สพฐ. – กอศ. มั่นใจ ปรับเกณฑ์รับ ม.3 ขึ้น ม.4 ใหม่ ไม่ส่งผลกระทบสายอาชีพ

เรียกได้ว่าเป็นข้อถกเถียงกันมาสักพักแล้ว สำหรับกรณีการปรับเกณฑ์การรับนักเรียน ม.3 ขึ้น ม.4 ใหม่ โดยที่โรงเรียนเดิมต้องรับทั้งหมด ก็ทำให้หลายฝ่ายเกิดความเป็นห่วงว่า การปรับเกณฑ์ใหม่ในการรับนักเรียนชั้น ม.4 นี้ อาจจะส่งผลกระทบทำให้เด็ก ๆ เลือกเรียนต่อทางด้านสายอาชีพหรือด้านอาชีวศึกษาน้อยลง และอาจจะส่งผลกระทบต่อการศึกษาด้านอาชีวศึกษาได้

ปรับเกณฑ์รับ ม.3 ขึ้น ม.4 ใหม่ ไม่ส่งผลกระทบสายอาชีพ

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศ สพฐ. เรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2562 ตามมติคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ภายในวันนี้ (12 ก.พ. 62) จะเสนอร่างประกาศดังกล่าวให้ นพ.ธีระเกียติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาให้ข้อเสนอแนะ ถ้าไม่มีประเด็นแก้ไขตนจะเป็นผู้ลงนามในประกาศ

ปรับเกณฑ์รับนักเรียนใหม่เหลือ 4 ข้อ

ทั้งนี้ มติ กพฐ. ที่ให้แก้ไขหลักเกณฑ์สำคัญตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำหรับการปรับแก้ไขดังกล่าวโดยเฉพาะกรณีการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษที่ให้ตัดเหลือ 4 ข้อ จากเดิม 7 ข้อ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบและเลือกตัดในเรื่องที่พิจารณาแล้วว่าไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ

แต่บางข้อที่ตัดไม่ได้จริง ๆ อย่างการบริจาคที่ดินจัดตั้งโรงเรียน เพราะมีข้อผูกพันอยู่ถ้ายกเลิกอาจมีผลกระทบ เช่น โรงเรียนหอวัง ใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย, โรงเรียนฤทธิยะวรรณลัย ที่ดินของทหารอากาศ และยังต้องคำนึงถึงโรงเรียนที่ตั้งบนที่ดินที่ชุมชนชาวบ้านบริจาคที่บางพื้นที่ยังมีข้อผูกพันกันอยู่ และที่จะไม่มีการตัดแน่นอน คือ การสงเคราะห์เด็กยากไร้ บุตรผู้เสียสละทำคุณประโยชน์ต่อชาติ

การปรับเกณฑ์รับ ม.3 เข้า ม.4 ใหม่

ส่วนประเด็นที่ให้โรงเรียนรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าเรียนต่อ ม.4 ทุกคน ได้มีเสียงสะท้อนกลับมาว่ามันอาจจะส่งผลกระทบต่อการเข้าเรียนสายอาชีพนั้น ดร.บุญรักษ์ (กพฐ.) มองว่าน่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ยืนยันว่า สพฐ. ส่งเสริมให้เด็กเรียนอาชีวะแน่นอน ซึ่งโรงเรียนสะท้อนว่าโดยธรรมชาติแม้ไม่ได้คัดเด็กออก 20% เด็กก็ออกไปเรียนที่อื่นทั้งเรียนอาชีวะ หรือไปเรียนสายสามัญที่โรงเรียนอื่น ๆ

โดยที่ผ่านมา สพฐ. ได้พยายามกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้เรื่องอาชีพ ผ่านการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลิร์นนิ่ง เพื่อให้เขาได้รู้จักตัวตน ความถนัดตนเอง และแนวโน้มที่เด็กไปเรียนอาชีวะเพิ่มมากขึ้นเห็นความแตกต่างได้ชัด ดังนั้น คนที่ตั้งใจจะออกไปเรียนอาชีวะเขาก็จะไปอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่ถ้าเด็กเขาไม่ไปเรียนอาชีวะต่อให้ออกจากโรงเรียนเดิมเขาก็ไปเรียน ม.4 ที่อื่น ส่วนที่จะกระทบสิทธิของเด็กใหม่ที่อยากจะสมัครเรียนต่อ ม.4 โรงเรียนก็ยืนยันว่าไม่กระทบเพราะสามารถบริหารจัดการ

กอศ. มั่นใจไม่กระทบต่อการเข้าเรียนสายอาชีพ

ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เตรียมประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2562 และได้มีการเปลี่ยนแปลงการรับนักเรียนชั้น ม.4 ก็มั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบกับการรับเด็กสายอาชีพหรือสายอาชีวศึกษาอย่างแน่นอน เชื่อว่าเด็กจะเลือกเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น เพราะหากเลือกเรียนสายสามัญแล้วเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยก็มีโอกาสต่อตกงาน (ในขณะนี้มีบัณฑิตจบใหม่ตกงานปีละกว่า 100,000 คน)

ซึ่งในตอนนี้การเข้าเรียนสายอาชีวะมีโอกาสได้ทำงานสูง เพราะเป็นสาขาที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในประเทศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ยังได้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนกว่า 200 หลักสูตร ให้มีความทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้นักเรียนที่จบออกไปมีงานทำทุกคน

อย่างไรก็ตาม สอศ. และ สพฐ. ก็มีความร่วมมือจัดการศึกษาทวิศึกษา เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยได้เรียนสายอาชีพควบคู่กับสายสามัญอยู่แล้ว และถึงแม้ว่า สพฐ. จะเปิดโอกาสให้เด็กเข้าเรียนต่อ ม.4 โรงเรียนเดิมได้ การเรียนทวิศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เด็ก ๆ จะได้เรียนสายอาชีพไปด้วย เพราะเป้าหมายของการศึกษาคือ การมีงานทำ

เลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบ…

ทั้งนี้ พี่ ๆ แคมปัส-สตาร์ อยากจะให้น้อง ๆ ที่กำลังจะเรียนจบชั้น ม.3 แล้วก้าวเข้าสู่การเป็นนักเรียนชั้น ม.4 หรือนักเรียนสายอาชีวศึกษา ขอให้ค้นหาตัวเองก่อนว่าตนเองมีความสนใจหรืออยากจะเรียนต่อทางด้านไหนมากกว่ากัน เพราะการเลือกเรียนต่อในสาขาที่ตนเองไม่ชอบหรือเลือกเรียนตามเพื่อนนั้น สุดท้ายแล้วมันอาจจะส่งผลเสียต่อเราได้ในอนาคต เราควรที่จะเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบ สนใจ และถนัดดีกว่า เรียนแล้วจะได้มีความสุขกันนะจ๊ะ ไฟติ้ง!!!

อ้างอิงข้อมูลจาก : www.matichon.co.th, www.springnews.co.th

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง