คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์

รู้จักกับหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ หลักสูตรสานฝัน คนอยากเป็นแฮ็กเกอร์

Home / วาไรตี้ / รู้จักกับหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ หลักสูตรสานฝัน คนอยากเป็นแฮ็กเกอร์

“หนูอยากเป็นแฮ็กเกอร์ค่ะ” ความฝันที่ชัดเจนตั้งแต่วัยเด็ก คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “คุณน้อง ภัทรานิษฐ์ พิศาลธนโรจน์” พาตัวเองเข้ามาศึกษาต่อใน หลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Soft-en) ของโครงการ TU-PINE หรือ โครงการหลักสูตรนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) และปัจจุบันเธอกำลังเข้าใกล้ฝันของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการเข้าทำงานใน Ernst & Young บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลก ในตำแหน่งสุดล้ำที่มีชื่อว่า “Cyber Security Consultant”

หลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์

อยากเป็นแฮ็กเกอร์ !

โดยวันนี้ คุณน้อง ขอมาแชร์ประสบการณ์การทำงานให้ทุกคนได้ฟังกันว่า แต่ละโจทย์ที่ได้รับนั้นจะสนุกและท้าทายขนาดไหน ไปติดตามพร้อมๆ กันเลย

“ตอนเด็กๆ เราดูหนังพวกแฮ็กเกอร์ โปรแกรมเมอร์แล้วชอบมาก ก็เลยฝันว่าอยากเป็นแฮ็กเกอร์” แม้ความฝันวัยเด็ก จะเป็นสิ่งที่ใครหลายคนทิ้งไว้กลางทางระหว่างการเติบโต แต่สำหรับตนแล้ว เลือกที่จะเก็บมันไว้กับตัวและสานต่อมันให้เป็นจริง ด้วยการเลือกเรียนต่อปริญญาตรี ใน สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Soft-en) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.”

ความฝัน-การทำงาน

จากมัธยมปลายสู่รั้วมหาวิทยาลัย ช่วงแรก ๆ ตนต้องปรับตัวอยู่บ้างในเรื่องของสังคมเพื่อนใหม่ เพราะเรียนโรงเรียนหญิงล้วนมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ทำให้ไม่คุ้นชินนักกับการมีเพื่อนผู้ชาย แต่กลับกันหากเป็นเรื่องการเรียนแล้ว ตนค่อนข้างมีความสุข ถึงจะมีเหนื่อยบ้าง แต่ไม่กดดัน แถมยังสามารถแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมได้อีกด้วย

โดยหลังจากเรียนจบได้ไม่นาน ในขณะที่เพื่อน ๆ ในรุ่นส่วนใหญ่ไปทำงานเขียนโค้ด (Coding) ตนตัดสินใจไปสมัครงานในตำแหน่ง “Cyber Security Consultant” ที่บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลกอย่าง Ernst & Young หลังจากหาข้อมูลแล้วพบว่า มีขอบข่ายงานที่น่าสนใจ ตรงกับที่ตัวเองอยากทำ ซึ่งนั่นรวมไปถึงงานแฮ็กระบบเพื่อตรวจสอบช่องโหว่ของซอฟต์แวร์

ตลอดการทำงานมากกว่า 7 เดือน ตนได้รับโจทย์ที่หลากหลายและท้าทายเป็นอย่างมาก เช่น งานออกแบบผังงาน (Flowchart) เกี่ยวกับการใช้และถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคล ให้กับบริษัทต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่การเก็บข้อมูลผู้ใช้งาน เพื่อนำความต้องการของผู้ใช้งานไปวิเคราะห์ และสร้างแบบจำลองที่พร้อมนำไปใช้พัฒนาจริง ซึ่งทำให้เธอได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาจากวิชา Software Requirements and Specification และ Software Architecture and Design แบบเต็มๆ

นอกจากนี้ ยังมีงานตรวจสอบและพัฒนามาตรฐาน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ขององค์กรต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่า ถูกต้องตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทั้งของประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ก็จำเป็นต้องใช้หลากหลายทักษะร่วมกัน โดยเฉพาะความรู้จากวิชา Data Systems และ Programing Skill Development หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ทุกวิชาที่เรียนมามีประโยชน์และใช้ได้จริงทั้งหมด

บรรยากาศการเรียน

การแฮ็กนี้ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น

สำหรับวิชาที่ชอบที่สุดสมัยเรียน หนีไม่พ้นวิชาที่เกี่ยวกับการแฮ็ก อย่าง Software Testing and Quality Assurance แต่ การแฮ็กในที่นี่ไม่ใช่เพื่อจารกรรมข้อมูล หรือสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น แต่หมายถึงการเจาะระบบเพื่อทดสอบประสิทธิภาพ หรือตรวจสอบช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งงานที่ตนอยากลองทำมาก แต่โอกาสยังมาไม่ถึง เนื่องจากงานประเภทนี้ไม่ได้มีเข้ามาบ่อยนัก

แต่ถึงแม้ในวันนี้ ตนจะยังไม่ได้ลองทำงานแฮ็กระบบอย่างใจอยาก แต่ก็มองว่า ทุกงานที่ได้รับมอบหมายนั้นถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่ช่วยพัฒนาทักษะรอบด้าน และในอนาคตยังได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ถ้าทำงานถึงจุดหนึ่งแล้ว ก็อยากจะไปเรียนต่อปริญญาโทด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่ต่างประเทศเพิ่มเติม

“จริงๆ แล้วการเรียนวิศวกรรมซอฟต์แวร์นั้น ทำให้เราสามารถทำงานได้กว้างขวางมากๆ ทั้งเขียนโปรแกรม ทำเว็บ สร้างแอปพลิเคชัน UX/UI รวมไปถึงพัฒนาระบบต่างๆ ที่ใช้ในองค์กรทุกขนาด ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ ในยุคปัจจุบัน ดังนั้นไม่ต้องกลัวเลยว่าจะหางานยากไหม ขอแค่มีใจรักในสิ่งที่เรียน รับรองว่าอนาคตสดใสแน่นอน” คุณน้อง ฝากทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ TSE ได้ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT

คุณน้อง ภัทรานิษฐ์ พิศาลธนโรจน์

คุณน้อง ภัทรานิษฐ์ พิศาลธนโรจน์

เนื้อหาแนะนำ