อาชีวะไทย ปรับตัวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ผลิตเด็กช่างพรีเมียม เพื่อตลาดงานอุตสาหกรรม

ในปัจจุบันทรัพยากรบุคคลที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ เด็กช่าง ที่มีทักษะในการทำงาน มีทักษะสมรรถนะอาชีพ มีคุณธรรม และจะต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยีให้เข้ากับยุคดิจิทัลด้วย ต้องรู้จักการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของตลาดแรงงานในปัจจุบัน

อาชีวะไทย ผลิตเด็กช่างพรีเมียม ไทยแลนด์ 4.0

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลได้มีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนของสายอาชีวศึกษาให้ก้าวทันยุคไทยแลนด์ 4.0 หรือยุคดิจิทัล เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการเด็กสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดเผยว่า อาชีวะได้จัดการศึกษาเพื่อตอบสนองนโยบาย 4.0 ผลิตนักศึกษาให้สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมหลัก โดยได้มีการพัฒนาหลักสูตรอาชีวะพรีเมียม หรือโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพหลักสูตรอาชีวศึกษาตามนโยบายรัฐในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ สาขาระบบขนส่งทางราง สาขาแม็คคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ สาขาช่างอากาศยาน สาขาหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม สาขาโลจิสติกส์ และสาขาเกษตรสมัยใหม่ (สมาร์ทฟาร์มมิ่ง)

รวม 27 วิทยาลัย ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ร่วมกับวิทยาลัยจากต่างประเทศ โดยผู้ที่จบการศึกษาจะได้รับทวิวุฒิ และมี 2 สาขา คือ สาขาระบบขนส่งทางราง สาขาแม็คคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ได้ทำการเริ่มรับสมัครนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2561 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งในแต่ละสาขาก็ได้มีการร่วมมือกับต่างประเทศด้วย เช่น สาขาระบบขนส่งทางราง ร่วมมือกับประเทศจีน, สาขาช่างอากาศยาน ร่วมมือกับบริษัทในต่างประเทศ อย่างเยอรมนี สายการบินในไทยและต่างประเทศ ฯลฯ เพื่อพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงไปของกระแสโลกในปัจจุบัน

สอศ. ได้มีการปรับกระบวนการบริหารให้วิทยาลัยอาชีวะทุกแห่ง มีระบบฐานข้อมูลข้อมูลเชิงดิจิทัล และจัดทำฐานข้อมูล หรือ Big Data ขึ้นมา เพื่อให้วิทยาลัยแต่ละแห่งได้เห็นถึงทิศทางการพัฒนากำลังคนและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน

เนื่องจากในปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศได้มีการเปลี่ยนแหลงจากภาคการผลิตไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เรียนรู้นวัตกรรมเพื่อนำพาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งการทำเช่นนี้นอกจากจะเกิดประโยชน์ต่กนักเรียน ครู และสถาบันการศึกษาแล้ว ยังมีประโยชน์ในระดับภูมิภาคด้วยกระบวนการจัดการเรียนการสอน ที่ตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 (เน้นโครงงานแบบฐานวิทยาศาสตร์)

ทั้งนี้ มีวิทยาลัยที่เป็นโครงการนำร่องทั้งหมด 5 แห่งด้วยกัน ได้แก่ จังหวัดพังงา จะเน้นด้านอุตสาหกรรมการบริการ คือ ด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม และอีก 4 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) เน้นด้านช่างอุตสาหกรรม, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน เน้นด้านเกษตรกรรม (เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร) และวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี เน้นด้านเทคโนโลยีการอาหาร

โดยจะใช้โครงงานเป็นฐานในการเรียนการสอน และมีแนวทางการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ที่เรียกว่า สะเต็ม เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะคำนึงถึงคุณภาพของผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญ

นายสุเทพ ยังได้กล่าวต่ออีกว่า ครูเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนา โดยในปัจจุบัน สอศ. มีหลักสูตรพัฒนาครู 84 หลักสูตรการเรียนรู้ และมีครูอาชีวะตามเกณฑ์ 33,000 คน เป็นครูประจำ 16,000 คน และเป็นครูอัตราจ้าง 17,000 คน ดังนั้นจึงได้มีการเปิดโอกาสให้นักศึกษา ครูคณาจารย์ ได้มีโอกาสในการเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ เพื่อให้บุคคลากรเหล่านั้นสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ ๆ ได้อยู่ตลอดเวลา

โดยล่าสุด! ได้มีการทำทวิภาคีร่วมกับบริษัท ดัคกาลบี้ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านร้านอาหารเกาหลี มีครูฝึกที่มีความชำนาญ โดยรับสมัครนักเรียน-นักศึกษา ระดับชั้น ปวช. และ ปวส. สาขาอาหารและโภชนาการ ด้านธุรกิจค้าปลีกและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพื่อเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพและทำงานพาร์ทไทม์

มีสถานศึกษาในสังกัด สอศ. จำนวน 8 แห่งที่เข้าร่วม ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอี่ยมละออ วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี วิทยาลัยพณิชยการบางนา วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน และวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถผลิตกำลังคนสายวิชาชีพ ให้ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงนำไปสู่การผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

ปัจจุบันเด็กจบสายอาชีวะมีงานทำ 100% แต่ละปีมีบัณฑิตอาชีวะจบการศึกษาประมาณ 2.3 แสนคน แต่ตลาดแรงงานต้องการไม่น้อยกว่า 5 แสนคน อีกทั้งสายอาชีวศึกษาได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2560 มีสัดส่วนผู้สมัครเข้าเรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 39.70% (ส่วนสายสามัญมีคนเรียน 60.30%) ซึ่งในอนาคตคาดว่าสายอาชีวะจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ปกครองหรือพ่อแม่ได้มองเห็นถึงความสำคัญของการเรียนอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : www.nationtv.tv

Written by : Toey

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง