ผลงานละครเวทีเทิดพระเกียรติ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง 755 ปี จ.เชียงราย และครบรอบ 45 ปีของ มรภ.เชียงราย โดยผลงานละครเวทีเทิดพระเกียรติ “พญามังรายหลวง” มีนักศึกษาร่วมแสดงกว่า 250 คน!!
ละครเวทีเทิดพระเกียรติ พญามังรายหลวง
ความเป็นมาของเรื่อง
เรื่อง “พ่อขุนเม็งราย” ได้แต่งเป็นบทละครขึ้น โดยอาศัยโครงเรื่องจากพงศาวดารโยนกที่เขียนโดย พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพ่อขุนเม็งรายกษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ ที่ทำการปราบพวกมอญจนราบคาบ และจัดแสดงเป็นแบบละครดึกดำบรรพ์ แต่จุดประสงค์ของการแต่งบทละครเรื่องนี้ คือ ต้องการเล่นละครเท่านั้น ดังที่ผู้ประพันธ์ สมภพ จันทรประภา เขียนไว้ในเกริ่นเรื่องว่า
“ละครที่จัดเล่นครั้งนี้จัดเป็นเพียงละครเท่านั้น ไม่ใช่ตำนาน ไม่ใช่พงศาวดาร เพราะนางจวงจันทร์ก็ดี พระมหาเทวีก็ดี ที่เป็นเจ้านายฝ่ายในเมืองลำพูน ไม่มีปรากฏในพงศาวดาร มีแต่อยู่ในจินตนาการของผู้เขียน นอกจากนั้นผู้เขียนไม่ได้ออกนอกรอยของประวัติศาสตร์แต่ประการใด” จากข้อความดังกล่าวทำให้ทราบได้ว่า ผู้ประพันธ์ได้แต่งบทละครเรื่องนี้ขึ้นโดยรักษาประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นอย่างดี แต่การแต่งบทละครย่อมจะมีการเสริมหรือเพิ่มความสำคัญของตัวละครขึ้นบ้างเพื่อความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
เรื่องย่อ “พ่อขุนเม็งราย หรือ พญามังรายหลวง”
พ่อขุนเม็งราย กษัตริย์เมืองเชียงรายได้เสด็จมาเมืองลำพูน และได้พบกับอ้ายฟ้าทหารคนสนิทที่ลอบเข้ามาสืบข่าวเมืองลำพูนที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของมอญ โดยมีพญายีบาปกครองอยู่ พ่อขุนเม็งรายนั้นคิดจะยึดเมืองลำพูนคืนจึงได้ลอบเข้ามาจนพบกับนางจวงจันทร์ผู้เป็นบุตรีของพญายีบา
พญามังรายหลวง
พญายีบา
จวงจันทร์
เมื่อพระมหาเทวีประภาจับได้ว่าทั้งสองลักลอบพบกันก็โกรธ เพราะตั้งใจไว้ว่าจะยกนางจวงจันทร์ให้กับเจ้ากรุงหงสาวดี พ่อขุนเม็งรายออกอุบายลงโทษอ้ายฟ้าด้วยการเฆี่ยนตี แล้วปล่อยกลับไปลำพูน เมื่ออ้ายฟ้ากลับมาหาพญายีบาแล้ว ก็ได้รับใช้ใกล้ชิดจนเป็นที่วางพระทัยของพญายีบา
พระมหาเทวีประภา
อ้ายฟ้า
ครั้นสบโอกาสอ้ายฟ้าก็แกล้งปล่อยข่าวให้ร้ายพญายีบาและสรรเริญพ่อขุนเม็งรายไปพร้อมๆ กัน เมื่อเมืองลำพูนเกิดความระส่ำระสาย อ้ายฟ้าก็แจ้งไปยังพ่อขุนเม็งรายจนสามารถยึดเมืองคืนมาได้ และได้ฆ่าพญายีบาตาย ทำให้นางจวงจันทร์นั้นโกรธมาก พ่อขุนเม็งรายจึงส่งนางและพระมหาเทวีประภาไปอยู่หงสาวดี แล้วให้ทหารไปเชิญพ่อขุนรามคำแหง และพระยางำเมืองเพื่อนสนิทมาช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ต่อไป
จุดเด่นของการแสดง
ฉากขบวนแห่ พญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหง มาร่วมสร้างเมืองกับ พญามังราย ที่ยืนเด่นเป็นสง่าพร้อมกันทั้ง 3 พระองค์ พร้อมเครื่องแต่งกายของตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์จาก ฝีมือ อ.โกมล พานิชพันธ์ นักปราชญ์ ผ้าโบราณ จาก จ.แพร่ และขบวนช่างฟ้อนที่สวยงามสไตล์ล้านนาของนักศึกษาหญิงร่วมร้อยคน
คุณค่าที่คิดว่าผู้ชมจะได้รับจากการชม
ชื่นชมในความสามารถของนักศึกษาทั้งชายและหญิง มร.ชร. กว่า 250 ชีวิต บนเวทีใหญ่ อลังการ ตระการตาด้วย ฉาก สี เสียง แสง และยังเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ ครั้งแรก ครั้งประวัติศาสตร์ของ จังหวัดเชียงรายที่เกี่ยวข้อง “พญามังรายหลวง” ที่แสดงในถิ่นที่พระองค์เป็นกษัตริย์องค์แรกที่เป็นผู้สร้างเมืองเชียงราย พ.ศ.1805
ฝากผลงานที่จะมีครั้งต่อไป และฝากถึงผู้ที่สนใจ
ผลงานที่แสดงออกบนเวที ย่อมสะท้อนถึงคุณภาพของผู้แสดง ที่ได้รับความชื่นชมจากผู้ชมว่า เป็นระดับละครมืออาชีพ แม้ไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อน แต่ทุกคนรับผิดชอบและตั้งใจและให้ใจกับงานจนงานออกมาดีเกินคาด ได้รับเสียงปรบมือกึกก้อง จากผู้ชม ทั้ง 4 รอบ ทั้งบทบาท น้ำ เสียง และลีลา ขอให้ทุกคนตั้งใจทำงานใดๆ ก็ตามขอให้มีความสามัคคี มีวินัย มีความรักกับงาน ที่ได้รับผิดชอบ และพยายามทำให้ดีที่สุดเหมือนการแสดงละครในครั้งนี้
หากมีโอกาสแสดงอีกก็ขอให้เก็บข้อบกพร่อง ตกหล่น ที่เป็นอุปสรรคที่ผ่านมา มาเป็นบทเรียนและแก้ไขต่อไป ให้บังเกิดผลดีที่สุด และจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ ให้กว้างระดับนานาชาติด้วยเพื่อให้ทุกๆ คนได้ชมฝีมือการแสดงของนักศึกษา ม.ราชภัฏเชียงราย ว่ามืออาชีพแค่ไหน
.
ติดตามคอลัมน์อื่นๆ ได้ที่นิตยสาร Campus Star No.65
Facebook : www.facebook.com/CAMPUSSTAR