ชวนมาทำความรู้จัก สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ในมุมที่คุณอาจไม่เคยรู้

หากใครเคยผ่านไปทางเส้นอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการคงเคยเห็นอาคารสีขาวที่มีป้ายชื่อโดดเด่นว่า “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” นอกจากอาคารด้านหน้าแล้วยังมีตึกน้อยใหญ่รายล้อม ซึ่งส่วนหนึ่งถูกแบ่งเป็นโรงพยาบาลไว้รักษาผู้ป่วยทั่วไปและโซนพิเศษ ที่มีไว้สำหรับรักษาผู้ป่วย โควิด-19 โดยเฉพาะ อีกส่วนถูกจัดสรรเป็นมหาวิทยาลัย สำหรับนักศึกษาสายงานแพทย์ ที่จะใช้เวลาเรียนรู้วิชาชีพ บ่มเพาะประสบการณ์ ก่อนออกไปทำงานตามสายงานของตน ตลอดระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่เปิดให้บริการ บนพื้นที่กว่า 319 ไร่แห่งนี้มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายอาจมีบางมุมที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกัน

สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

จักรีนฤบดินทร์ ชื่อนี้มีที่มา

คำว่า “จักรีนฤบดินทร์” มาจากคำว่า “จักรีนฤบดินทร์” ซึ่งเป็นคำสร้อยจากพระนามเต็มของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งท่านทรงพระราชทานให้ โดยเป็นคำสร้อยที่ต่อจาก คำว่า “รามาธิบดี” ถือได้ว่าที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คือครอบครัวเดียวกับโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยที่นี่เกิดจากพระราชดำริของรัชการที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาตรวจเยี่ยมชาวบ้านในสมุทรปราการ ด้วยเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ยังไม่มีโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ ไว้รองรับผู้ป่วย เพราะสมุทรปราการเปรียบเสมือนด่านหน้า ของภาคตะวันออก ที่มีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก

เพื่อขยายโอกาสการการรักษา และสร้างแหล่งผลิตบุคลากรการแพทย์ที่มีคุณภาพ

บนพื้นที่ขนาด 40 ไร่บนถนนพระราม 6 คือ ที่ตั้งของโรงพยาบาลรามาธิบดี ปัจจุบันมีผู้ป่วย ใช้บริการมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคซับซ้อน ซึ่งเกินขีดความสามารถหลักสูตรระดับปริญญาตรี ดังนั้น จึงได้เกิดโครงการก่อสร้าง “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” เพื่อเป็นทั้งส่วนโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยในชุมชน และโรงเรียนเพื่อผลิตบุคลากรการแพทย์

ฐานทัพของเหล่านักรบชุดขาวผู้ต่อสู้กับโควิด – 19

จากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์เป็นฐานทัพรักษาผู้ป่วยโควิด – 19 โดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤติ ท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายก็ได้เกิดเรื่องราวน่าประทับใจขึ้น เมื่อทีมแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ได้ร่วมกันปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้ป่วยโควิด – 19 เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกของโลก โดยที่ผู้ป่วยทั้งคู่อายุเพียง 5 และ 7 ขวบเท่านั้น

จากความสำเร็จในวันนั้นเหล่านักรบชุดขาวก็ยังคงต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยบทเรียนจากการรับมือกับวิกฤติโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจึงได้จัดตั้ง “โครงการศูนย์พัฒนาทักษะทางคลินิกด้วยสถานการณ์จำลอง” เพื่อผลิตบุคลากรการแพทย์ที่มีคุณภาพและเตรียมความพร้อมรักมือโรคใหม่ ๆ ในอนาคต

สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เปิดให้บริการแก่ผู้ป่วยทั้งที่อยู่ในพื้นที่รอบสมุทรปราการ นอกเหนือจากเงินสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ที่นี่ ได้รับเงินบริจาคของประชาชน ผ่านมูลนิธิรามาธิบดีฯ ถือได้ว่าสถานที่แห่งนี้เกิดขึ้นจากธารน้ำใจ และการให้ของประชาชนอย่างแท้จริง

ด้วยเป้าหมายของการเป็นโรงพยาบาลแห่งภาคตะวันออก หากเปิดให้บริการเต็มรูปแบบที่นี่จะสามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้กว่า 1 ล้านคนต่อปี และผู้ป่วยในกว่า 17,000 รายต่อปี เพื่อให้ผู้ป่วยในพื้นที่ไม่ต้องเดินทางไกล และยังถือเป็นแหล่งรวบรวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ครอบคลุมการรักษาพยาบาลพื้นฐานและโรคร้ายแรง ทั้งด้านกุมารเวชศาสตร์ สูตินรีเวช เวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ฟื้นฟู จิตเวช รวมถึงการกายภาพบำบัดที่มีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยเดิน และสระธาราบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วย เป็นต้น

สถานที่สร้างบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อดูแลคนไทย

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดสอนมานานกว่า 55 ปี ปัจจุบันมีสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึงระดับบัณฑิตศึกษา และหลักสูตรเฉพาะทางต่างๆ โดยระดับปริญญาตรีมีสอน 4 หลักสูตร ได้แก่ แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ วิทยาศาสตร์สื่อความความหมายฯ และปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์

โดยในปี 2564 นี้จะเปิดการเรียนการสอน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 – 3 หรือระดับชั้นปรีคลินิกที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์เป็นครั้งแรก นับเป็นประวัติศาตร์หน้าใหม่ ที่ได้จะได้บุคลากรทางการแพทย์อย่างเต็มรูปแบบ ออกไปรับใช้สังคม ส่วนหนึ่งของแพทย์เหล่านี้ได้กลายเป็นนักรบชุดขาว ที่เป็นที่พึ่งดูแลผู้ป่วยในชุมชนทั่วประเทศ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพของไทย

ทั้งนี้รามาธิบดียังได้ พัฒนาปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนของแพทย์ ให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงไปของสังคมอยู่เสมอ ซึ่งขณะนี้ได้เปิดสอนหลักสูตรใหม่ “แพทย์นวัตกร” และ “แพทย์นักบริหาร” ครั้งแรกในไทย และสนับสนุนการสร้างงานวิจัยเพื่อผลิตบุคลากรการแพทย์ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์การทำงานในยุค ‘Disruption’

นอกจากภารกิจในการรักษาผู้ป่วย และผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ด้วยหลักสูตรที่มีความแตกต่างแล้ว ที่นี่ยังมุ่งมั่นผลิตแพทย์นักวิจัยอีกด้วย เพราะงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยเหลือคนได้อีกหลายล้านคน และเราทุกคนสามารถขับเคลื่อนเป้าหมายนี้ไปด้วยกันได้ผ่านการให้กับมูลนิธิรามาธิบดีฯ กับ “โครงการสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ยังขาดแคลนจำนวนมาก เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วย และเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนสำคัญของนักศึกษาทุกคน เพื่อสานต่อความฝันและรักษามาตรฐานระบบสุขภาพของไทย และเพื่อเป้าหมายสูงสุดของการยกระดับการแพทย์ไทยสืบต่อไป…

รับชม VDO สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์กับมุมที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนได้ที่หน้าเพจ Facebook มูลนิธิรามาธิบดีฯ คลิก สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ กับมุมที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

ข้อมูลจาก www.rama.mahidol.ac.th/cnmi/

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง