โควิด 19 ทำตลาดอีคอมเมิร์ซโต ส่งผลงานตลาดออนไลน์ บัญชี โลจิสติกส์ ขยายตาม

คณบดี CIBA DPU คาดโควิด 19 ทำตลาดอีคอมเมิร์ซโต ส่งผล ‘งานตลาดออนไลน์ บัญชี โลจิสติกส์’ ขยายตาม ย้ำ 3 ทักษะคนรุ่นใหม่ต้องมี ทักษะดิจิทัล ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการแก้ไขปัญหาและมีความคิดสร้างสรรค์ มั่นใจหากมีครบสามารถพาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์

3 ทักษะจำเป็น – งานตลาดออนไลน์ บัญชี โลจิสติกส์

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เดินห้างสรรพสินค้าหรือจับจ่ายตามร้านค้าต่างๆ น้อยลง ส่วนหนึ่งผลจากมาตรการของภาครัฐในการป้องกันโรค ที่ต้องปิดบริการชั่วคราว และอีกส่วนหนึ่งผู้คน หันไปใช้บริการช็อปปิ้งออนไลน์ ทำให้ตลาดออนไลน์เติบโตมากขึ้น

ส่งผลให้สถานประกอบการต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการตลาด ปรับตัวเข้าสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเมื่อการตลาดออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง การขาย การตลาด และโลจิสติกส์ก็เติบโตตามไปด้วย ดังจะเห็นได้จากรายงานของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ที่เผยแนวโน้มทิศทางตลาดแรงงานในปี 2564 พบว่า สายงานที่ตลาดต้องการ อันดับ 1 สายงานขายและการตลาด 23.10% 2 บัญชีและการเงิน 9.58% และ 3 สายงานขนส่งและโลจิสติกส์ 9.50 %

นักการตลาดยุคใหม่ ต้องมีทักษะการตลาดออนไลน์

นักการตลาดยุคใหม่ต้องมีทักษะการตลาดออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่เพียงโพสสินค้า แต่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการขาย ระบบการชำระเงิน และการกระจายสินค้า บริการต่างๆ ดังนั้น หลักการเรียนการสอนการตลาดตอนนี้ จึงมุ่งเน้นการตลาดดิจิทัล ซึ่งจากการเปิดการเรียนการสอนของCIBA DPU ที่มีการปรับปรุงหลักสูตรมุ่งเน้นการเรียนรู้ให้นักศึกษามีทักษะในศตวรรษที่ 21 และทักษะด้านดิจิทัล ตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาการตลาดของCIBA DPU เพิ่มขึ้น 2 เท่า

เช่นเดียวกับหลักสูตรบัญชี การเงิน การขนส่งและโลจิสติกส์ เพราะการทำธุรกิจจะต้องมีการเชื่อมโยงไปทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันในอดีตอีคอมเมิร์ซอาจเติบโตได้ยาก เนื่องจากไม่มั่นใจการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต แต่ปัจจุบันนี้เปลี่ยนไป คนเชื่อมั่นมากขึ้น เพราะมีการจ่ายเงินปลายทาง เห็นสินค้าก่อนแล้วค่อยจ่ายได้” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว

ทิศทางตลาด

สำหรับทิศทางตลาดในยุคโควิด 19 และหลังโควิด 19 นั้น ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวด้วยว่า การขายผ่านหน้าร้าน โชว์รูมต่างๆ อาจมีน้อยลง เพราะการขายในลักษณะดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง ขณะเดียวกัน พฤติกรรมผู้บริโภคมุ่งการซื้อของออนไลน์มากขึ้น เหล่าสถานประกอบการ ร้านค้าต้องปรับตัว และการทำตลาดออนไลน์ เป็นลักษณะ การทำคอนเทนต์ (Content Marketing) และการทำ Digital Marketing ทำให้มีความต้องการผู้ที่จบการตลาดยุคใหม่ เข้ามาช่วยเสริมทัพเพื่อทำการตลาดดิจิทัล

ซึ่งในส่วนของธุรกิจบัณฑิตย์ ทุกคณะทุกหลักสูตรมีการปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 2560 โดยในส่วนหลักสูตร CIBA เน้นสร้างคนที่มีทักษะยุคดิจิทัล เช่น หลักสูตรการตลาด นักศึกษาจะต้องมีทักษะการตลาดดิจิทัลผสมผสานกับการตลาดทั่วไป เพราะการทำตลาดในความเป็นจริงต้องมีการวางแผนการตลาดทั่วไป ควบคู่กับการตลาดออนไลน์ และต้องเข้าใจระบบการบัญชี การขาย และโลจิสติกส์ควบคู่กันไปด้วย รู้จักการใช้ซอฟต์แวร์ โปรแกรมต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

คณบดี CIBA กล่าวต่ออีกว่า หลักสูตรการบัญชี การทำบัญชี ควบคู่กับการใช้ Data Analytics โดยการนำงบการเงินของบริษัทมาทำการวิเคราะห์ โดยใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ขณะที่โลจิสติกส์ก็ต้องมีการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วย นักศึกษาในยุคนี้ต้องเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีขององค์กร ฉะนั้น การเรียนการสอนของCIBA นอกจากเรียนรู้เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ที่จะมาใช้ในอาชีพแล้ว ยังมีการเชิญผู้ที่มีประสบการณ์ คนที่ทำงานในแวดวงนั้นๆ มาเป็นอาจารย์พิเศษช่วยเพิ่มเติมประสบการณ์ ทักษะต่างๆให้แก่นักศึกษา ไม่ว่าจะเป็น Shopee หรือ Lazada หรือผู้ประกอบการ และ Startups ในสาขาต่างๆ

3 ทักษะจำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่

“ทักษะที่จำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ในอนาคต ต้องมี 3 ทักษะดังนี้ คือ

1.ทักษะดิจิทัล – นักศึกษาที่จบจาก CIBA ต้องมีทักษะเรื่องของดิจิทัลครอบคลุมในสาขาที่ตนเองและสาขาที่ต้องทำงานร่วมกัน

2.ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ – CIBA ไม่ได้สร้างนักศึกษาที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่สร้างคนในองค์กรที่เข้าใจมุมมองความเป็นผู้ประกอบการของผู้บริหาร เข้าใจต้นทุน การเงิน การตลาด การขนส่งสินค้า การบริหารคน การค้าขายของทั้งในและต่างประเทศ การคำนึงถึงภาษี เรื่องเหล่านี้เป็นทักษะหนึ่งที่นักศึกษาต้องมี

และ 3.ทักษะการแก้ไขปัญหา และทักษะความคิดสร้างสรรค์ – การทำงานนอกจากรู้จักคิดสร้างสรรค์แล้วต้องรู้จักแก้ไขปัญหาจากความคิดสร้างสรรค์ที่นักศึกษาสร้างขึ้นด้วย ซึ่งถ้านักศึกษามีทักษะ 3 สิ่งนี้พวกเขาจะสามารถนำพาตัวเองให้อยู่รอดในทุกยุคทุกสมัยได้”คณบดีCIBA กล่าว

ยุคโควิด 19 ส่งผลให้หลายอาชีพต้องตกงาน เพราะการจ้างงานอาจจะไม่ง่ายอย่างอดีต ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวด้วยว่า ตนมองว่าเป็นความท้าทายของเด็กรุ่นใหม่ ในการจะเข้าสู่โลกของการทำงาน เพราะบางคนหากไม่ได้ทำงานในองค์กรหรือบริษัทแต่พวกเขาสามารถเป็นผู้ประกอบการ ขายสินค้าออนไลน์ หรือทำธุรกิจเล็กๆของตนเองได้ ไม่อยากให้นักศึกษจบใหม่ต้องท้อ หรือกังวลว่าเรียนจบแล้วไม่มีงานทำ หากมีทักษะดิจิทัล ความเป็นผู้ประกอบการ การเงิน การบัญชี และโลจิสติกส์ จะกลายเป็นโอกาสของพวกเขา

ที่มา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง