เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมศาสตร์จารย์ประเสริฐ ณ นคร อาคารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้มีการจัดการประชุมจัดทำและใช้หลักสูตรครูคุณภาพเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.)
ศธ. ปรับหลักสูตรครู มรภ. จาก 5 ปี ลดเหลือ 4 ปี
โดยมี นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธาน และมีนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (รองเลขาฯ สกศ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการครุสภา พร้อมด้วยอธิการบดีและคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เข้าร่วม
นพ.อุดม คชินทร (รมช.ศธ.) ได้กล่าวว่า ตามที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10) ทรงมีพระราโชบาย เรื่องการปรุงหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เพื่อเป็นการยกระดับการผลิตครูให้มีคุณภาพและเป็นไปตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น โดยได้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเหลือเพียง 4 ปี จากเดิมที่จะต้องเรียนทั้งหมด 5 ปี
สำหรับข้อสรุปที่ได้จาก มรภ. เกี่ยวกับการปรับปรุงหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ส่วนใหญ่แล้วเห็นด้วยที่จะใช้หลักสูตร 4 ปี แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ต้องการใช้หลักสูตรครู 5 ปี เช่นเดิม
หลังจากที่ได้มีการหารือร่วมกับองคมนตรี และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) สรุปได้ว่าหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในกลุ่ม มรภ. จะใช้หลักสูตร 4 ปี เพราะบริบทของโลก สังคมเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน แพลตฟอร์มต่าง ๆ จึงต้องเปลี่ยนตามด้วย เพื่อทำให้มีคุณภาพมากขึ้น และหลักสูตร ครู 4 ปี คุณภาพไม่ได้ด้อยกว่าการเรียนหลักสูตร 5 ปี
เริ่มรับสมัครในปี 2562 เป็นต้นไป
โดยจะเริ่มในปีการศึกษา 2562 แต่อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนมาใช้หลักสูตร 4 ปี สำหรับมหาวิทยาลัยแห่งไหนยังไม่พร้อม ก็สามารถจะใช้หลักสูตรครู 5 ปีต่อไปได้ เนื่องจากเรื่องนี้ไม่สามารถบังคับได้ เป็นไปตามอำนาจของสภามหาวิทยาลัย
และถ้ามหาวิทยาลัยไหนมีความพร้อมแล้ว ก็สามารถแจ้งมายังสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อดำเนินการจัดการอบรม คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เพื่อให้ทันการรับสมัครนิสิต นักศึกษาเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ผ่านระบบ TCAS ประจำปีการศึกษา 2562 รวมถึงยังจะต้องทำการปรับความคิดของผู้ปกครองด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการกำหนดนโยบายเรื่องภาษาอังกฤษที่ผู้สำเร็จการศึกษาต้องได้รับรองมาตรฐานทางด้านภาษา CEFR (Common European Framework of Reference for Languages) หรือ มาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษาของภาษาอังกฤษ ระดับ B2 หรือมีคะแนนสอบ 400 คะแนนขึ้นไป
แต่ในกรณีของครูภาษาอังกฤษจะต้องอยู่ในระดับ C1 หรือได้ 600 คะแนนขึ้นไป และจะต้องมีการเพิ่มเติมทักษะทางด้านอารมณ์ หรือ Soft Skills ในหลักสูตร อีกด้วย โดยนิสิต นักศึกษาครูทุกชั้นปี จะต้องได้รับการบ่มเพาะทักษะเหล่านี้
ที่มา : www.khaosod.co.th
บทความที่น่าสนใจ
- เรื่องน่ารู้ก่อนตัดสินใจเรียน คณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ จบมาแล้วทำงานอะไร?
- 10 อันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด ด้านคุรุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ ใน UK ประจำปี 2019
- ลูกศิษย์เบี้ยวหนี้ กยศ. ทำครูอ่วม หลังศาลสั่งยึดทรัพย์ | กยศ. พร้อมช่วยเหลือครูค้ำประกันเงินกู้
- คุรุสภา ประกาศรายชื่อ 24 มหาวิทยาลัย ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
- เห็นแล้วใจละลาย รวมภาพครูสวย ต้อนรับวันครูแห่งชาติ ประจำปี 2561