ประกาศผลไปเรียบร้อยแล้วสำหรับโครงการ “กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว” ปีที่ 12 โครงการประกวดดีๆ ที่ช่วยหล่อหลอมให้เยาวชนมีความรู้คู่จริยธรรมและร่วมใจกันพลิกฟื้นชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในวันประกาศผลคณะกรรมการและผู้บริหารธนาคารกรุงไทยมาร่วมเป็นกำลังใจให้กับเยาวชนทั้ง 15 ทีมที่ขับเคี่ยวกันในรอบสุดท้าย ซึ่งต่างช่วยกันคิดกลยุทธ์ ที่จะดึงจุดเด่นและไอเดียการทำโครงงานออกมาสร้างความประทับใจให้คณะกรรมการ
โครงงาน ธนาคารน้ำใต้ดิน ก้าวต่อตามรอยพ่อ
คว้าชัยเวที กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว
แต่รางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศมีเพียง 1 รางวัลเท่านั้น ซึ่งโครงงานที่มีความโดดเด่น สามารถฝ่าด่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้น จากคณะกรรมการจนได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โครงงาน ธนาคารน้ำใต้ดิน ก้าวตามรอยพ่อ จาก ทีมเด็กไทบ้าน ธนาคารน้ำใต้ดิน โรงเรียนอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศเป็นถ้วยพระราชทาน จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัลรวม 500,000 บาทแล้ว นอกจากนี้ยังชนะใจมหาชนด้วยการคว้ารางวัล Popular Vote มาครองด้วย
หวังให้ กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว เป็นจุดเริ่มต้น
นางศิริพร นพวัฒนพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคาร มุ่งหวังที่จะให้โครงการ “กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว” เป็นจุดเริ่มต้นให้เยาวชนไทยเป็นคนเก่ง คนดี มีความรู้คู่คุณธรรม และนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิต และนำไปขยายผลไปสู่ครอบครัวและชุมชน
โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมปลาย และปวช.ทั่วประเทศ ส่งโครงงานพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาประกวด โดยทีมที่เข้ารอบสุดท้าย 15 ทีม จะได้รับทุนดำเนินโครงงานจากธนาคารฯ เพื่อนำไปใช้ลงมือดำเนินโครงงานจริงตามแผนที่เสนอมา
ธนาคาร รู้สึกยินดีที่เห็นเยาวชนทั่วประเทศตอบรับ
“ธนาคาร รู้สึกยินดีที่เห็นเยาวชนทั่วประเทศตอบรับเข้าร่วมโครงการนี้เพิ่มขึ้นทุกปี ตลอด 12 ปีที่จัดโครงการมา โครงงานที่ส่งเข้าประกวดมีมาตรฐานดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถพัฒนาต่อยอด ทำให้เกิดโครงงานดีๆ กว่า 700 โครงงาน มีเยาวชนกว่า 40,000 คน ที่ได้ศึกษาและนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตและครอบครัว รวมทั้งนำไปพัฒนาและแก้ปัญหาให้ชุมชนที่ตนอาศัย ซึ่งหลายโครงงานที่ทำสำเร็จแล้ว ยังเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นนำไปศึกษา ทำให้ความรู้ขยายออกไปเป็นเครือข่าย
ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของเรา เพราะเราไม่ต้องการให้โครงงานจบลงหลังการประกวด แต่ต้องการให้โครงงานต่างๆ ดำเนินการต่อไป สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างธนาคาร สถานศึกษา ชุมชน สังคม เกิดการบูรณาการต่อยอด และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน สำหรับโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ก้าวต่อตามรอยพ่อ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้นับว่าน่าสนใจมาก เป็นโครงงานที่มองไปในอนาคต ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาน้ำ โดยนำปัญหาของชุมชนเป็นตัวตั้ง แล้วนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้” นางศิริพร กล่าว
ทีมเด็กไทบ้าน ธนาคารน้ำใต้ดิน
นางสาวทอฝัน ก้อนคำ, นางสาวพรนภา ธรรมจักร์, นางสาวกฤติมา อรภาพ, นางสาวพรรณฑิมาภรณ์ ไชโย และนางสาวณัฐณิชา บุญหลง สมาชิกจาก ทีมเด็กไทบ้าน ธนาคารน้ำใต้ดิน ช่วยกันอธิบายถึงโครงงาน ธนาคารน้ำใต้ดิน ก้าวต่อตามรอยพ่อ ว่า “แรงบันดาลใจที่ทำให้ทำโครงงานเกี่ยวกับธนาคารน้ำใต้ดิน เกิดจากปัญหาในชุมชนที่น้ำแล้งและน้ำท่วม ซึ่งตั้งแต่ปี 2559 น้ำตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญมีน้อยมาก นับเป็นวิกฤตภัยแล้งในรอบ 15 ปี ขณะเดียวกันชุมชนก็มีการขุดเจาะน้ำบาดาลสูบมาใช้มากขึ้น ขาดการเติมน้ำลงสู่ใต้ดิน ทำให้น้ำสำหรับทำการเกษตรขาดแคลน เมื่อฝนตกน้ำก็ท่วมขัง พวกเราจึงไปศึกษาข้อมูลจากพระนิเทศศาสนคุณ ประธานสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ ที่จังหวัดบึงกาฬ เพื่อเรียนรู้หลักการกักเก็บน้ำใต้ดินและนำน้ำใต้ดินมาใช้”
น้องๆ อธิบายต่อว่า “เราได้ประชุมร่วมกับพระสงฆ์ที่ปรึกษา ครูที่ปรึกษา และผู้นำชุมชน เพื่อวางแผนทำโครงงานธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง และน้ำไม่ท่วมในหน้าฝน การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดคือการเติมน้ำลงใต้ดินในระดับบนสุดของน้ำใต้ดินที่เปลือกโลกชั้นผิวดิน ซึ่งเป็นเขตที่มีอากาศแทรกในชั้นหิน ทำให้บริเวณนั้นมีแหล่งน้ำใต้ดินมาก มีความชื้นในพื้นที่บริเวณนั้นมากขึ้น ดินดีขึ้น การระบายและไหลเวียนของอากาศดีขึ้น สภาวะแวดล้อมดีขึ้น กรณีที่มีน้ำเน่าเสียท่วมขัง น้ำเสียก็จะถูกดูดซึมลงสู่ผิวดิน ผ่านการกรองของชั้นดิน ชั้นหิน จนไปสู่ระดับที่ลึกของชั้นดิน ชั้นหิน จุลินทรีย์ต่างๆ ก็จะค่อยๆ หมดไป นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำแล้งแล้ว ยังเป็นการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และทำให้การทำการเกษตรดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ และมีการจ้างแรงงานคืนถิ่น”
“ผลลัพธ์ของโครงงานนี้ ยังทำให้เราสามารถสร้างเครือข่ายระหว่างโรงเรียน ชุมชน วัด ก่อให้เกิดความสามัคคี มีน้ำใจ มีจิตสาธารณะ เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และรู้จักใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามศาสตร์ในหลวงรัชกาลที่ 9 นอกจากนี้ เรายังได้ต่อยอดโดยนำความรู้ไปจัดอบรมให้ชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านก็เห็นประโยชน์จนเกิดการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มธนาคารน้ำใต้ดิน เกิดการขยายผลต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย และยังเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานที่ฐานเรียนรู้บ้านหนองเม็ก จังหวัดอำนาจเจริญ
ซึ่งพวกเราต้องขอบขอบคุณธนาคารกรุงไทยที่จัดโครงการกรุงไทย ต้นกล้าสีขาวขึ้น เป็นโครงการที่ดีที่ช่วยพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ และทำให้พวกเราได้พัฒนาตัวเอง ได้ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน อยากชวนเพื่อนๆ น้องๆ ในรุ่นต่อไปสมัครเข้าร่วมโครงการ เพื่อจะได้รับโอกาสดีๆ อย่างพวกเรา” ทีมเด็กไทบ้าน ธนาคารน้ำใต้ดิน กล่าวทิ้งท้าย
อีก 14 โครงงานที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้
นอกจากรางวัลชนะเลิศแล้ว ยังมีโครงงานที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้อีก 14 โครงการ รวมเงินรางวัลทั้งสิ้น 2,300,000 บาท ประกอบด้วย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โครงงาน วิถีพอเพียงผ่านไผ่มหัศจรรย์ สู่ชุมชนน้ำมวบใต้เงาเทือกเขาหลวงพระบาง จากทีม Wonderful Bamboo โรงเรียนสาธุกิจประชาสรรค์ รัชมังคลาภิเษก รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โครงงาน บำบัดน้ำเสีย สู่น้ำใส เพิ่มรากฐานในชุมชนได้อย่างยั่งยืนด้วยธูปฤาษี จากทีม V Organic โรงเรียนวังไกลกังวลในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลชมเชย รวม 12 โครงงาน ได้แก่
โครงงาน ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงจากผิวส้มเกลี้ยง โครงงาน อนุรักษ์ไหมลูกแก้ว ตามแนวพอเพียง หลีกเลี่ยงสารเคมี สู่วิถีความยั่งยืน โครงงาน สร้างวินัยทางการเงิน “ออมง่าย ลดจ่าย รายได้เพิ่ม” โครงงาน หัตถศิลป์สร้างสรรค์เสื่อยกลาย สร้างรายได้พัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โครงงาน อ.ส.ศ. โมเดล ชุมชนพอเพียง สู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน โครงงาน ใบอ้อย T 4.0 สู่นวัตกรรมแห่งความพอเพียง โครงงาน พลิกฟื้นชุมชนด้วยกระดาษสาพอเพียง โครงงาน ต่อ เติม แต่ง โครงงาน ชุมชนทอผ้า 3 R’s รักษ์โลก ชีวิตดี๊ดี โครงงาน MLS olden coffee พลิกฟื้นชุมชนเพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โครงงาน เสาหลักนำทางจากยางพารานวัตกรรมจากชุมชนสู่เชิงพาณิชย์ และโครงงาน วัสดุกันกระแทกจากกาบกล้วย ช่วยลดขยะเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน