นักเดินเรือ พาณิชย์นาวี อาชีพรายได้สูง

ข้อควรรู้ก่อนเรียน พาณิชย์นาวี หรือ นักเดินเรือ อาชีพรายได้สูงที่อาจต้องแลกด้วยความเหงา

Home / บทความการทำงาน / ข้อควรรู้ก่อนเรียน พาณิชย์นาวี หรือ นักเดินเรือ อาชีพรายได้สูงที่อาจต้องแลกด้วยความเหงา

พาณิชย์นาวี หรือ นักเดินเรือ เป็นอาชีพที่มีรายค่อนข้างได้ดี แต่ก็ต้องแลกมาด้วยอะไรหลายๆ อย่าง เช่น ต้องลงเรือเป็นเวลานานๆ เกือบปี ในการออกเดินเรือทำงานแต่ละครั้ง ทำให้ต้องห่างไกลบ้าน ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บนบกเหมือนกับคนทั่วๆ ไป อีกทั้งยังต้องมีความอดทนสูง ทนต่อการตรากตรำในทะเล ต้องพบแรงกดดันจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ภายในเรือ เพราะบนเรืออาจมีคนชาติอื่นๆ ร่วมทำงานด้วย อาทิ อินเดีย, พม่า, ฟิลิปปินส์, จีน เป็นต้น แต่โอกาสที่จะสร้างรายได้นั้น หลายๆ คนก็บอกว่าเป็นที่น่าพอใจ สำหรับใครที่สนใจอยากจะเรียนด้านนี้ ลองมาอ่านข้อควรรู้เบื้องต้น ไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจกันก่อนได้นะคะ

พาณิชย์นาวี อาชีพรายได้สูง ที่ต้องแลกกับความเหงา ความห่างไกลบ้าน

เรียน พาณิชย์นาวี มี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเดินเรือ และฝ่ายช่างกลเรือ

การเรียนอาชีพ พาณิชย์นาวี หรือ นักเดินเรือ ของมหาวิทยาลัยบูรพาจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเดินเรือ และฝ่ายช่างกลเรือ

ฝ่ายเดินเรือ (Deck Department) เน้นศึกษาหนักในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ การเดินเรือ การเรือ กฎหมายและข้อบังคับระหว่างประเทศ การบรรทุกและการจัดระวาง อุตุนิยมวิทยา ดาราศาสตร์ อุทกศาสตร์ การสื่อสารสากล การบริหารงานสังคม จิตวิทยาและหลักผู้นำ

เมื่อจบออกไปการทำงานของฝ่ายเดินเรือคือ  จะรับผิดชอบทางด้านการนำเรือไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย การบรรทุก ขนส่ง ขนถ่ายสินค้าครบและตรงต่อเวลา ตำแหน่งสูงสุดคือ กัปตันเรือ ใช้ระยะเวลาประมาณ 5-10 ปี บางคนก็เปลี่ยนตัวเองมาทำงานบนบก (ท่าเรือ, สำนักงาน ตำแหน่งระดับ
ผู้บริหารบ้าง)

ฝ่ายช่างกลเรือ (Engine Department) เน้นศึกษาหนักในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ เครื่องยนต์และเครื่องจักรกลเรือ การไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ การต่อเรือและการทรงตัวของเรือ การโรงงานและการบริหารงานสังคม จิตวิทยาและหลักผู้นำ

เมื่อจบออกไปการทำงานของฝ่ายช่างกลเรือคือ รับผิดชอบทางด้านเครื่องยนต์กลไกที่ใช้ขับเคลื่อนภายในเรือทั้งหมด ให้สามารถทำงานทำงานได้ดีจนถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย ตำแหน่งสูงสุดคือ ต้นกลเรือ ใช้ระยะเวลาประมาณ 5-10 ปี บางคนก็เปลี่ยนตัวเองมาทำงานบนบก (ท่าเรือ, สำนักงาน, อู่ต่อเรือ, อู่ซ่อมเรือ ตำแหน่งระดับผู้บริหารบ้าง)

โดยหลักสูตรการเรียนจะมี 2 แบบ คือ หลักสูตรปกติ 5 ปี และ หลักสูตรพิเศษ 3 ปี

หลักสูตรนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ หลักสูตรปกติ 5 ปี

ผู้สำเร็จการศึกษา ฝ่ายเดินเรือ จะได้รับ

– ประกาศนียบัตรจากศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี

– ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบูรพา : วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาการเดินเรือ

– มีสิทธิสมัครสอบเพื่อขอรับประกาศนียบัตรนายประจำเรือฝ่ายเดินเรือของเรือกลเดินทะเล ขนาด 500 ตันกรอสหรือมากกว่า ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี

ผู้สำเร็จการศึกษา ฝ่ายช่างกลเรือ จะได้รับ

– ประกาศนียบัตรจากศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี

– ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบูรพา : วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเครื่องกลเรือ

– มีสิทธิสมัครสอบเพื่อขอรับประกาศนียบัตรรองต้นกลของเรือกลเดินทะเลขนาดกำลังขับเคลื่อน 3000 กิโลวัตต์หรือมากกว่า ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี

หลักสูตรนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ หลักสูตรพิเศษ 3 ปี

ผู้สำเร็จการศึกษา ฝ่ายช่างกลเรือ จะได้รับ

– ประกาศนียบัตรจากศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี

– มีสิทธิสมัครสอบเพื่อขอรับประกาศนียบัตรรองต้นกลของเรือกลเดินทะเลขนาดกำลังขับเคลื่อน 3000 กิโลวัตต์หรือมากกว่า ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี

– ขณะนี้ยังไม่ได้รับปริญญาตรี (ปัจจุบันศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีมีข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงพยายามดำเนินการให้ได้รับปริญญาของสถาบันในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา)

ภาพ : nuaticalscibuu

รายได้ที่ว่าสูง เท่าไรต่อเดือน?

– อาชีพนักเดินเรือ มีรายได้เริ่มต้นเมื่อเทียบกับคนทำงานบนบกที่มีความรู้เท่าเทียมกัน จะมีรายได้สูงกว่าอย่างน้อยสองถึงสามเท่า (20,000 – 40,000 บาท เมื่อเริ่มต้นทำงานครั้งแรก) และอาจจะสูงถึง 40,000 – 80,000 บาท/เดือน โดยจะเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์การทำงานและตำแหน่งของนักเดินเรือ ตำแหน่งที่สูงสุดคือ กัปตันเรือ ซึ่งอาจจะมีรายได้สูงสุดถึง 100,000 – 180,000 บาท/เดือนเลยทีเดียว  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสายการเดินเรือ โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ

สายการเดินเรือ สายนอก รายได้สูง ห่างไกลครอบครัว

สายการเดินเรือแบบ สายนอก หมายถึง สายการเดินเรือของบริษัทนั้นเดินทางรับส่งสินค้าต่าง ๆ ทั่วโลกไปประเทศต่าง ๆ โดยไม่แวะเข้าเทียบท่าที่ประเทศไทย เช่น เดินทางระหว่างญี่ปุ่น-อเมริกา , แอฟริกา-ตะวันออกกลาง–ยุโรป เป็นต้น

ระยะการทำงานจะนานเท่าไรก็ขึ้นอยู่สัญญาครั้งแรกที่เข้าทำงานระหว่างบริษัทเรือ กับพนักงาน หรือเรียกว่า Contract (คอน-ทแร็คท) อาจจะเป็น 6 เดือน, 8 เดือน, 12 เดือน หรือมากกว่าหนึ่งปีก็แล้วแต่ เมื่อหมด Contract แล้ว จะสามารถพักผ่อนได้ประมาณ 1-2 เดือน และในช่วงพักผ่อนนี้สามารถเปลี่ยนบริษัทเรือ หรืออบรมหลักสูตรพิเศษเพื่อเพิ่มวิทยฐานะของตัวเอง หรือกลับเข้าไปทำงานที่เดิมได้

ข้อเสียของสายนอกคือ ไปทำงานเป็นระยะเวลานาน ๆ ห่างไกลครอบครัว เมื่อหมดสัญญาหรือหมด Contract แล้วถึงจะได้กลับบ้านมาหาครอบครัว

ข้อดีของสายนอกคือ ค่าตอบแทนสูง โอกาสสร้างฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวเร็ว ได้ท่องเที่ยวและพบเห็นสิ่งใหม่ ๆ ของประเทศต่าง ๆ

สายการเดินเรือ สายใน รายได้ต่ำกว่า แต่มีโอกาสอยู่กับครอบครัวมากกว่า

สายการเดินเรือแบบ สายใน หมายถึง สายการเดินเรือของบริษัทนั้นเดินทางรับส่งสินค้าต่าง ๆ ไปประเทศในแถบใกล้เคียง และจะต้องแวะเข้าเทียบท่าที่ประเทศไทยอยู่เป็นประจำ เช่น ไทย-สิงคโปร์ , ไทย-ฮ่องกง เป็นต้น

สำหรับระยะการทำงานของแต่ละคนนั้นก็ขึ้นอยู่กับสัญญาครั้งแรกที่เข้าทำงานระหว่างบริษัทเรือ กับพนักงาน ชาวเรือส่วนใหญ่เรียกว่า Contract เหมือนกับสายนอก

ข้อเสียของสายในคือ ค่าตอบแทนต่ำกว่าสายนอก

ข้อดีของสายในคือ มีโอกาสอยู่ครอบครัวมากกว่าสายนอก

เมื่อเรียนจบ การเดินเรือ นี่คือ หน่วยงานที่พร้อมรับเข้าทำงาน

สภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการประกอบอาชีพชาวเรือ จัดเป็นอาชีพพิเศษเฉพาะอีกอาชีพหนึ่ง ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนักเรียนเดินเรือพาณิชย์จากศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี และได้รับประกาศนียบัตรจากกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะประกอบอาชีพในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางเรือ เช่น

หน่วยงานราชการ (ตำแหน่งที่รองรับมีจำนวนจำกัด)

  • กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี
  • กรมศุลกากร
  • กรมประมง

หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (ตำแหน่งที่รองรับมีจำนวนจำกัด)

  • การท่าเรือแห่งประเทศไทย
  • การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ส่วนงานที่เกี่ยวกับเรือ)

หน่วยงานบริษัทเอกชน (ตำแหน่งงานที่พร้อมรองรับมีจำนวนมาก)

  • บริษัทเรือต่าง ๆ ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศทั่วโลก (ทำงานในระดับนายประจำเรือ)
  • บริษัทต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินเรือ
  • บริษัทที่เกี่ยวกับแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล, กิจการขุดแร่ในทะเล
  • อู่ต่อเรือและอู่ซ่อมเรือ (ทำงานในระดับนายช่างกล)
  • บริษัทอะไหล่เรือ (ทำงานในระดับวิศวกร)

ภาพว เดินเรือ ม.บูรพา

รวมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ อาชีพ นักเดินเรือ โดย.. ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี

สิ่งที่ควรนำมาพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกอาชีพชาวเรือคือ

1. การเมาคลื่น ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับบางคนที่ลงเรือครั้งแรก ๆ แต่ก็มีทางหายหรือคุ้นเคยได้ ถ้ามีความอดทนเพียงพอและมีกำลังใจในการต่อสู้เพื่อความเป็นชาวเรือ

2. ภัยอันตราย การคมนาคมทางน้ำจะมีความปลอดภัยค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการคมนาคมทางอื่น อันตรายแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่เกิดจากความประมาทเลินเล่อ  เรือในปัจจุบันมีขนาดใหญ่ มีเทคโนโลยีก้าวหน้าจึงทำให้มีความปลอดภัยสูง นอกจากนี้ องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ มาควบคุมดูแลด้านความปลอดภัยภายใต้อนุสัญญาต่าง ๆ หลายฉบับ รวมไปถึงมาตรฐานการฝึกอบรมชาวเรือด้วย ซึ่งทั่วโลกจะใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงทำให้มีความเชื่อมั่นได้ในด้านความปลอดภัย

3. ความรู้สึกว้าเหว่ จำเจ เนื่องจากสังคมไทยมีความผูกพันกันแบบครอบครัวมากเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการทำอาชีพที่ต้องลงเรือไปเป็นระยะเวลานาน อาจะทำให้บางคนรู้สึกคิดถึงบ้าน และการอยู่บนเรือนานๆ ก็อาจจะทำให้รู้สึกจำเจ ต้องทนต่อการตรากตรำในทะเล ต้องพบแรงกดดันจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ภายในเรือ เพราะบนเรือลำหนึ่งๆ อาจมีคนชาติอื่นๆ ร่วมทำงานด้วย อาทิ อินเดีย ,พม่า, ฟิลิปปินส์, จีน เป็นต้น

แต่อย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ข้างต้นว่า เมื่อพิจารณาถึงรายได้ที่สูงกว่าอาชีพบนบกในแต่ละระดับเดียวกันประมาณ 2-3 เท่า และการที่มีโอกาสไปเยือนดินแดนของประเทศต่าง ๆ ตามเส้นทางที่เรือแวะเข้าจอดเทียบท่า ทำให้ได้เห็นโลกกว้างอันสวยงาม จึงเป็นอาชีพที่ท้าทาย การเริ่มต้นทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย และไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจนเกินไป จะสามารถมีเงินเหลือมากพอที่จะตั้งตัวได้ในระยะเวลารวดเร็ว หลังจากนั้นอาจเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นที่ชอบหรือมีความต้องการได้

เกร็ดความรู้ จากผู้มีประสบการณ์จริง

คุณภาวิณ อินทร์บุรี (letterplanet)

– ต้องทำงานไกลบ้าน โดยลงเรือไปแล้วจะเดินเรือใช้ระยะเวลานาน 9 เดือน เกือบปี ถึงจะได้ขึ้นฝั่ง

– มีคนรักก็ต้องห่างกับคนรัก ปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีให้ติดต่อกันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพียงมีอินเทอร์เน็ตก็สามารถคุยผ่านแชทเฟสบุ๊ก ผ่านไลน์ ได้

– อาจเจอเหตุการณ์เสี่ยงๆ เช่น ไฟไหม้บนเรือ เรือล่มจากคลื่น (แต่ก่อนที่จะจบหลักสูตรเขาก็จะมีวิธีการสอน มีมาตราการป้องกันความปลอดภัยต่างๆ ให้อยู่แล้ว)

– ต้องทำงานร่วมกับคนที่ไม่รู้จักเป็นระยะเวลานานบนเรือเมื่อออกทะเลไปแล้วเกือบปี ก็ต้องมีความอดทน และปรับตัว เรียนรู้ให้อยู่กับผู้อื่นให้ได้

–  ต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง ถ้ารู้ว่าต้องลงเรือ ต้องเตรียมตัวก่อนล่วงหน้า 1 เดือน ด้วยการออกกำลังกาย เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมในการตรวจสุขภาพการฉีดวัคซีนป้องกัน เพราะมีกฎหมาย MLC หรือกฎหมายแรงงานบนทะเล จะบังคับว่า ให้แต่ละคนฉีดยาตัวไหนบ้างในการเดินเรือเข้าไปในพื้นที่แต่ละแห่งจะมีการแจ้งไว้  ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะมีการ Support ในเรื่องของค่าใช้จ่ายตรงหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่จะมี

– ส่วนตัวของคุณภาวิณ มองเรื่องรายได้ว่า ยังไม่คุ้มเท่าไหร่สำหรับคนที่มีครอบครัว เพราะว่าเวลาส่วนมากจะไม่ได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวเหมือนอาชีพอื่นๆ แต่สำหรับคนที่อยู่คนเดียวได้ ไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวก็ถือว่าคุ้ม

– ปัจจุบันในประเทศไทยมีมหาลัยมีเปิดเช่น มหาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตร เป็นต้น หลักสูตรจะเรียน 5 ปี ปี 1-4 จะเป็นการเรียนเกี่ยวกับวิชาการทั้งหมด และปีที่ 5 จะเป็นการฝึกล่องเรือในทะเลพร้อมกับสินค้าเป็นเวลา 1 ปี เพื่อฝึกฝน

— — ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี www.mmtc.ac.th, คุณภาวิณ อินทร์บุรี (letterplanet),buu.ac.th — —

ใครที่สนใจอยากเรียนสามารถคลิกอ่านเพิ่มเติมได้เลยค่ะ>> คลิกที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง