#ตั้นพันเจ็ด แฮชแท็กมาแรงบนทวิตเตอร์ ที่มาของแฮชแท็กนี้คือ “ตั๊น จิตภัสร์” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ในบทความนี้มีประวัติฉบับย่อของเธอมาให้ชาวแคมปัสฯ ได้ทำความรู้จักกันค่ะ
ประวัติ ตั๊น จิตภัสร์ #ตั้นพันเจ็ด ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
จิตภัสร์ กฤดากร ชื่อเล่นว่า ตั๊น เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2528 ปัจจุบันอายุ 32 ปี เป็นบุตรสาวคนโตของจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานมูลนิธิคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย กับหม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี (เคยรับบทแสดงเป็นสมเด็จพระสุริโยไท ในภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท) เป็นบุตรีของหม่อมราชวงศ์ยงสวาสดิ์ กฤดากร รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีศักดิ์เป็นหลานสาวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สำหรับประวัติด้านการศึกษาของสาวตั้นสรุปได้ดังนี้
เริ่มเข้าเรียนที่ รร. จิตรลดา และต่อที่ รร. หญิงล้วน Westonbirt School
วัยเด็กเริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนประจำหญิงล้วน Westonbirt School ที่ประเทศอังกฤษจนจบชั้นมัธยมศึกษา
สำหรับโรงเรียน Westonbirt School เป็นโรงเรียนหญิงล้วนตั้งแต่ Year 7-13 ส่วน Year 6 ลงมา เป็นสหศึกษา แต่ในปี 2019 โรงเรียนจะเริ่มรับนักเรียนผู้ชายที่ progress จาก Year 6 เข้าสู่ Year 7 และจะค่อยๆ รับนักเรียนชาย Year 9 และ 12 ในปีต่อๆ ไป (จะเป็นโรงเรียนสหศึกษาโดยสมบูรณ์ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า) การจำกัดจำนวนนักเรียนต่างชาติของที่นี่จะไม่ให้เกิน 30% โดยมีนักเรียนไทย 2 คน อยู่ Year 8 และ 9 นักเรียนจีน+ฮ่องกง 10 คน การเรียนการสอนของที่นี่ มีการเรียนทั้งหมด 6 วัน คือ Monday-Friday และ Saturday morning school ค่ะ (อ้างอิงจาก iecabroad )
ปี 2552 ปริญญาตรี ภูมิศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ
ตั้นเรียนจบปริญญาตรี ภูมิศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ (King’s College London) University of London สหราชอาณาจักร ในปี 2552 สำหรับ มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอน (King’s College London) จัดเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหราชอาณาจักรและมีชื่อเสียงในระดับโลก เป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนและการวิจัยด้านการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป นอกเหนือจากความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์แล้ว ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกที่มีผลงานการค้นคว้าและการวิจัยที่ได้รับการยอมรับมาอย่างต่อเนื่องในอีกหลายสาขาวิชา เช่น มนุษยศาสตร์ กฎหมาย การระหว่างประเทศ และสังคมศาสตร์
ปี พ.ศ. 2555 สถาบันพระปกเกล้า, ผู้นำยุคใหม่ในระบบประชาธิปไตย รุ่น 2
ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2555 ตั้นได้ไปเรียน หลักสูตรประกาศนียบัตร ที่สถาบันพระปกเกล้า ผู้นำยุคใหม่ในระบบประชาธิปไตย รุ่น 2 โดยในหลักสูตรเน้นการสอนให้เป็น “ผู้นำรุ่นใหม่” ที่มีวิสัยทัศน์ สามารถวิเคราะห์และรับรู้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างถูกต้องเพื่อทำหน้าที่และแสดงบทบาททางการเมืองให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป และตอบสนองต่อประชาชนได้อย่างเต็มที่ สถาบันพระปกเกล้าได้พิจารณาจัดการศึกษาเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร ผู้นำการเมืองยุคใหม่ เพื่อให้ผู้นำจากภาคการเมือง ภาคราชการ และภาคเอกชนรุ่นใหม่ ได้เข้ามาร่วมคิดหาแนวทางกับนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดแนวคิด สร้างทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรมประชาธิปไตยในการปฏิบัติหน้าที่ในสังคมไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ที่การเมืองไทยมีการปรับทิศทางไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น (Democratization)
ปี พ.ศ. 2557 ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาฯ
สุดท้ายในปี พ.ศ. 2557 เธอได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับการเรียนนี้ทางมหาลัยเน้นผลิตมหาบัณฑิตทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่สามารถบูรณาการความรู้ความสามารถทางวิชาการเข้ากับบริบทของการใช้อํานาจบริหารของรัฐที่เกิดขึ้นและสามารถนําไปประยุกต์เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการในการปฏิบัติงานหรือแม้แต่ในการพัฒนาสังคมและประเทศ เน้นพัฒนาและผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ ในกระบวนการใช้อํานาจ บริหารของรัฐและหมายรวมถึงองค์กรที่ใช้อํานาจบริหารอื่นๆ ตามปรากฏในรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งกระทําได้โดยการประยุกต์ หลักการจัดการนิยม (Managerialism) และหลักกฎหมาย (Legal Approach) เข้าด้วยกันและเพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยโดยเฉพาะบุคลากรสายวิชาการและปฏิบัติในองค์กรภาครัฐธุรกิจและพัฒนาเอกชน (อ้างอิงจาก polsci.chula)
เคยฝึกงานทั้งใน และต่างประเทศ
ตั้น เคยฝึกงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และฝึกหลายด้าน ทั้งบริษัทโฆษณา สื่อสารมวลชน ครูฝึกสอน ได้แก่
– บริษัทโฆษณา Blue UIR Advertising
– บริษัท Orange (True Move)
– Christian Dior
– หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
– บริษัทโพลีพลัสเอ็นเตอร์เทนเม้นท์
– เคยเป็น NGO ในโครงการ Population and Community Development Association ที่จังหวัดกระบี่
– เป็นครูฝึกสอนที่จังหวัดบุรีรัมย์
ก่อนที่จะผันตัวเข้าสู่แวดวงการเมืองตามความฝันในวัยเด็กที่ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรี
ความฝันวัยเด็กต้องการเป็นนายก – ไทม์ไลน์งานการเมือง
เพราะสาวตั้นมีความฝันว่าต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรี เธอจึงเริ่มเข้าสู่แวดวงสายงานทางการเมือง โดยเริ่แรกได้เข้าร่วมทำงานกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยการชักชวนของ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่มีความสนิทสนมกับครอบครัว ลำดับไทม์ไลน์งานทางการเมืองของสาวตั้นมีดังต่อไปนี้
ปี 2552 เลขานุการประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
ปี 2553 เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จุติ ไกรฤกษ์)
ปี 2554 ผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร เขต 5 ดุสิต – ราชเทวี พรรคประชาธิปัตย์
ปี 2555 รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์
ปี 2558 กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
ปี 2561 รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
ปี 2562 ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ หลังจากทราบผลการเลือกตั้งซ่อม เขต 8 จ.เชียงใหม่ กกต.มีการประกาศรับรองผล ให้ตั้น ได้เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นที่มาของแฮชแท็กฮิต #ตั้นพันเจ็ด บนทวิตเตอร์
ที่มาแฮชแท็กฮิต #ตั้นพันเจ็ด
เมื่อวันที่ (28 พ.ค. 62) หลังจากทราบผลการเลือกตั้งซ่อม เขต 8 จ.เชียงใหม่ ซึ่งผลนับคะแนน นางศรีนวล คำลือ ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ เอาชนะคู่แข่ง นายนเรศ ธำรงทพยกุล จากพรรคพลังประชารัฐ แบบขาดลอย ด้วยคะแนน 75, 891 เสียง ทำให้ได้เก้าอี้ ส.ส. เพิ่มมาหนึ่ง
จากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างที่ทราบกันว่าระบบเลือกตั้งของไทยครั้งล่าสุดนี้ใช้ระบบคิดคะเเนนแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” โดยนำคะแนนจากการเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตมาคิดคำนวณ ส.ส.พึงมี แบบบัญชีรายชื่อ แต่เมื่อนำคะแนนที่ประชาชนเลือกให้พรรคมาคำนวณ จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ระบบบัญชีรายชื่อใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ ก็พลอยได้เก้าอี้ ส.ส. ด้วยเพิ่มพรรคละ 1 ที่
ซึ่งนั่นหมายความว่าทำให้ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หรือ มาดามเดียร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้คะแนน 27,861 เสียง และ น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร หรือ ตั๊น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้คะแนน 1,738 เสียง พลอยได้เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อไปด้วย
นอกจากนี้ในแฮชแท็ก #ตั๊นพันเจ็ด ยังมีการแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าวถึงเรื่องคะแนนเสียงของ ตั๊น จิตภัสร์ ที่ได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไปด้วยคะแนน 1,738 เสียง ต่างจาก มาดามเดียร์ ที่ได้คะแนน 27,861 เสียง
ข้อวิจารณ์ ปฏิทินเบียร์ลีโอ รับผิดชอบด้วยการลาออก
ในปี พ.ศ. 2552 ช่วงที่จิตภัสร์เป็นผู้ช่วยโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เธอได้นำปฏิทินเบียร์ลีโอที่มีภาพนางแบบวาบหวิว มาแจกจ่ายให้แก่ข้าราชการในทำเนียบรัฐบาล จนถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง เธอแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกและขอน้อมรับคำวิจารณ์ทั้งหมด
เปลี่ยนนามสกุล ภิรมย์ภักดี เป็น กฤดากร
ตั๊น จิตภัสร์ ขึ้นรถปราศรัยระหว่างการชุมนุมกับ กปปส. เมื่อปี 2556 ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองปี พ.ศ. 2556-2557 จิตภัสร์ได้เข้าร่วมการชุมนุมกลุ่ม กปปส. โดยรับผิดชอบด้านการรายงานข่าวภาคภาษาอังกฤษและดูแลโรงเรียนต้นไม้
ในระหว่างการชุมนุม จิตภัสร์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีว่า “คนไทยจำนวนมาก ขาดความเข้าใจในประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยเฉพาะคนในชนบท” ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ผู้เป็นบิดาได้ร่อนจดหมายขอโทษต่อสื่อมวลชน ขณะที่จิตภัสร์ชี้แจงว่า “ไม่เคยดูถูกคนชนบท แม้แต่นิดเดียว… ดังที่บางกลุ่มพยายามบิดเบือนใส่ร้าย เพื่อตอกลิ่มสร้างความแตกแยกในสังคม” จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ครอบครัวได้รับผลกระทบและถูกคนร้ายลอบปาระเบิดเพลิงใส่บ้าน จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี จึงตัดสินใจเปลี่ยนนามสกุลเป็น “จิตภัสร์ กฤดากร” ในราชสกุลกฤดากร
ภาพจาก: chitpas