนาซอฟต์แวร์และระบบข้อมูล 4. ผู้จัดการซอฟต์แวร์และข้อมูล 5. นักวิชาการคอมพิวเตอร์ ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pccms.ac.th , Facebook : Health Data Science PCCMS KMUTT

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง