อยากเรียนต่อด้านบัญชี ถือได้ว่าเป็นคำยอดฮิตจริง ๆ สำหรับน้อง ๆ ที่รู้ว่าตนเองอยากเรียนต่อด้านบัญชี แต่ไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร จะเลือกเรียนสายสามัญ (เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย) หรือว่าจะเลือกเรียนสายอาชีพ (อาชีวศึกษา) อันไหนดีกว่ากัน?
อยากเรียนต่อบัญชี? สายสามัญ VS สายอาชีพ
ซึ่งอันดับแรกที่น้อง ๆ ควรทำก็คือ การวางแผนเส้นทางชีวิตของตนเองตั้งแต่ที่รู้เลยว่าอยากเรียนต่อทางด้านไหน โดยการตัดสินใจต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงที่น้อง ๆ กำลังจะเรียนจบชั้น ม.3 ซึ่งเส้นทางการเป็นเด็กบัญชีนั้น น้อง ๆ สามารถเลือกได้ 2 ทางด้วยกัน ได้แก่ เรียนต่อสายสามัญ VS เรียนต่อสายอาชีพ และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ก็ได้รวบรวมข้อมูลน่ารู้ของการเลือกเรียนในที่เส้นทางที่ใช่สำหรับตัวน้อง ๆ มาฝากกันด้วย ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย…
เส้นทางที่ 1 เรียนต่อสายสามัญ
สำหรับน้อง ๆ ที่เลือกเรียนต่อสามัญเพื่อสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย กล่าวคือ หลังเรียนจบ ม.3 เลือกเรียนต่อชั้น ม.4 (แผนการเรียนวิทย์-คณิตฯ หรือ แผนการเรียนศิลป์คำนวณ) และสอบเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย (คณะ/สาขาวิชาด้านบัญชี ใช้ระยเวลาในการเรียนทั้งหมด 4 ปีด้วยกัน)
เส้นทางนี้เหมาะสำหรับน้อง ๆ ที่ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่า ตัวเองมีความชอบ มีความถนัด หรือ อยากทำอาชีพอะไรในอนาคต ดังนั้นการเลือกเรียนสายสามัญจะช่วยทำให้น้อง ๆ สามารถเลือกเส้นทางการศึกษาต่อได้อย่างหลากหลาย และยังถือว่าใช้เวลาที่เรียนต่อ ม.4 นี้ ค้นหาความชอบ ความถนัดของตนเองได้ว่าจริง ๆ แล้วเราอยากเลือกเรียนทางด้านบัญชีจริงหรือไม่ หรือว่าอยากเรียนต่อทางด้านอื่นมากกว่ากัน
เลือกเรียนสายวิทย์-คณิต/ศิลป์คำนวณ
ถ้าหากน้อง ๆ อยากเรียนต่อคณะ/สาขาวิชาด้านบัญชี ก็ควรเลือกเรียนแผนการเรียนวิทย์-คณิตฯ หรือ แผนการเรียนศิลป์คำนวณ เพราะมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะมีการกำหนดคุณสมบัติในการสมัครเข้าเรียนเอาไว้ว่า ผู้สมัครจะต้องจบการศึกษาระดับชั้น ม.6 จากแผนการเรียนวิทย์-คณิตฯ หรือ แผนการเรียนศิลป์คำนวณ แต่ก็ยังมีในบางมหาวิทยาลัยที่เปิดรับสมัครน้อง ๆ ที่จบจากแผนการเรียนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
4 จุดคณิตศาสตร์ ที่ผิดกันบ่อย
Link seeme.me/ch/turboclassroom/MN1V19
วิชาที่ต้องเจอ เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย
เมื่อน้อง ๆ สามารถสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้แล้ว น้อง ๆ จะเวลาในการเรียนทั้งหมด 4 ปีด้วยกัน โดยวิชาหลัก ๆ ที่น้องจะต้องเจอกันก็คือ เศรษฐศาสตร์และการเงิน (คณิตศาสตร์) รวมถึงความรู้ในเรื่องการจัดการเบื้องต้น และกฏข้อบังคับของสถาบันการเงิน อุตสาหกรรม และหน่วยงานของภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีวิชาเฉพาะที่น้อง ๆ จะต้องเรียนอีกด้วย (ซึ่งในแต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะมีวิชาที่เหมือนกัน หรือคล้ายกัน หรือไม่เหมือนกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับทางมหาวิทยาลัยเป็นคนกำหนด)
และอีกหนึ่งสิ่งที่น้อง ๆ ยุคใหม่จะลืมไม่ได้เลยก็คือ นอกเราจะต้องมีความรู้ทางด้านทฤษฎี ทักษะในการคิดวิเคราะห์ประยุกต์ใช้ให้เข้ากับธรุกิจได้แล้ว เรายังจะต้องพัฒนาตนเองให้ก้าวทันเทคโนโลยี รู้ทันข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน อีกด้วย ถ้าเราสามารถทำได้ก็จะทำให้การเรียนและทำงานสายบัญชีเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย
อ่านเพิ่มเติม : อยากเรียนบัญชี เลือกเรียนที่ไหนดี คะแนนที่ใช้มีอะไรบ้าง จบแล้วทำงานอะไร?
เส้นทางที่ 2 เรียนต่อสายอาชีพ
น้อง ๆ ที่เลือกเรียนสายอาชีพ กล่าวคือ เมื่อเรียนจบ ม.3 ก็เลือกเรียนสายอาชีวศึกษาต่อในระดับ ปวช. 3 ปี (สายบัญชี) และเลือกไปเรียนต่อ ปวส. 2 ปี (สายบัญชี) หรือ สอบเข้ามหาวิทยาลัย (คณะ/สาขาวิชาบัญชี)
โดยเส้นทางที่ 2 นี้ เหมาะกับน้อง ๆ ที่รู้ว่าอนาคตตนเองอยากเป็นนักบัญชี ซึ่งหลังจากที่น้อง ๆ เรียนจบในระดับชั้น ม.3 หรือ ม.ต้น ก็สามารถเลือกเรียนต่อในสายอาชีพ ปวช. ได้ทันทีเลย สำหรับการเรียนสายอาชีพนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะสาขาที่เราเลือกเรียน เพื่อให้สามารถจบออกไปทำงานได้ทันที ถือได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบสำหรับน้อง ๆ ที่เลือกเรียนสายอาชีพทางด้านบัญชีที่จะได้เรียนเจาะลึกด้านนี้ไปเลย
จบ ปวช. เลือกเรียนต่อ ปวส.
หลังจากที่น้อง ๆ เรียนจบในระดับ ปวช. 3 ปีแล้ว น้อง ๆ สามารถเลือกได้ว่าจะเรียนต่อ ปวส. หรือ มหาวิทยาลัย โดยที่การเรียนต่อ ปวส. ด้านบัญชีจะเวลาเรียนอีก 2 ปีด้วยกัน แล้วสามารถสอบเทียบโอนจาก ปวส. ไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ โดยจะใช้เวลาในการเรียนอีก 2 ปีเช่นกัน เพื่อเอาวุฒิปริญญาตรี (หรือน้อง ๆ จะไม่เลือกเรียนต่อปริญญาตรีก็ได้จ๊ะ)
จบ ปวช. เลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัย
ส่วนน้อง ๆ คนไหนที่เลือกเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยหลังที่เรียนจบ ปวช. 3 ปี ก็สามารถสอบเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้เลย โดยจะใช้เวลาในการเรียนทั้งหมด 4 ปีเหมือนกับน้อง ๆ ที่เลือกเรียนสายสามัญ ม.4-ม.6 มานั่นเอง (แต่น้อง ๆ จะต้องเข้าไปดูรายละเอียดคุณสมบัติของผู้สมัครให้ดีด้วยนะ เพราะในบางมหาวิทยาลัยก็เปิดรับสมัครเฉพาะบุคคลที่จบชั้น ม.6 มาเท่านั้น รวมถึงเกรดเฉลี่ยสะสมด้วยที่ในแต่ละมหาวิทยาลัยมีการกำหนดเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป)
อ่านเพิ่มเติม : 6 สาขาวิชายอดฮิต ที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี สำหรับเด็กที่เรียนจบ ปวช.
** แต่ทั้งนี้การเลือกเรียนไม่ว่าจะเป็นสาอาชีพหรือสาสามัญ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความชอบของน้อง ๆ ด้วยว่า มีความชอบในการเรียนแบบไหนมากกว่ากัน ที่สำคัญน้อง ๆ จะต้องค้นหาตัวเองให้เจอว่าชอบการเรียนแบบไหน และก็ไม่ควรที่จะเลือกเรียนตามแบบเพื่อน ๆ นะ ควรเลือกในแบบที่ตนเองชอบและทำได้จะดีกว่า เพราะมันจะทำให้การเรียนของเรามีความสุขนะจ๊ะ