โรงเรียนวัดสุทธิวราราม

Wat Suthiwararam School

Home / academy / โรงเรียนวัดสุทธิวราราม
โรงเรียนวัดสุทธิวราราม เป็นโรงเรียนแรกในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ราษฎรสร้างขึ้นแล้วยกให้กระทรวงธรรมการ มีพระราชหัตถเลขาชมเชยให้การสร้างโรงเรียนวัดสุทธิวรารามเป็นแบบอย่างของการบำเพ็ญกุศลที่ต้องด้วยพระราชนิยมเป็นอย่างยิ่ง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดเป็นโรงเรียนแรกในรัชกาล เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 โดยใช้ชื่อพระราชทานจากพระองค์ว่า โรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวราราม ปัจจุบันมีโรงเรียนวัดสุทธิวรารามมีอายุ 104 ปี เปิดทำการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่… See More

โรงเรียนวัดสุทธิวราราม เป็นโรงเรียนแรกในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ราษฎรสร้างขึ้นแล้วยกให้กระทรวงธรรมการ มีพระราชหัตถเลขาชมเชยให้การสร้างโรงเรียนวัดสุทธิวรารามเป็นแบบอย่างของการบำเพ็ญกุศลที่ต้องด้วยพระราชนิยมเป็นอย่างยิ่ง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดเป็นโรงเรียนแรกในรัชกาล เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 โดยใช้ชื่อพระราชทานจากพระองค์ว่า โรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวราราม

ปัจจุบันมีโรงเรียนวัดสุทธิวรารามมีอายุ 104 ปี เปิดทำการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-6 เป็นโรงเรียนชายและเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ดำเนินนโยบายแผนปฏิบัติการประจำปีสอดคล้องกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มีเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา

โรงเรียนวัดสุทธิวราราม

สุทธิวราราม

ประวัติความเป็นมา
โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ถูกสถาปนาขึ้นบนธรณีสงฆ์ของบริเวณที่เดิมเรียกว่าวัดลาว เนื่องจากเดิมวัดลาวนี้เป็นวัดร้าง ในพ.ศ. 2424 ท่านผู้หญิงสุทธิ์ มารดาของท่านปั้น ภรรยาเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ลำดับที่ 6 ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างวัดลาวขึ้นใหม่และหลังจากได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดสุทธิวราราม” ตามนามของท่านผู้หญิงสุทธิ์

ภายหลังวัดนี้ทรุดโทรมลง ท่านปั้นมีกตัญญูระลึกถึงคุณบิดามารดา และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้ปฏิสังขรณ์ก่อสร้างขึ้นบริบูรณ์ในพ.ศ. 2442 และได้เป็นผู้อุปถัมภ์วัดสุทธิวราราม โดยท่านได้รับการแต่งตั้งพระราชทานสัญญาบัตรมรรคนายกเป็นมรรคนายิกาวัดสุทธิวราราม ต่อมาเมื่อท่านปั้น อุปการโกษากร ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2451 ด้วยโรคฝีที่ข้อศอกข้างซ้าย พระศิริศาสตร์ประสิทธิ์ (สุหร่าย วัชราภัย) บุตรชายดำรงตำแหน่งมรรคนายกวัดสุทธิวรารามต่อจากมารดา เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2451
คุณหญิงวิเชียรคีรี (สมบุญ วัชราภัย ณ สงขลา) ภริยาพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ลำดับที่ 8
คุณหญิงสุรบดินทรสุรินทรฦๅชัย (บุญรอด วัชราภัย จารุจินดา) ภริยาเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦๅชัย (พร จารุจินดา) สมุหพระนครบาล อุปราชมณฑลพายัพ และองคมนตรี
นางอนันตสมบัติ (เชื้อ วัชราภัย ณ สงขลา) ภริยาพระอนันตสมบัติ (เอม ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา มารดาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานองคมนตรี และพระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) องคมนตรี
พระศิริศาสตร์ประสิทธิ์ (สุหร่าย วัชราภัย) ต่อมาเป็น ต่อมาเป็น พระยาพิจารณาปฤชามาตย์มานวธรรมศาสตร์สุปฤชา (สุหร่าย วัชราภัย) องคมนตรี
คุณหญิงเพชรกำแหงสงคราม (เป้า วัชราภัย ยุกตะนันท์) ภริยาพระยาเพชรกำแหงสงคราม (มะลิ ยุกตะนันท์) ผู้สำเร็จราชการเมืองชุมพร ลำดับที่ 12
หลวงการุญนรากร (แดง วัชราภัย) ต่อมาเป็น พระกรณีศรีสำรวจ (แดง วัชราภัย)
คุณหญิงศรีสังกร (ตาบ วัชราภัย จารุรัตน์) ภริยาพระศรีสังกร (ตาด จารุรัตน์) ต่อมาเป็น พระยาศรีสังกร (ตาด จารุรัตน์) ประธานศาลฎีกา
มีประสงค์จะสร้างอนุสรณ์สถานเพื่ออุทิศเป็นทักษิณานุปทานแด่มารดา โดยมีพระศิริศาสตร์ประสิทธิ์เป็นหัวหน้า ตกลงกันว่าจะบำเพ็ญกุศลสนองคุณบุพการีในการฌาปนกิจศพท่านปั้นผู้เป็นมารดาซึ่ง ด้วยการสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ คือ “สถานศึกษา” จึงได้รวบรวมทุนทรัพย์จัดสร้างโรงเรียนขึ้นในบริเวณที่ธรณีสงฆ์วัดสุทธิวราราม

พระศิริศาสตร์ประสิทธิ์ ได้เป็นผู้นำในการปรึกษาเรื่องดังกล่าวกับกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ซึ่งได้ให้ความร่วมมือในการออกแบบก่อสร้างอาคารตามแบบที่เหมาะสม และได้เป็นผู้อุปการะโรงเรียนต่อมาอีกด้วย โรงเรียนดังกล่าวซึ่งกรมศึกษาธิการรับไว้เรียกชื่อว่า “‘โรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวราราม”‘ เริ่มเปิดทำการสอนในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 เป็นวันแรก และมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2454
พิธีเปิดโรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวรารามอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิด หลวงวิจิตรวรสาสน์ อาจารย์ใหญ่ ถวายรายงาน เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ชักเชือกเปิดผ้าคลุมป้ายนามโรงเรียน เริ่มทำการเรียนการสอนในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จากนั้นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้ทำหนังสือรายงานเรื่องดังกล่าวไปถวาย พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นปราจิณกิติบดี ราชเลขานุการ ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2454
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบความกราบบังคมทูลแล้ว จึงมีพระราชหัตถเลขาตอบกลับมายังราชเลขานุการในวันเดียวกัน พระราชกระแสในพระราชหัตถเลขา
เมื่อพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ได้รับพระราชหัตถเลขาตอบกลับมาจากราชเลขานุการและถวายร่างประกาศพระราชนิยมเรื่องบำเพ็ญกุศลในวิธีสร้างโรงเรียน ในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จากจดหมายราชการกระทรวงธรรมการเลขที่ 283/3530 โดยมีพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตอบกลับมาว่า “ดีแล้ว ออกได้” จึงได้ประสานและนำเรื่องแจ้งความต่อหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ตีพิมพ์ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2454
จากหลักฐานที่พบจึงสามารถระบุได้ว่า “โรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวรารามเป็นโรงเรียนแห่งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ราษฎรสร้างขึ้นแล้วยกให้กระทรวงธรรมการใช้เป็นโรงเรียน ซึ่งต้องด้วยพระราชนิยมในการสร้างโรงเรียนแทนวัด”

ในปีวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ เสด็จมาตรวจโรงเรียน มีหลวงอนุพันธ์ฯ เจ้าพนักงานจัดการแขวงตะวันออกใต้เป็นผู้นำเสด็จ

เมื่อ พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมนี ทางรัฐบาลจึงส่งทหารเข้ายึดพื้นที่ที่ดินของบริษัทวินด์เซอร์โรซซึ่งชาวเยอรมันเช่าที่วัดสุทธิวรารามอยู่ โรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวรารามจึงได้ขยายพื้นที่โรงเรียนออกไป โดย ขุนสุทธิดรุณเวทย์ (ชื่น วิเศษสมิต) ครูผู้ปกครอง ได้ขอที่ดินดังกล่าวจากเจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม เพื่อสร้างโรงเรียนชั้นประถม จึงรื้อโรงเรียนประถมวัดยานนาวาปลูกสร้างต่อจากโรงเรียนเดิมไปทางตะวันตก เป็นแผนกประถมของโรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวราราม เมื่อแล้วเสร็จ กระทรวงธรรมการเห็นควรให้เปิดโรงเรียนสตรีขึ้นอีกแผนก จึงได้เปิดเป็น โรงเรียนสตรีวัดสุทธิวราราม อยู่บริเวณเดียวกับโรงเรียนมัธยมพิเศษสุทธิวราราม มีรั้วกั้นอาณาเขตแต่มีประตูเดิมเชื่อมถึงกันได้ โดยนักเรียนโรงเรียนสตรีวัดสุทธิวรารามเดินเข้าออกโรงเรียนทางถนนเข้าสะพานปลา

ในสมัยที่ขุนชำนิขบวนสาสน์เป็นผู้บริหารโรงเรียน จัดการเปิดการเรียนการสอนทั้งหมด 9 ชั้น รวมทั้งสิ้น 12 ห้อง คือ ชั้นประถมสามัญ 1-3 มัธยมสามัญตอนต้น ม.1-3 และมัธยมสามัญตอนกลาง ม.4-6 ไม่มีมัธยมสามัญตอนปลายคือ ม.7-8 นักเรียนที่ประสงค์จะเรียนต่อในระดับชั้นดังกล่าว จะต้องไปศึกษาที่อื่น ซึ่งในขณะนั้นเปิดรับสมัครอยู่ 2 แห่ง คือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนเทพศิรินทร์

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2470 เวลา 04.00 น. เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่ตลาดบ้านทวาย แล้วลุกลามมาถึงโรงเรียนชั้นประถมและบริเวณห้องสมุด กระทรวงธรรมการจีงได้สร้างตึกหลังใหม่ให้ต่อต่อกับตึกหลังเดิม โดยยื่นไปทางทิศใต้เป็นรูปตัวแอล ไม่ปรากฏว่าชั้นประถมมีการเปิดดการเรียนการสอนต่อหรือไม่

ต่อมาในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 สมัยที่ขุนชำนิขบวนสาสน์ดังรงตำแหน่งรักษาการอาจารย์ใหญ่เป็นครั้งที่ 2 กระทรวงธรรมการได้สร้างโรงเรียนสตรีวัดสุทธิวรารามขึ้นใหม่ที่ตรอกยายกะตา โดยใช้ชื่อใหม่ว่า โรงเรียนสตรีบ้านทวาย ปัจจุบันคือ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย และอพยพนักเรียนสตรีไป

ปลายปีการศึกษา 2484 เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา โรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวรารามก็ถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดเป็นค่ายพักอาศัยชั่วคราว โรงเรียนจึงต้องปิดทำการสอน ไม่มีการจัดสอบไล่ กระทรวงธรรมการจึงใช้ผลการเรียนและเวลาเข้าเรียนเป็นการตัดสินสอบได้-ตก

ในปีต่อมา สงครามทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลายบริษัทบอร์เนียว ทำให้อาคารโรงเรียนด้านตะวันตก ส่วนที่เป็นห้องเก็บเครื่องมือวิทยาศาสตร์ถูกทำลายไปด้วย รัศมีการทำลายของระเบิดกินเนื้อที่ไปถึงอู่กรุงเทพ เมื่อโรงเรียนไหม้หมดแล้ว หินอ่อนแผ่นสูงจารึกพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและบันทึกการเสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดโรงเรียนก็ได้อันตรธานหายไปในครั้งนั้น ระยะนี้นักเรียนต้องอาศัยศาลาเชื้อ ณ สงขลา (สีเหลือง) ศาลาการเปรียญในวัดสุทธิวรารามเป็นที่เรียนชั่วคราว ต่อมากระทรวงธรรมการจึงได้สร้างเรือนไม้ชั้นเดียวมุงจาก ฝาลำแพน (ปัจจุบันคือที่ตั้งอาคารเฉลิมพระเกียรติร. 9) เป็นที่เรียนชั่วคราว

พ.ศ. 2490 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดสร้างอาคาร 2 ชั้น คืออาคาร 1 ซึ่งรื้อถอนออกแล้ว ออกแบบโดยหลวงสวัสดิ์สารศาสตรพุทธิ อธิบดีกรมวิสามัญศึกษา (อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม) จึงได้เชิญ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช กระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2491

ต่อมาเมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2495 ได้รื้อเรือนหลังคามุงจากออก พอถึงเดือนตุลาคมจึงได้มีการสร้างอาคาร 3 ชั้น คืออาคาร 2 ซึ่งปัจจุบันรื้อถอนไปแล้ว กับหอประชุมอีก 1 หลัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2496 จึงได้งบประมาณต่อเติมอาคาร 2 และอาคาร 3ซึ่งมี 2 ชั้น และหอประชุมจนเสร็จสมบูรณ์ หลวงสวัสดิ์สารศาสตรพุทธิ อธิบดีกรมวิสามัญศึกษา จึงเชิญ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายมังกร พรหมโยธี มาเปิดอาคารทั้ง 2 เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2498

ในปี พ.ศ. 2503 – 2505 ได้ตัดชั้นมัธยมปีที่ 1, 2 และ 3 ออกปีละลำดับชั้น และในปี พ.ศ. 2506 ได้เปลี่ยนชั้นมัธยมปีที่ 4-6 เป็น”ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3″ แลเปลี่ยนชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1-2 เรียกว่า “ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5″(ปัจจุบันคือ ชั้นมัธยมปีที่4-6)

ใน พ.ศ. 2511 ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ให้งบประมาณสร้างกำแพงหน้าโรงเรียนใหม่ โดยรื้อของเก่าทิ้งและสร้างหอประชุม ห้องอาหารขึ้นอีกหนึ่งตึก เป็นตึกชั้นเดียวไม่มีฝาผนังอยู่หลังตึก 1

ปลาย พ.ศ. 2512 ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ให้งบประมาณสร้างตึกอาคารเรียน 3 ชั้นยาวตามแนวขนานกับถนนเจริญกรุง บริเวณหน้าโรงเรียน ขึ้นอีกตึกหนึ่ง คืออาคารสุทธิ์รังสรรค์(ตึก 4) ในปัจจุบัน และย้ายเสาธงกลางสนามมาตั้งใหม่(หน้าอาคาร 7 ในปัจจุบัน) ส่วนบริเวณเสาธงเดิมได้สร้างสนามบาสเก็ตบอลแทนที่สนามเก่าที่ถูกทำลายลงในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา

ในปีงบประมาณ 2515 ทางโรงเรียนได้รับงบประมาณ จำนวน 4 ล้านบาทเศษ สร้างอาคารเรียน 6 ชั้น มีชื่อว่าอาคารปั้นรังสฤษฏ์ มีจำนวน 18 ห้องเรียน ปีงบประมาณ 2519 ได้รับงบประมาณ จำนวน 4 ล้านบาทเศษ สร้างอาคาร 3 ชั้น ปัจจุบันคืออาคารวิจิตรวรศาสตร์ เป็นอาคารอเนกประสงค์ และเนื่องจากสมัยนั้นโรงเรียนประสบปัญหาเรื่องสถานที่เรียนของนักเรียนเป็นอย่างมาก ปีหนึ่งๆมีนักเรียนสมัครเรียนจำนวนมากจนมีห้องเรียนไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องแบ่งนักเรียนเรียนเป็น 2 ผลัดซึ่งยากแก่การปกครองดูแล ในปีงบประมาณ 2520 ทางโรงเรียนจึงได้รับงบประมาณ จำนวน 6 ล้านบาทเศษ สร้างอาคารเรียน 4 ชั้น เรียกว่าอาคารพัชรนาถบงกช มีจำนวน 18 ห้องเรียน เมื่อปีการศึกษา 2523 เนื่องจากมีสถานที่เรียนเพียงพอ จึงได้มีการเรียนการสอนเป็นผลัดเดียว
ปีงบประมาณ 2530 ได้รับงบประมาณสร้างโรงฝึกงานแบบมาตรฐาน 306 ล./27 จำนวน 1 หลัง เป็นเงิน 3 ล้านบาทเศษ เป็นอาคาร 4 ชั้น สร้างแทนที่อาคาร 3 หลังเก่า แล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 คืออาคารพัชรยศบุษกร

ปีการศึกษา 2532 พลเอกประเทียบ เทศวิศาล นายกสมาคมนักเรียนเก่าสุทธิวราราม พร้อมด้วยอดีตผู้อำนวยการโรงเรียน นายสุชาติ สุประกอบ คณะครู-อาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครองได้จัดทอดผ้าป่าสร้างอาคารธรรมสถานบริเวณทางเข้าโรงเรียน ประดิษฐานหลวงพ่อสุทธิมงคลชัย พระพุทธรูปประจำโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,600,000 บาทเศษ

ปีงบประมาณ 2533 ได้รับงบประมาณ 3,775,000 บาท สร้างแฟลตนักการภารโรง จำนวน 20 หน่วย 1หลัง ในปีการศึกษา 2534 โรงเรียนได้ต่อเติมห้องเรียนอีก5ห้องบริเวณชั้นล่างอาคารปั้นรังสฤษฏ์ เพื่อรองรับนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และในปีเดียวกัน เป็นปีครบรอบ 80 ปีวันสถาปนาโรงเรียนวัดสุทธิวราราม คณะศิษย์เก่า รุ่น 2500 ได้ร่วมกันจัดสร้างรูปปั้น ท่านปั้น อุปการโกษากร ผู้ให้กำเนิดโรงเรียนวัดสุทธิวราราม เพื่อให้ทุกคนได้สักการบูชา

ปีการศึกษา 2535 ได้รับอนุมัติงบประมาณของปี 2536 จำนวน 9,000,000 บาท และปี 2537 ผูกพันงบประมาณอีก 50,400,000บาท จากกรมสามัญศึกษา ก่อสร้างอาคารเรียนแบบพิเศษ 9 ชั้น ณ บริเวณที่ตั้งอาคาร 2 โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระกรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนิน มาทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ได้รับพระบรมราชานุญาติ ให้ใช้ตรากาญจนาภิเษก ประจำอาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.9(ตึก 9) เริ่มใช้เมื่อปีการศึกษา 2537

ปีการศึกษา 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนิน มาทรงเปิดนิทรรศการ “ศตวัชรบงกช 100 ปี วัดสุทธิวราราม” เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ทั้งนี้เพื่อหารายได้ก่อสร้างเพิ่มเติมหอประชุมชั้น 10 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.9(ตึก 9)

Logo_Suthi_Transparency

ตราประจำโรงเรียน
“ดอกบัว” เป็นดอกไม้ที่เปรียบได้กับความบริสุทธิ์ สะอาด ชาวพุทธใช้ดอกบัวสำหรับเป็นพุทธบูชา หมายความว่า นักเรียนโรงเรียนวัดสุทธิวรารามทุกคนมีความสะอาด บริสุทธิ์ ทั้งกาย วาจา และใจ

“เพชร” เป็นอัญมณีล้ำค่า มีความแข็งแกร่งในตนเอง มีความงามจากเหลี่ยมต่างๆที่เปล่งประกาย โดยมีช่างฝีมือยอดเยี่ยมในการเจียระไน หมายความว่า นักเรียนโรงเรียนวัดสุทธิวรารามจะต้องเข้มแข็ง มีความเป็นลูกผู้ชาย เมื่อได้รับการศึกษาอบรมให้มีความรู้ และคุณธรรมแล้ว จึงเปรียบเสมือนเพชรที่ได้รับการเจียระไนจากครูบาอาจารย์ ย่อมทรงคุณค่าและเปล่งประกายแห่งความดี

สีประจำโรงเรียน
สีชมพู แทน ความสุภาพเรียบร้อยอ้อนน้อมถ่อมตน
สีขาว แทน ความ บริสุทธิ์ยึดมั่นในศีลธรรม
สีเขียว แทน ความเจริญงอกงามอย่างเป็นธรรมชาติสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม
ต่อมาได้ขยายความหมายให้สอดคล้องกับการเป็นสัญลักษณ์ของสีธงชาติ เพื่อให้นักเรียนโรงเรียนวัดสุทธิวรารามทุกคน ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ธรรมสถาน
ธรรมสถานจัดสร้างขึ้นใหม่เพื่อแทนที่ธรรมสถานหลังเก่า ในสมัยผู้อำนวยการ สุชาติ สุประกอบ โดยมี พลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าของโรงเรียน เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสุทธิมงคลชัยและเป็นที่ตั้งของศาลพระภูมิเจ้าที่

พระพุทธสุทธิมงคลชัย

พระพุทธสุทธิมงคลชัย หรือ หลวงพ่อสุทธิมงคลชัย พระพุทธรูปประจำโรงเรียน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ตั้งอยู่ ณ ธรรมสถาน บริเวณทางเข้าโรงเรียน เมื่อนักเรียน บุคลากรของโรงเรียนผ่านเข้าออกบริเวณโรงเรียนจะไหว้ทำความเคารพเสมอ

รูปหล่อท่านปั้น

รูปหล่อท่านปั้น อุปการโกษากร หรือ นางอุปการโกษากร (ปั้น ณ สงขลา วัชรภัย) มรรคนายิกาวัดสุทธิวราราม ภริยาหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย) บุตรีเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) เจ้าเมืองสงขลาลำดับที่ 6 กับ ท่านผู้หญิงสุทธิ์ บุตรีพระยารัตนโกษา (บุญเกิด) ผู้ปฏิสังขรณ์วัดลาว ซึ่งภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดสุทธิวราราม” ตามนามท่านผู้หญิงสุทธิ์นั้นเอง ภายหลังจากที่ท่านปั้นถึงแก่กรรม บรรดาทายาทของท่านปั้นมีความประสงค์จะจัดสร้างอนุสรณ์สถานเพื่ออุทิศเป็นทักษิณานุปทานแด่มารดา จึงได้รวบรวมทุนทรัพย์สร้างโรงเรียนขึ้นในที่ดินเดิมของท่านปั้นที่ได้ยกให้แก่วัด เพื่อให้เป็นสถานที่อบรมและให้การศึกษาแก่เยาวชนของชาติ โดยให้ชื่อว่า โรงเรียนวัดสุทธิวราราม

อักษรย่อ : ส.ธ. (ST)
ประเภท : รัฐบาล โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
สถาปนา : 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2454[1]
ผู้ก่อตั้ง : บุตร-ธิดาท่านปั้น อุปการโกษากร โดยมีพระยาพิจารณาปฤชามาตย์ (สุหร่าย วัชราภัย) เป็นหัวหน้า
โรงเรียนพี่น้อง : โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย
เขตการศึกษา : เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 สหวิทยาเขตราชนครินทร์
ผู้อำนวยการ : ดร.สุนันทวิทย์ พลอยขาว
เพลง : มาร์ชสุทธิวราราม, รวมใจชาวสุทธิฯ, รอบรั้วของเรา, อาลัยลา, อาลัยพี่, ชื่นชุมนุมสุทธิฯ
สัญลักษณ์ : ดอกบัวและเพชร
ฉายาทีมกีฬา : สิงห์สะพานปลา
สังกัดการศึกษา : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
เว็บไซต์ : www.suthi.ac.th
facebook :WichakarWadSuththiwraram

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ www.suthi.ac.th

See Less

กิจกรรม โรงเรียนวัดสุทธิวราราม

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

ดาวเด่น โรงเรียนวัดสุทธิวราราม

ชิลเอ้าท์ โรงเรียนวัดสุทธิวราราม

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

มุมต่างๆในรั้ว โรงเรียนวัดสุทธิวราราม

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้

เรื่องเล่า โรงเรียนวัดสุทธิวราราม

ยังไม่มีเนื้อหาในหมวดนี้