ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง – ที่มาสำนวนดัง จากวรรณคดีวิจักษ์

สวัสดีค่ะ กลับมาพบกับครูพี่โบว์กันอีกแล้ว … น้องๆ เคยสังเกตมั้ยคะว่า คนไทยเป็นคนช่างสำบัดสำนวน แต่ไม่ได้หมายถึงพูดจาเล่นลิ้นหรือใช้คารมพลิกแพลงแบบมีเล่ห์เหลี่ยมนะคะ ครูพี่โบว์หมายถึงคนไทยจะสื่อสารอะไรสักเรื่อง ก็จะมีสำนวนหรือภาษาที่สละสลวยค่ะ อย่างเช่น “ดึกแล้วอาบน้ำอาบท่าหรือยังลูก” คำว่า “อาบน้ำอาบท่า” จริงๆ แล้วคำที่จะสื่อความหมายหลักก็คือ “อาบน้ำ” ส่วนการ “อาบท่า” มีที่มาจากการอาบน้ำของคนสมัยก่อนที่อาบบริเวณท่าน้ำนั่นเองค่ะ

ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง

ถ้อยคำลักษณะนี้มีเป็นจำนวนมาก สำนวนไทยก็เช่นกันนะคะที่สามารถแสดงถึงการใช้ภาษาอย่างสละสลวย ที่สำคัญน้องๆ ก็จะต้องรู้ว่าสำนวนนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร วันนี้ครูพี่โบว์มีสำนวนไทยสำนวนหนึ่ง ที่เกี่ยวกับบทเรียนของน้องๆ ในหนังสือวรรณคดีวิจักษ์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง สำนวนนั้นคือ “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” ค่ะ

“ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” หมายถึง คนที่ดีแต่ว่าคนอื่นหรือเคยว่ากล่าวคนอื่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ตัวเองกลับเป็นเช่นนั้นเสียเอง ตรงกับที่อิเหนาเคยต่อว่า จรกากับวิหยาสะกำที่ไปหลงรักนางบุษบาจนต้องมาทำสงครามกัน แต่เมื่ออิเหนาได้พบนางบุษบา ตัวเองกลับหลงรักจนต้องทำอุบายเผาเมืองดาหาเพื่อชิงตัวนางบุษบาเสียเอง

ที่มาสำนวน

สำนวนนี้มาจากวรรณคดีเรื่องอิเหนา บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ลักษณะคำประพันธ์คือ กลอนบทละคร และมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อใช้ในการแสดงละครใน (ละครรำ)

เรื่อง อิเหนาได้รับอิทธิพลมาจากนิทานอิงพงศาวดารชวา เรื่อง “นิทานปันหยี” เข้ามาในสมัยอยุธยาตอนปลาย พระธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเมื่อได้ฟังจึงแต่งเป็นบทละคร โดยเจ้าฟ้ามงกุฎทรงแต่งเรื่องอิเหนาเล็ก เจ้าฟ้ากุณฑลทรงแต่งเรื่องอิเหนาใหญ่หรือดาหลัง ปัจจุบันแบบฉบับที่นักเรียนได้เรียนมาจาก “อิเหนาเล็ก” ค่ะ

ภาพจาก thn250033thai.blogspot.com

ที่มาของศึกกะหมังกุหนิง

ในดินแดนชวาโบราณ มีกษัตริย์วงศ์เทวัญสืบเชื้อสายมาจากเทวดา จะใช้คำนำหน้านามว่า “ระเด่น” ส่วนกษัตริย์นอกวงศ์นั้นจะใช้คำนำหน้านามว่า “ระตู” วงศ์เทวัญมีด้วยกัน 4 เมือง ได้แก่ กรุงกุเรปันมีท้าวกุเรปันครองเมือง กรุงดาหามีท้าวดาหาครองเมือง กรุงกาหลังมีท้าวกาหลังครองเมืองและกรุงสิงหัดส่าหรีมีท้าวสิงหัดส่าหรีครองเมือง นอกจากนั้นจะมีองค์ปะตาระกาหลาหรือบางทีเรียกว่าองค์อสัญแดหวา เป็นเทวดาบรรพบุรุษคอยดูแลทุกข์สุขของบุคคลในราชวงศ์อยู่เสมอ

อิเหนาหรือระเด่นมนตรี โอรสของท้าวกุเรปันเติบโตขึ้นจึงได้ทำการตุนาหงัน (หมั้นหมาย) ตามประเพณีไว้กับบุษบา พระธิดาของท้าวดาหา แต่แล้วปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อท้าวกุเรปันให้อิเหนาไปเข้าร่วมพิธีถวายพระเพลิงพระอัยกาที่เมืองหมันหยา และอิเหนาได้พบจินตะหราวาตีจึงเกิดหลงรัก เมื่อเสร็จงานไม่ยอมกลับเมือง ท้าวกุเรปันจึงอ้างว่าพระมารดากำลังจะมีพระประสูติกาล “วิยะดา” (น้องสาวของอิเหนา) จึงขอให้อิเหนากลับเมืองโดยด่วน

อิเหนายังพยายามหนีกลับเมืองหมันหยาอีกครั้ง โดยออกอุบายปลอมตัวเป็นโจรป่าชื่อว่า มิสารปันหยี แต่ระหว่างทางได้รบและฆ่าระตูบุศสิหนา ระตูจะรากันและระตูปักมาหงัน พี่ชายของระตูบุศสิหนา ได้ขอยอมแพ้ จึงถวายพระโอรสและธิดาให้กับอิเหนา คือ นางสะการะวาตี นางมาหยารัศมี และสังคามาระตา เมื่ออิเหนาเข้าเมืองหมันหยาจึงได้ลักลอบพบนางจินตะหราวาตี อีกทั้งยังได้นางสะการะวาตีและนางมาหยารัศมีเป็นชายา พร้อมกับยกย่องให้ สังคามาระตา เป็นน้องชาย

ท้าวกุเรปันได้เรียกอิเหนากลับเมืองอีกครั้งเพราะรู้ระแคะระคายเรื่องราวทั้งหมด และรู้ว่าความวุ่นวายกำลังจะเกิด จึงจะรีบจัดงานอภิเษกของอิเหนาและนางบุษบา แต่อิเหนาไม่ยอมกลับ ท้าวกุเรปันและท้าวดาหาจึงขุ่นเคืองใจกัน และทำให้ท้าวดาหาประกาศกร้าวว่า “หากใครอยากได้นางบุษบาจะยอมยกให้”

ชายหนุ่มคนที่ 1 “จรกา” หนุ่มรูปชั่วตัวดำ ซึ่งเป็นพระอนุชาของท้าวล่าส่ำ มีความใฝ่ฝันอยากได้ชายารูปงาม จึงให้ช่างไปแอบวาดภาพนางที่งดงามที่สุด ภาพแรกเป็นภาพจินดาส่าหรี ธิดาของเมืองสิงหัดส่าหรี และอีกภาพคือนางบุษบาที่วาดไว้ 2 รูป แต่องค์ปะตาระกาหลาบันดาลให้ลบพัดหอบไปรูปหนึ่ง แค่เพียงจรกาได้เห็นภาพของบุษบาก็ถึงกับหลงรักจนถึงขั้นสลบ และยิ่งทราบข่าวท้าวดาหาจึงรีบมาสู่ขอบุษบา ท้าวดาหาซึ่งลั่นวาจาไว้แล้วจึงยอมยกนางบุษบาให้จรกา

ชายหนุ่มคนที่ 2 “วิหยาสะกำ” โอรสของท้าวกะหมังกุหนิง ได้เสด็จประพาสป่าเจอรูปนางบุษบาที่หายไป จึงคลั่งไคล้นางบุษบาเป็นอย่างมาก ท้าวกะหมังกุหนิงจึงส่งทูตไปสู่ขอ แต่ท้าวดาหาได้ยกนางบุษบาให้จรกาไปแล้ว ท้าวกะหมังกุหนิงจึงจะยกทัพมาแย่งชิงนางบุษบา โดยให้ระตูปาหยังและระตูปะหมันพระอนุชายกทัพมาช่วย โดยมีวิหยาสะกำเป็นทัพหน้า และพระอนุชาทั้งสองคนเป็นทัพหลัง

ภาพจาก www.slideshare.net

นี่แหละนะ “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”

ท้าวดาหา เมื่อทราบว่าท้าวกะหมังกุหนิงเตรียมยกทัพมาตี จึงได้ขอความช่วยเหลือจากท้าวกุเรปัน ท้าวกาหลัง และท้าวสิงหัดส่าหรี ท้าวกุเรปันจึงได้ส่งพระราชสาส์นเพื่อให้อิเหนายกทัพมาช่วย อีกฉบับส่งให้ระตูหมันหยาเพื่อตำหนิที่นางจินตะหราวาตีเป็นต้นเหตุของการเกิดศึกนี้ ระตูหมันหยารู้สึกผิดจึงส่งทัพไปช่วยอิเหนา ด้านท้าวกาหลังก็ให้ ตำมะหงงกับดะหมังมาช่วย และท้าวสิงหัดส่าหรีก็ส่งสุหรานากงมาช่วยเช่นกัน

เมื่อฝ่ายของท้าวดาหาและท้าวกะหมังกุหนิงเผชิญหน้ากัน สังคามาระตาได้ต่อสู้กับวิหยาสะกำ ซึ่งวิหยาสะกำเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำถูกสังคามาระตาสังหาร เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงเห็นลูกตายก็โกรธจึงควบม้าไล่ตามสังคามาระตา อิเหนาจึงเข้าสกัดเอาไว้และทั้งสองจึงต่อสู้กัน อิเหนาใช้กริชสังหารท้าวกะหมังกุหนิง

หลังจากเสร็จศึกกะหมังกุหนิง ความตั้งใจของอิเหนาแต่เดิมนั้นจะรีบยกทัพกลับทันที แต่เมื่อเห็นสียะตราน้องชายของบุษบาก็เปลี่ยนใจเลื่อนวันกลับ

“แค่น้องชายยังงามถึงเพียงนี้ แล้วพี่สาวจะงามขนาดไหน” แต่เดิมอิเหนาก็เคยสงสัยว่าทำไมมีแต่คนจะมาแย่งชิงบุษบา บุษบาจะสวยสักเพียงใดกัน และเมื่อพบเจอกันเท่านั้นถึงกับตะลึงและเข้าใจแล้วว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดศึกใหญ่ในครั้งนี้

เมื่อนั้น ระเด่นมนตรีเรืองศรี
เหลียวไปรับไหว้เทวี ภูมีดูนางไม่วางตา
งามจริงยิ่งเทพนิมิต ให้คิดเสียดายเป็นหนักหนา
เทโสไหลหลั่งทั้งกายา สะบัดปลายเกศาเนืองไป
กรกอดอนุชาก็ตกลง จะรู้สึกพระองค์ก็หาไม่
แต่เวียนจูบสียะตรายาใจ สำคัญพระทัยว่าเทวี
ความรักรุมจิตพิศวง จนลืมองค์ลืมอายนางโฉมศรี
ไม่เป็นอารมณ์สมประดี ภูมีหลงขับขึ้นฉับพลัน

อิเหนาตกหลุมรักบุษบาอย่างหัวปักหัวปำและอยากได้มาครอบครอง ทั้งๆ ที่ตัวเองเคยขอถอนหมั้นและทำให้บุษบาต้องเสียใจ อีกทั้งยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดศึกกะหมังกุหนิงขึ้นอีก นี่ยังไม่นับรวมถึงการจัดฉากให้บุษบาเกลียดจรกาตอนที่ไปใช้บน ที่เขาวิลิศมาหรา หรืออิเหนาลอบเผาเมืองแล้วลักพานางบุษบาไปไว้ในถ้ำ แต่ละเรื่องวุ่นวายและใหญ่โตทั้งนั้นเลยค่ะ นี่แหละค่ะ ที่มาของสำนวน “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”

บทความหน้าจะมีเกร็ดความรู้เรื่องอะไรเก็บมาเล่าเอามาฝาก อย่าลืมติดตามกันนะคะ

SEEME.ME : KruBow

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง