สำหรับ ธรณีวิทยา เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับโลก สสารชนิดต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของโลก เช่น แร่ หิน ดิน น้ำ และยังรวมถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในโลก ตั้งแต่การกำเนิดโลกจนถึงปัจจุบัน ที่ได้มีการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในกระบวนศึกษาทั้งในระดับโครงสร้าง ส่วนประกอบทางกายภาพ เคมี และชีววิทยา
ธรณีวิทยา สาขาวิชาที่ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลก
เพื่อที่จะทำให้เรารู้ถึงประวัติความเป็นมาและสภาพแวดล้อมในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งภายในและภายนอกของสภาพพื้นผิว นอกจากนี้ยังมีการศึกษาด้านวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต รูปแบบและวิธีการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อีกด้วย
ธรณีวิทยามีความสำคัญอย่างไร?
ธรณีวิทยา มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Geology เป็นสาขาวิชาที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบ โครงสร้าง และกระบวนการตามธรรมชาติของโลกที่เกิดขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาทางธรณีกาล โดยจะเป็นการศึกษาจากหลักฐานที่ค้นพบในชั้นหินและซากดึกดำบรรพ์ ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์
โดยสามารถแบ่งออกเป็นหลากหลายสาขาวิชา เช่น ธรณีวิทยากายภาพ (Physical Geology), ธรณีวิทยาโครงสร้าง (Structural Geology),ธรณีวิทยาแปรสัณฐาน (Geotectonics, Tectonics), ตะกอนวิทยา (Sedimentology), ธรณีสัณฐานวิทยา (Geomorphology), ธรณีเคมี (Geochemistry), ธรณีฟิสิกส์ (Geophysics), ธรณีอุทกวิทยา (Geohydrology) และบรรพชีวินวิทยา (Paleontology) เป็นต้น
ซึ่งความรู้ทางธรณีวิทยามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติ เช่น การก่อสร้างเส้นทางในการคมนาคม เขื่อนเก็บน้ำ โรงผลิตกระแสไฟฟ้า การสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม การสำรวจหาแหล่งแร่ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และการกำหนดพื้นที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ เป็นต้น
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
น้อง ๆ คนไหนสนใจจะเข้าศึกษาต่อ สาขาวิชาธรณีวิทยา ในระดับปริญญาตรี จะต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) และคณิตศาสตร์เป็นอย่างดี ส่วนมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน มีดังต่อไปนี้
1. หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (วท.บ.)
- ภาควิชาธรณีวิทยา (Geology) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : คลิกที่นี่
- ภาควิชาธรณีวิทยา (Geological Sciences) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : คลิกที่นี่
- ภาควิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี (Geotechnology) มหาวิทยาลัยขอนแก่น : คลิกที่นี่
- สาขาวิชาธรณีศาสตร์ (Geosciences) ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี : คลิกที่นี่
- สาขาวิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ (Earth Sciences) ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : คลิกที่นี่
2. หลักสูตรปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ (วศ.บ.)
- วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี (Geotechnology) สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี : คลิกที่นี่
จบแล้วทำงานด้านไหน?
สำหรับน้อง ๆ ที่เรียนจบออกมานั้นสามารถประกอบอาชีพเป็น “นักธรณีวิทยา” ในด้านต่าง ๆ ได้ดังนี้
1. ด้านวิชาการสำรวจธรณีวิทยาและแหล่งแร่ เช่น กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ บริษัทปูนซิเมนซ์ไทย บริษัทปูนซิเมนซ์นครหลวง เป็นต้น
2. ด้านวิชาการธรณีวิทยาและที่ดิน เช่น กรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น
3. ด้านสำรวจแหล่งถ่านหิน เช่น บริษัทการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัทเหมืองบ้านปู เป็นต้น
4. ด้านสำรวจฐานรากเขื่อน เช่น บริษัทการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน เป็นต้น
5. ด้านธรณีวิศวกรรมฐานราก เช่น กรมทางหลวง บริษัทอิตัลไทย บริษัทการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น
6. ด้านสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เช่น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บริษัทเชลล์ บริษัทชลัมเบอร์เจ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริษัทยูโนแคล เป็นต้น
7. ด้านวิชาการสำรวจน้ำบาดาล เช่น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นต้น
บทความที่น่าสนใจ
- สาขาภูมิศาสตร์ เรียนอะไร? จบไปทำอะไร? พร้อมมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
- แนะนำสาขาน่าเรียน วิศวกรรมการบินและอวกาศ | เรียนจบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง?
- คณะโบราณคดี เรียนอะไรบ้าง? จบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง?
- การท่องเที่ยวและการโรงแรม เรียนที่ไหนดี จบแล้วทำงานอะไร?
ข้อมูลจาก : www.geo.sc.chula.ac.th, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.geothai.net
Written by : Toey