คณะมนุษยศาสตร์ กับ คณะศึกษาศาสตร์ ต่างกันอย่างไร ?

สวัสดีค่ะ ในช่วงที่น้องๆ กำลังตัดสินใจยื่นคะแนนรอบ 3 กันอยู่นั้น ครูพี่โบว์ได้เห็นข้อสงสัยในเพจ ตามโพสต์หรือในกลุ่มต่างๆ หลากหลายข้อสงสัย แต่ที่ครูพี่โบว์จะปล่อยผ่านไม่ได้เลย เพราะน่าจะเป็น 1 ใน 5 ข้อสงสัยที่ใครๆ ก็อยากจะรู้แน่ๆ และอีกอย่างประเด็นนี้ครูพี่โบว์ก็มีประสบการณ์ตรง ที่พอจะช่วยไขข้อข้องใจให้แก่น้องๆ ได้มากที่สุด ก็คือ “ คณะมนุษยศาสตร์ อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เอกภาษาไทย ต่างกับ คณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ การสอนภาษาไทยอย่างไร ? ”

คณะมนุษยศาสตร์ กับ คณะศึกษาศาสตร์ ต่างกันอย่างไร ?

ในฐานะที่ครูจบปริญญาตรีและปริญญาโท เอกภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น ขอตอบเลยว่า แตกต่างกันแน่นอนค่ะ แต่ละคณะก็จะมีขอบข่ายการเรียนการสอน วิชาเรียน วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน บทความนี้ครูพี่โบว์ได้สรุปภาพความแตกต่างมาให้แล้วจ้า

คณะมนุษยศาสตร์ อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เอกภาษาไทย

มีขอบข่ายการเรียนที่เข้มข้นในเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรง กับไวยากรณ์ของระบบภาษา หรือที่เราเรียกว่าหลักภาษานั่นเอง

เรียนเจาะลึกไปถึงวิวัฒนาการทางภาษา วัฒนธรรม เชื้อชาติที่ส่งผลต่อภาษาไทย รวมทั้งระบบไวยากรณ์ตามแนวคิดต่างๆ ของนักคิดนักวิชาการ ทั้งเชิงวิเคราะห์และเปรียบเทียบ อีกทั้งมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพผู้เรียนเรื่องทักษะการสื่อสาร ทั้งการฟัง การอ่าน การเขียนและการพูด แหม … ถ้าใครชอบแนวเขียนนิยาย อ่านนิยาย เหมือนครูพี่โบว์ คงต้องมาทางนี้เลยนะคะ เรียนสนุก มีความสุขทุกวันชัวร์ค่ะ

ส่วนคณะศึกษาศาสตร์ หรือครุศาสตร์

จะมุ่งเน้นการเรียนรู้สู่การเป็นครูทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ ครูจะต้องเรียนจิตวิทยาความเป็นครู กลวิธีการสอน เทคนิคการสอน วิธีการจัดการศึกษา การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละระดับชั้น เช่น ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา รวมทั้งมีความรู้และเชี่ยวชาญเรื่อง การวัดผลการเรียนรู้ หรือการวัดและประเมินผล เช่น การออกข้อสอบในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถวัดความรู้ของนักเรียนตามตัวชี้วัด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของอัตนัยหรือปรนัยก็ตาม อีกทั้งยังมีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพเป็นเวลา 1 ปี (ฝึกสอนตามโรงเรียนนั่นเองค่ะ)

หลักภาษา ไวยากรณ์ หรือทักษะการสื่อสาร

น้องๆ หลายคนก็คงสงสัย เอกการสอนภาษาไทยแล้วมีเรียนหลักภาษา ไวยากรณ์ หรือทักษะการสื่อสารบ้างมั้ย ตอบเลยว่ามีแน่นอนค่ะ แต่อาจไม่เข้มข้น ไม่เจาะลึกเท่า และเน้นในส่วนที่สามารถนำไปใช้ในการสอนนักเรียนได้ เช่น ทักษะการสื่อสารก็จะเป็นการสื่อสารเพื่อการเรียนการสอนเป็นสำคัญค่ะ

อย่างไรก็ตามนอกจากขอบข่ายวิชาข้างต้นแล้ว น้องๆ ยังต้องเรียนวิชาบังคับ หรือวิชาบูรณาการของมหาวิทยาลัย หรือวิชาโท วิชาเลือกตามความสนใจ ตามจำนวนหน่วยกิตที่มหาวิทยาลัยกำหนดอีกด้วยนะคะ

รายละเอียดอื่นๆ

ครูพี่โบว์แนะนำว่า เรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน รายละเอียดค่อนข้างเยอะ และที่สำคัญคงไม่มีใครอยากเลือกคณะผิดที่คิดว่าใช่กันหรอกค่ะ ดังนั้น หากน้องๆ สนใจจะเข้าเรียนคณะไหน มหาวิทยาลัยใด ครูพี่โบว์แนะนำว่า ให้ลองเข้าเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย หรือเข้าไปยังเว็บไซต์ของคณะ หรือสาขาวิชา เพราะเกือบทุกที่จะมี Course Syllabus หรือโครงการสอนที่จะมีรายชื่อวิชาเรียน วิชาบังคับ ที่พอจะทำให้เราได้รู้ว่าใช่อย่างที่เราคิด อย่างที่เราเข้าใจ หรือใช่แนวของเราหรือเปล่าค่ะ

ครูพี่โบว์เอาใจช่วยนะคะ ยังพอมีเวลาตัดสินใจค่ะ … สู้ๆ

SEEME.ME : KruBow

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง