โรงเรียนโยธินบูรณะ

Yothinburana School

Home / academy / โรงเรียนโยธินบูรณะ
โรงเรียนโยธินบูรณะ เป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่เลขที่ 1162 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2478 มีนายภักดิ์… See More

โรงเรียนโยธินบูรณะ เป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่เลขที่ 1162 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2478 มีนายภักดิ์ ฉวีสุข เป็นอาจารย์ใหญ่ท่านแรก (พ.ศ. 2478-2479) และนายสันทัด เมี้ยนกำเนิด เป็นผู้อำนวยการท่านแรก (พ.ศ. 2513-2519)

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ อนุมัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2552 เป็นเงิน 12,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บนพื้นที่ 119 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านเกียกกาย จึงทำให้สถานที่ราชการต่างๆ ในบริเวณนั้นจะต้องย้ายไปรวมถึงพื้นที่ของโรงเรียนโยธินบูรณะด้วย แต่ว่าทางรัฐบาลไทยในสมัยนายสมัคร สุนทรเวชได้เตรียมสร้างโรงเรียนโยธินบูรณะแห่งใหม่ให้แทน โดยอยู่ห่างจากสถานที่เดิมไม่เกิน 2 กิโลเมตร คาดว่าโรงเรียนโยธินบูรณะแห่งใหม่จะสร้างเสร็จภายในปี พ.ศ. 2557 และจะเปิดทำการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2558

โรงเรียนโยธินบูรณะ

New_Yothinburana_School

ประวัติความเป็นมา
เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2460 รองหัวหมื่นพระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) ได้มีจิตศรัทธาสร้างโรงเรียนขึ้นในวัดสะพานสูง เขตบางซื่อ โดยมีอาคารเรียนไม้ 2 ชั้น เครื่องไม้ เสา คานไม้มุงกระเบื้องซีเมนต์ กว้าง 14 เมตร และยาว 25 เมตร แบ่งออกเป็นห้องเรียน 8 ห้อง ห้องประชุม 1 ห้อง และห้องพักครู 1 ห้อง และเมื่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2460 จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามว่า “โรงเรียนอนุวัฒน์ศึกษาคาร”

จากนั้น รองหัวหมื่นพระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) ได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็พระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียน ซึ่งยังคงความปลาบปลื้มปิติเป็นล้นพ้นแก่คณะครูและนักเรียนของโรงเรียนนี้ พระราชดำรัสตอนหนึ่งในพิธีเปิดโรงเรียน
“ข้าพเจ้ามีความพอใจเป็นอันมากที่ได้รับเชิญไปยังโรงเรียนนี้ และได้มีโอกาสขอบใจพระอนุวัฒน์ราชนิยมแทนกระทรวงธรรมการ ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ และโรงเรียนนี้ข้าพเจ้าได้รับไว้เป็นสถานศึกษาต่อไป อีกทั้งยังขอบใจแทนในนามกุลบุตรทั้งหลายบรรดาผู้ที่จะได้รับวิชาความรู้ไปเป็นประโยชน์แก่ตัวต่อไปในภายภาคหน้า และขอขอบใจแทนผู้มีหน้าที่ปกครองชาติ ที่ชาติไทยจะได้มีโอกาสได้พ่อเมืองสืบไป จากนักเรียนที่ได้ศึกษาในโรงเรียน”

ต่อมาเมื่อชุมชนรอบ ๆ ขยายตัวขึ้น ความหนาแน่นของประชากรในท้องที่บางซื่อมีมากขึ้น โรงเรียนเดิมคับแคบ ไม่เหมาะสมที่จะขยายเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ได้ คุณครูภักดิ์ ฉวีสุขครูใหญ่โรงเรียนมัธยมวัดสะพานสูง (อนุวัฒน์ศึกษาคาร) จึงได้ไปปรึกษากับ หลวงสุนทรอัศวราช (เลขานุการประจำตัวหลวงพิบูลสงคราม และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) ซึ่งเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยและได้รับคำแนะนำให้ทำรายงานเสนอต่ออำมาตย์ตรี หลวงพิลาศวรรณสาร (พนักงานตรวจการศึกษาแขวงพระนครเหนือ) สนองต่อกระทรวงธรรมการดำเนินการเจรจาขอที่ดิน 3 แห่งจากกระทรวงกลาโหม คือ

ที่ดินกรมทหารสื่อสาร กองพันที่ 2
ที่ดินริมกองทหารสื่อสาร กองพันที่ 1 ด้านเหนือ
ที่ดินระหว่างถนนสะพานแก้ว (ถนนสามเสน กับโรงเลื่อยล่ำซำ{โรงเลื่อยไม้ไทยในปัจจุบัน}) ตรงข้ามกรมทหารม้ารักษาพระองค์
ในที่สุดกระทรวงกลาโหม (สมัยพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รักษาการแทนปลัดกระทรวงกลาโหม) ได้รับอนุญาตให้กระทรวงธรรมกาปลูกสร้างโรงเรียนได้บริเวณฝ่ายซ้ายของถนนสะพานแก้ว ตรงข้ามกรมทหารพันม้า (กรมทหารม้ารักษาพระองค์) โดยมีเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่เศษ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2477
ต่อมาเจ้าหน้าที่กระทรวงธรรมการเสนอว่าที่ดินแปลงนี้กว้างขวาง ตั้งอยู่ในทำเลระหว่างกลางจากโรงเรียนวัดสะพานสูง และโรงเรียนมัธยมวัดจันทร์สโมสร จึงเห็นสมควรที่จะย้ายนักเรียนทั้ง 2 แห่งมารวมกัน เปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และต่อมาได้ขยายชั้นเรียนจนถึงระดับมัธยมบริบูรณ์ (ม.8 หรือ ม.ศ.5 ปัจจุบันคือมัธยมศึกษาปีที่ 6) ด้วยเหตุที่ย้ายนักเรียนจากทั้งสองแห่งมาเรียนรวมกันในสถานที่แห่งใหม่ ซึ่งได้อาศัยที่ดินของกระทรวงกลาโหม และตั้งอยู่ระหว่างกองทหารหลายหน่วยงานอีกทั้งโรงเรียนและชุมชนในเขตทหารได้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน พร้อมกันนั้นได้ตั้งชื่อโรงเรียนแห่งใหม่นี้ว่า โรงเรียนมัธยมโยธินบูรณะ ส่วนอาจารย์ใหญ่นั้นคือ คุณครูภักดิ์ ฉวีสุข ผู้ที่ได้ออกความคิดเห็นที่จะย้ายเป็นคนแรก อาคารเรียนเป็นอาคารเรือนไม้ 3 ชั้น ชั้นละ 7 ห้อง รวม 21 ห้อง อนุมัติเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2477 เริ่มทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2477 โดยโรงเรียนเพาะช่างเป็นผู้ดำเนินการในราคาทั้งสิ้น 21,000 บาท และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนอีกครั้งเป็น โรงเรียนโยธินบูรณะ สืบมาจนปัจจุบัน

ทำการเปิดเรียนเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2478 โรงเรียนมัธยมโยธินบูรณะแรกเริ่มเป็นนักเรียนชายล้วน จำนวน 516 คน ครู 22 คน จำนวนห้องเรียน 18 ห้อง เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันโรงเรียนโยธินบูรณะเป็นโรงเรียนสหศึกษา โดยเริ่มรับนักเรียนหญิงในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในปีการศึกษา 2538 และรับนักเรียนหญิงในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในปีการศึกษา 2541

ในปี พ.ศ. 2541 โรงเรียนโยธินบูรณะได้มีมติเปิดการเรียนหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการในภาษาอังกฤษ หรือโครงการภาคภาษาอังกฤษ (EP : English Program) เป็นโรงเรียนแรกในประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2551 – วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 นายวิทธยา บริบูรณ์ทรัพย์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนโยธินบูรณะ
ในปี พ.ศ. 2553 โรงเรียนโยธินบูรณะได้มีมติเปิดการเรียนหลักสูตรของเคมบริดจ์ หรือโครงการนานาชาติ (YBIP : Yothinburana International Program) เป็นโรงเรียนแรกในประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2556 โรงเรียนโยธินบูรณะได้มีมติเปิดการเรียนหลักสูตรในภาคปกติ (SMP : Science Math Program) หรือห้องพิเศษอัจฉริยภาพางคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์
โรงเรียนโยธินบูรณะในปัจจุบัน มุ่งมั่นจัดระบบการศึกษาให้ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม สู่คูณภาพมาตรฐานสากล ปัจจุบันโรงเรียนโยธินบูรณะเป็นโรงเรียนสหศึกษามีนักเรียนทั้งชาย และหญิงทุกระดับชั้น โดยเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6

yotin-logo

ตราประจำโรงเรียน
คบเพลิง แสงสว่างของคบเพลิง หมายถึง ความรุ่งโรจน์แห่งปัญญา สอดคล้องกับคติธรรมประจำโรงเรียนว่า “ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต”
กงจักร รูปกงจักรเกี่ยวกับคบเพลิง หมายถึง การก้าวไปข้างหน้า โดยอาศัยปัญญาเป็นเครื่องนำทางและพร้อมที่จะฟันฝ่าอุปสรรคทั้งปวงให้สิ้นไป
กระหนกลายไทย กระหนกลายไทยล้อมรอบคบเพลิง กงจักร อักษรย่อ ย.บ. และคติธรรมของโรงเรียนนั้น หมายถึง

“ลูกโยธินบูรณะทุกคนจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรม ในขอบเขตของขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทย”

สีประจำโรงเรียน
สีชมพู หมายถึง ความร่าเริง แจ่มใส ความรักสามัคคี และเสียสละ
สีน้ำเงิน หมายถึง ความมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีวินัย และคุณธรรม

คติธรรมประจำโรงเรียน
“ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต” แปลว่า “ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก”

คำขวัญประจำโรงเรียน
“เรียนเด่น เล่นดี สามัคคี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม”

วิสัยทัศน์
“มุ่งสู่สากล ดำรงตนอย่างไทย มีคุณธรรมนำความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

เอกลักษณ์ของโรงเรียน
“โยธินถิ่นคนดี”

อัตลักษณ์ของโรงเรียน
“คนดีศรีโยธิน”

อักษรย่อ : ย.บ. / YB
ประเภท : รัฐบาล
สถาปนา : 20 มิถุนายน พ.ศ. 2478
ผู้ก่อตั้ง : รองหัวหมื่นพระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง เตชะวณิช)
ที่ตั้ง : 1162 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
รหัส : 1000100203
เพลง : มาร์ชโยธิน
สังกัดการศึกษา : สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ
โทรศัพท์ : 0-2241-2630,0-2241-2603
เว็บไซต์ : www.yothinburana.ac.th
facebook : Yothinburana-school-site-construction-

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ www.yothinburana.ac.th

See Less

ดาวเด่น โรงเรียนโยธินบูรณะ

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

ชิลเอ้าท์ โรงเรียนโยธินบูรณะ

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

เรื่องเล่า โรงเรียนโยธินบูรณะ

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้