เปิดตัวเซรั่มมันแกว เปลี่ยนโฉมผลไม้ราคาถูก เป็นเครื่องสำอางเกรดพรีเมี่ยม

วันนี้ 2 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.30 น. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แถลงข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์ “เซรั่มมันแกว” MK Hydroboost serum โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ชนัตถา พลอยเลื่อมแสง คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ นวลแก้ว ผู้จัดการโรงงานฟาร์มแคร์ฟามาซูติคอล ,และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก.เมธิน ผดุงกิจ ผู้วิจัยที่พัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เซรั่มมันแกว ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

มมส เปิดตัวผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย เซรั่มมันแกว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก.เมธิน ผดุงกิจ ผู้วิจัยและพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ฯ เปิดเผยว่า “เซรั่มมันแกว” เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ทั่วไป จุดกำเนิดมาจากความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวิชาการและความตั้งใจจริง โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มของมันแกวบรบือ พืชผลไม้พื้นถิ่นของจังหวัดมหาสารคาม เพิ่มปริมาณการใช้มันแกวให้มากขึ้นเพื่อช่วยส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกมันแกว เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ MK Hydroboost serum

ข้อมูลพื้นฐานของมันแกว

โดยได้ทำการค้นคว้าข้อมูลพื้นฐานของมันแกวก่อนลงมือทำวิจัยพบว่า มันแกว มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Pachyrrhizus erosus (L.) Urban มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Yam beans นอกจากจะนำมาประกอบเป็นอาหารได้หลายชนิดแล้ว ยังพบว่า ชาวพื้นเมืองของอินโดนีเซียใช้ประโยชน์จากมันแกว เพื่อป้องกันแสงแดดและช่วยทำให้ผิวขาวได้ด้วย

จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าหัวมันแกวมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ดี มีฤทธิ์ป้องกันโรคกระดูกพรุน และมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งจะช่วยยับยั้งการสร้าง เมลานิน ทำให้ผิวขาวขึ้น และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ในร่างกายให้ช้าลง เมื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมี พบว่า มันแกวอุดมไปด้วยสารโพลีแซคาไรด์ และสารฟีนอลิก โดยเฉพาะสารฟีนอลิกประเภทฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น เดดซีน (daidzein) , เดดซีนไกลโคไซด์ (daidzein-7-O-ß-glucopyranose) ซึ่งสารเหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศ ช่วยให้ร่างกายคงความเป็นหนุ่มสาว ผิวพรรณชุ่มชื้น เต่งตึง ผิวฉ่ำน้ำ คล้ายกับมันแกว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความชุ่มชื้น เต่งตึง

สารต่างๆ ในมันแกว

จะเห็นว่า “มันแกว” ที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีสารโพลีแซคาไรด์ และสารไฟโตเอสโตรเจน ช่วยทำให้ร่างกายคงความเป็นหนุ่มสาว ผู้วิจัยและคณะได้อาศัยจุดเด่นดังกล่าวของมันแกวมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางในรูปแบบเซรั่ม (serum) ซึ่งได้พัฒนาจนได้สูตรที่มีความลงตัว ผ่านการทดสอบการระคายเคืองในอาสาสมัครไม่พบการแพ้ใดๆ และประเมินด้านความชุ่มชื้นและสีผิว พบว่า เซรั่มมันแกวให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังได้มากขึ้น และปริมาณเม็ดสีเมลานิน ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนใช้

คุณสมบัติเซรั่มมันแกว

ปัจจุบัน เซรั่มมันแกว ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อโดย อ.ดร.ภญ.ศุภกัญญา กุมกาญจนะ หัวหน้าฝ่ายวิจัยผลิตภัณฑ์ของโรงงานฟาร์มแคร์ ให้มีการกักเก็บความชื้นใต้ผิวหนังได้ลึกถึงระดับชั้นในสุด โดยการเติม ไฮยาลูโรนิก แอซิด ถึง 3 ชนิด (Triple Hyaluronic acid) ลงไปด้วย ช่วยให้ผิวหนังเต่งตึงได้ยาวนานยิ่งขึ้น และได้ผลิตออกจำหน่ายโดย โรงงานฟาร์มแคร์คอสเมซูติคอล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้แบรนด์ฟาร์มแคร์ (Pharmcare) ในชื่อของ MK Serum (เอ็มเค เซรั่ม) โดยโรงงานฟาร์มแคร์ได้ใช้แนวคิดในการตั้งชื่อที่แสดงถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ คือ มันแกว (Mankaew, MK) และจังหวัดที่ผลิตคือ มหาสารคาม (Mahasarakham, MK) รวมทั้งชื่อผู้คิดค้น เมธิน ผดุงกิจ (Methin phadungkit, MK)

โรงงานฟาร์มแคร์

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีโรงงานฟาร์มแคร์ ภายใต้การดูแลของ คณะเภสัชศาสตร์ เป็นโรงงานผลิตยาจากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ จัดตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้ประชาชนได้ใช้ยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเกษตรกรในจังหวัดมหาสารคาม ให้มีมาตรฐานการผลิตวัตถุดิบและรายได้ที่สูงขึ้นไปพร้อมกัน ภายใต้การบูรณาการองค์ความรู้ดั้งเดิมและกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และตอบสนองต่อการพัฒนาของประเทศ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของบุคลากรในมหาวิทยาลัยและความเข้มแข็งของประเทศทางด้านความอุดมสมบูรณ์ของสมุนไพร ความหลากหลายของสายพันธุ์ และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ โดยยาและผลิตภัณฑ์ทุกชนิดผ่านการวิจัยและการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน

ผลิตภัณฑ์ MK serum

ผลิตภัณฑ์ MK serum เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จ ด้วยการเพิ่มมูลค่าของมันแกวให้สูงขึ้น จากที่เคยเป็นผลไม้หรืออาหารราคาถูก ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นเครื่องสำอางเกรดพรีเมี่ยม นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของมันแกวบรบือ พืชผลไม้พื้นถิ่นที่อยู่คู่ชาวจังหวัดมหาสารคามมายาวนาน ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นตามไปด้วย อธิการบดีกล่าว

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฟาร์มแคร์คอสเมซูติคอล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทรศัพท์ 043-754370,084-2721808 เว็บไซต์ มมส

อ่านบทความ “มันแกว เป็นผักหรือผลไม้?” https://pantip.com/topic/32816991

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง