ในปัจจุบันเศรษฐกิจของไทย รูปแบบการทำธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก มีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้อย่างกว้างขว้าง ทำให้การเจริญเติบโตทางธุรกิจนั้นเริ่มมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทำให้นักเรียน นักศึกษาได้เป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวทางธุรกิจ ดังนั้นการสร้างนักธุรกิจแนวใหม่ในอนาคต วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นผู้ประกอบการนักธุรกิจสีขาวพร้อมคืนกำไรสู่สังคมในรูปแบบต่างๆ
วิทยาผู้ประกอบการ ม.หอการค้าไทย เน้นสร้างบัณฑิตนักธุรกิจสีขาว
วิทยาลัยผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของเยาวชนที่มีความฝันและตั้งใจที่จะสร้างความสำเร็จให้กับอาชีพธุรกิจของตนเอง หรือกิจการของครอบครัว โดยได้เรียนรู้แนวคิดในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ หรือ IDE (Innovation Driven Entrepreneurship) จากมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology (MIT) ส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง
โดยทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมุ่งเน้นเสริมสร้างศักยภาพนักศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เน้นให้นักศึกษาได้ทำการฝึกงานทุกๆ ปี ตลอดการเรียนระยะเวลา 4 ปี เริ่มตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้รูปแบบการทำธุรกิจผสมผสานกับนวัตกรรมอย่างจริงจังในแต่ละสาขาอาชีพ เรียนรู้ปัญหาการทำธุรกิจและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานหรือทำธุรกิจ เตรียมความพร้อมการเป็นนักธุรกิจของประเทศไทยเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 5.0 ลองไปฟังความคิดเห็นจากนักศึกษาที่ได้เข้าวิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกันค่ะ
นายภูวเดช นพฤทธิ์ (น้องหมีพูห์) นศ. ปี4 เจ้าของแบรนด์ KAZUN
นายภูวเดช นพฤทธิ์ (น้องหมีพูห์) วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยชั้นปีที่ 4 เจ้าของแบรนด์ KAZUN เปิดเผยว่า “วิทยาลัยผู้ประกอบการ ม.หอการค้าไทยจะเน้นย้ำเสมอว่าอยากให้เป็นนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการเพื่อสังคม ผู้ประกอบการทำธุรกิจอย่างสุจริต สีขาว เราก็ได้ซึมซับจากตรงนั้นมาเพราะมีการพูดถึงตอกย้ำกับคำคำนี้ตลอดการเรียน ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นนักศึกษาที่ได้ทุนจากมหาวิทยาลัย
พอถึงวันหนึ่งที่เราทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้วเราก็ต้องเป็นผู้ให้ ผมทำแบรนด์ KAZUN เป็น แบรนด์เสื้อผ้าที่ผมออกแบบและผลิตขึ้นเองซึ่งเป็นเสื้อผ้าแนวสตรีทยอดขายต่อเดือนอยู่ในหลักแสน โดยนำกำไรจากการขายสินค้าทุกๆ 3 เดือนเราจะส่งไป 1 ครั้ง ครั้งละ 10,000 บาทซึ่งเป็นการให้ทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา ฯลฯ โดยพยายามเน้นให้ครบทั้ง 4 ภาคประเทศไทย ปัจจุบันมีการส่งไปที่จังหวัดสกลนครและพังงา ที่สำคัญคือไม่ได้ให้แค่เงินทุนการศึกษาอย่างเดียวแล้วแต่เป็นการพยายามเข้าไปให้ความรู้กับนักเรียน นักศึกษาจังหวัดต่างๆ เพราะเราอยากนำความรู้ที่เราได้เรียนมาจากวิทยาลัยผู้ประกอบการเข้าไปสอนน้องๆเหล่านี้ โดยเฉพาะการขายของออนไลน์เพราะตอนนี้ตลาดออนไลน์กำลังมาแรงเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง”
นางสาวอัญจิสา ไชยมล (น้องอิงฟ้า) นศ. ปี 3 เจ้าของไร่ภูอิงฟ้า ผาตั้ง
นางสาวอัญจิสา ไชยมล (น้องอิงฟ้า) วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยชั้นปีที่ 3 เจ้าของไร่ภูอิงฟ้า ผาตั้ง อ.เวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า “ธุรกิจที่ทำตอนนี้จะเป็นลานกลางเต็นท์อยู่ที่ดอยผาตั้ง อ.เวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งในส่วนลานกลางเต็นท์มีลานกลางเต็นท์ ร้านกาแฟ ไร่กาแฟของเราเองด้วยจะเป็นกาแฟอาราบิก้า 100% จุดเด่นกาแฟด้านความหอมเพราะว่าปลูกบนความสูงประมาณ 1,300 เมตร ในส่วนของแบรนด์กาแฟเราใช้ชื่อแบรนด์ว่าไร่ภูอิงฟ้า
ตอนเข้ามาศึกษาที่วิทยาลัยผู้ประกอบการ ม.หอการค้าไทย จะมีอาจารย์ โค้ชคอยให้คำแนะนำ ซึ่งทุกครั้งที่เราคิดจะทำธุรกิจจะให้คำแนะนำว่าถ้าเราทำธุรกิจนี้เราจะต่อยอดอย่างไรบ้าง เราจะตอบแทนสังคมอย่างไรหรือว่าผลกระทบของธุรกิจเรามันไปมีผลกระทบต่อคนอีกกลุ่มหนึ่งไหม ที่สำคัญมีการสอดแทรกเนื้อหาว่าอย่าคิดถึงแต่ตัวเราเอง เราต้องมองคนอื่นด้วยทั้งผลดีที่คนอื่นจะได้รับ รวมถึงผลกระทบในแง่ลบ
ด้านที่พักกับไร่กาแฟจะสนับสนุนเรื่องของอาชีพให้กับชาวบ้านจังหวัดเชียงรายโดยตรง เราจะสอนและให้ความรู้กับชุมชนโดยตรง ส่วนธุรกิจของเราก็ได้รับประโยชน์สามารถสร้างคนที่มีคุณภาพและเป็นคนพื้นที่มาทำงานจริง ซึ่งชาวบ้านก็จะมีรายได้และมีอาชีพ ในส่วนที่พักเราก็เหมือนเป็นการสนับสนุนชุมชนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่นี่ก็จะมีจำนวนเยอะขึ้น และจะมีกิจกรรมCSRโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนดอยผาตั้ง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเราก็ไปจัดกิจกรรมเน้นเรื่องการให้ความรู้แนะแนวทางในการใช้ชีวิตให้กับเด็กๆ ว่าถ้าโตไปเขาจะเหมาะกับอาชีพอะไร”
นางสาวอภิสราภรณ์ โสภณอัมพรเสนีย์ (น้องแอ๊น) นศ.ปี 2 เจ้าของแบรนด์ Arisa Brand ชุดเสื้อผ้าไทย
นางสาวอภิสราภรณ์ โสภณอัมพรเสนีย์ (น้องแอ๊น) วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยชั้นปีที่ 2 เจ้าของแบรนด์ Arisa Brand ชุดเสื้อผ้าไทย กล่าวว่า “Arisa Brand คอนเซ็ปต์ของแบรนด์คือเป็นเสื้อผ้าฝ้ายสไตล์โมเดิร์นที่สามารถเข้ากับเสื้อยืด รองเท้าผ้าใบ กางเกงยีนส์ได้ พูดง่ายๆ ก็คือเราจะทำให้เสื้อผ้าไทยสามารถใส่ได้ง่ายขึ้นในชีวิตประจำวัน
วิทยาลัยผู้ประกอบการจะสอนเยอะมากเกี่ยวกับด้านสินค้า ลูกค้า สิ่งที่เราได้รับก็คือความรู้ที่สอนให้สร้างมูลค่าของสินค้าเราก็เลยนำความรู้เหล่านั้นมาสร้างธุรกิจที่เพิ่มมูลค่าสินค้าให้ชุมชน เราก็เลยเลือกผ้าฝ้าย ผ้าทอจากจังหวัดลำพูนเข้ามาเป็นธุรกิจ เรายังไม่ลืมที่จะกลับมาช่วยเหลือชุมชนจากธุรกิจของเรา จากธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้าฝ้าย ผ้าทอได้นำผลิตภัณฑ์พวกนี้มาจากชุมชนจังหวัดลำพูน
ซึ่งทางเราได้ร่วมสร้างงานและสนับสนุนชุมชนให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นเลี้ยงดูตัวเองได้ เลี้ยงดูครอบครัวได้ ที่สำคัญยังร่วมพัฒนาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติจังหวัดลำพูน ส่งเสริมการปลูกวัตถุดิบธรรมชาติที่นำมาใช้ในการผลิตย้อมผ้า รู้สึกดีที่เราได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคมเพราะเราได้รับการปลูกฝังมาจากทั้งในแคมป์ และพี่ๆ ในวิทยาลัยผู้ประกอบการ เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยส่งเสริมชุมชนให้มีอาชีพที่ดีสืบต่อไป”
บทความแนะนำ
- ไอเดียเจ๋ง! 4 สุดยอดนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์สุดล้ำ จาก นศ. ม.หอการค้าไทย
- เผยเคล็ดลับ การเรียนกฎหมาย “ขุน ชานนท์” | ม.หอการค้าไทย
- เล่นใหญ่มาก ! นศ. ม.หอการค้าไทย พรีเซนต์งานแต่งงาน ในวิชาธุรกิจการจัดอีเวนท์และไมซ์
- นิโคลีน พิชาภา มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2018 สวย เก่ง จิตใจดี นศ. ม.หอการค้าไทย
- เจาะลึกเทคนิคเด็ดเด็ก Startup รุ่นใหม่ : วิทยาลัยผู้ประกอบการ ม.หอการค้าไทย