การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลทักษะสูง การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา รัฐบาลจึงมีการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ววน. ของประเทศขึ้นมาใหม่ ผ่านการจัดตั้ง กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เพื่อให้การสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน และส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยที่เกิดขึ้น ไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
ส่องแผนการเดินหน้า “กองทุน ววน.” ฉบับใหม่
โดยรัฐบาลยังได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ สกสว.เป็นฝ่ายเลขานุการของกองทุน ววน. ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบ ววน. ใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่
1. การจัดทำแผน 2. การจัดสรรงบประมาณของกองทุน ววน. 3. การส่งเสริมกลไกการพัฒนาระบบ 4. สร้างระบบการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ และ 5.การติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งการปฏิรูประบบ ววน. ของประเทศกำลังเดินทางเข้าสู่ปีที่ 5 กับแผนด้าน ววน. ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)
ทั้งนี้ เพื่อฉายภาพความสำคัญของระบบ ววน. ให้มากยิ่งขึ้น รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ สกสว. จึงมีแนวทางการเดินหน้างานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้เข้มแข็งและถูกนำไปใช้อย่างตรงกับความต้องการในหลากหลายด้าน ตลอดจนฉายภาพความท้าทาย ในปี 2567 ที่จะทำให้วิจัย นวัตกรรม และวิทยาศาสตร์ถูกนำไปใช้ได้ตรงกับทุกบริบท
186 หน่วยงาน กับการสานต่องบประมาณด้าน ววน.
หลังปฏิรูปฯ การจัดสรรงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศผ่านกองทุน ววน. ซึ่งแบ่งงบประมาณออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ งบประมาณในการสนับสนุนการวิจัยขั้นพื้นฐานและเสริมสร้างศักยภาพการวิจัย ให้กับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวง อว. (Fundamental Fund, FF) ณ ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ รวม 186 หน่วยงาน และงบประมาณในการสนับสนุนความจำเป็นเร่งด่วนสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ (Strategic Fund, SF) ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนทั้ง 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย
1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
2. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
3. สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.)
4. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
5. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
6. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และสร้างนวัตกรรม (บพค.)
7. หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
8. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)
และ 9. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (NVI)
ขณะที่แผนด้าน ววน. ฉบับที่ 2 นี้มีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมอีก 2 ส่วน คือ งบประมาณส่งเสริมการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization, RU) มุ่งเน้นการใช้ผลงานวิจัยเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณะทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ แบบบูรณาการ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษา และภาคประชาสังคม
ภายใต้ พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 และงบประมาณส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology, ST) มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสนับสนุนระบบนิเวศของการขับเคลื่อนวิทยาการใหม่ พร้อมกับสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับประเทศ อีกทั้งยังเป็นการแก้ไขข้อจำกัด ในการสนับสนุนงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานและครุภัณฑ์ ของหน่วยงานที่ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์
“วิจัย” ที่สอดคล้องกับความจำเป็นของประเทศ
จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว สภาพภูมิอากาศ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองของแต่ละภูมิภาคในโลก ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น เพื่อพร้อมรับมือกับบริบทโลกเหล่านี้ เช่นเดียวกัน แผนด้าน ววน. จึงต้องสอดคล้องกับความต้องการของประเทศอย่างทันเหตุการณ์ ทำให้ต้องมีการทบทวนแผนด้าน ววน. ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย ให้เหมาะสม
เช่น การให้ความสำคัญกับการสนับสนุน ววน. ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และซอฟท์พาวเวอร์ ความเป็นกลางทางคาร์บอน การแก้ปัญหาความยากจน และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และมีความยืดหยุ่นในการจัดสรรงบประมาณมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและนโยบายที่สำคัญของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณแบบผูกพันงบประมาณมากกว่า 1 ปี (Multi-year Promised Grant) เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง โดยในปี 2566-2567 ได้สนับสนุนจำนวน 4 โครงการ ได้แก่
1) โครงการ “การวิจัยทางคลินิกและการขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด NDV-HXP-S” โดย NVI เป้าหมายคือ การผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิด NDV-HXP-S แบบ Full License ซึ่งคลอบคลุมสำหรับกลุ่มอายุ 3 ปีขึ้นไป รวมถึงในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เสร็จสมบูรณ์ในปี 2570 และสามารถใช้ได้จริงในการให้บริการ และมีความพร้อมในการให้บริการทั้งในและต่างประเทศ
2) โครงการ “การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และแบตเตอรี่แพ็คที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม ตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านและแข่งขันได้กับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ” โดย บพข. เป้าหมายคือ
1) ผลิตแบตเตอรี่แพ็ค ที่ร่วมกันออกแบบและพัฒนาต่อยอดการประกอบแบตเตอรี่โดยคนไทย โดยการนำเข้าชิ้นส่วนหลักที่สำคัญจากต่างประเทศ และใช้ชิ้นส่วนสนับสนุน (Suppliers) ในประเทศ (Local Content) อย่างน้อย 20% ให้ผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ และผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยเทียบเท่าระดับสากล พร้อมขายออกสู่ตลาด
และ 2) ยานยนต์ไฟฟ้า ที่ร่วมกันออกแบบและพัฒนาต่อยอดระบบการประกอบ (System Integration) โดยคนไทย โดยการนำเข้าชิ้นส่วนหลักที่สำคัญจากต่างประเทศ และใช้ชิ้นส่วนสนับสนุน (Suppliers) ในประเทศ (Local Content) อย่างน้อย 20% ให้ผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ และผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยเทียบเท่าระดับสากล พร้อมขายออกสู่ตลาด
3) โครงการ “การพัฒนาแพลตฟอร์มแก้ไขปัญหาและขจัดความยากจน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำแบบบูรณาการใน 5 จังหวัดเป้าหมาย” โดย บพท. เป้าหมายคือ แพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด (Provincial Poverty Alleviation Platform: PPAP) ซึ่งพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ 7 จังหวัด นำไปใช้ในการขับเคลื่อนงานขจัดความยากจนในพื้นที่
4) โครงการ “การพัฒนาแพลตฟอร์มธุรกิจชุมชน บนฐานทุนทางทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น และการจัดการทุนทางวัฒนธรรมชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้หนี้ระดับธุรกิจและครัวเรือน” โดย บพท. เป้าหมายคือ การพัฒนาระบบการจัดการทุนทางวัฒนธรรม และการพัฒนาระบบจัดการธุรกิจชุมชนบนฐานทุนทางทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น (Local Enterprise) เพื่อการสร้างรายได้ให้กับชุมชน กระจายรายได้ให้กับชุมชน และหนี้ระดับธุรกิจและครัวเรือนกลุ่มเป้าหมายลดลง
กองทุน ววน. สอดรับความต้องการด้วยการประเมินผล
เพื่อให้สามารถระบุปัญหาและช่องว่างของการพัฒนาระบบ ววน. จึงได้จัดทำการทบทวนและประเมินผลการดำเนินงาน โดยมีการทบทวนความสอดคล้องระหว่างศักยภาพของ PMU และหน่วยงานที่ทำวิจัยกับงบประมาณที่จัดสรรให้ ทั้งในด้านการดำเนินงานตามแผน ด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Past Performance) ด้านกระบวนการบริหารจัดการ รวมถึงการประเมินความสำเร็จของกองทุน ววน. ที่สามารถสร้างผลลัพธ์ผลกระทบ ตลอดจนนำข้อมูลในอดีตมาวิเคราะห์สู่การปรับปรุง พร้อมกันนี้เพื่อสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
สกสว. จึงมีการจัดการอบรมพัฒนาเครือข่ายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของระบบ ววน. ให้ผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น โครงการพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรระดับปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมให้เกิดการออกแบบงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ เล็งเห็นเป้าหมายปลายทางของการวิจัย นำมาซึ่งผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ ขับเคลื่อนไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน หรือ one ววน.
ปี พ.ศ. 2567 ปีแห่งความท้าทาย
นอกจากการส่งเสริมระบบ ววน. ตามพันธกิจแล้ว การตอบสนองนโยบายของรัฐบาลใหม่ก็เป็นสิ่งที่ สกสว. ให้ความสำคัญและเตรียมพร้อม โดยมองว่าในช่วง 6 เดือนข้างหน้า มีประเด็นท้าทายไม่ว่าจะเป็น
1. การศึกษาแนวทางในการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ ผ่านการร่วมทุนกับนักลงทุนมืออาชีพ เพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีสินค้าและบริการจากงานวิจัย
2.การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจร่วมกับสภาพัฒน์ด้วยแนวทางเอกชนนำ รัฐสนับสนุน เพื่อให้เกิดการลงทุนและยกระดับกำลังคนให้มีทักษะสูง
3.การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบครบวงจร นำร่องในพื้นที่ภาคเหนือ
4.การนำงานวิจัยมายกระดับภาคการเกษตรเพื่อลดต้นทุนและสร้างรายได้สู่การเกษตรมูลค่าสูง
5. แผนการลงทุนด้าน ววน. ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และดิจิทัล AI
6. การเปิดใช้งาน open data ของกองทุน ววน. ให้กับสาธารณะ เพื่อใช้ในการหาข้อมูลงานวิจัย เทคโนโลยีที่พร้อมใช้ และโครงการพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่พร้อมให้บริการในแต่ละพื้นที่
และ 7.การเร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว เทคโนโลยีกักเก็บก๊าซเรือนกระจกรวมถึงการนำไปใช้ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ
ที่กล่าวมานี้ ต้องอาศัยการบูรณาการข้ามศาสตร์ ข้ามหน่วยงาน ลดช่องว่างของอุปสรรคการทำงานร่วมกัน โดย สกสว. เองพร้อมให้การสนับสนุนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืน
ข้อมูลจาก www.tsri.or.th