มช. ผุดกุญแจสำคัญ พัฒนารากฐานระบบรางไทย เพื่อก้าวข้ามสู่ระดับโลก

เส้นทางสู่การพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมีทิศทางที่มุ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตนั้น คือ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงต่อการขนส่งทั้งภายในและต่างประเทศ ให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งหมายรวมถึงการขนส่งทางรถไฟด้วย

มช. ผุดกุญแจสำคัญ พัฒนารากฐานระบบรางไทย

การพัฒนาระบบรางคู่จึงจำเป็นต้องมีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้รถไฟที่วิ่งอยู่เดิม สามารถวิ่งสวนทางกันได้ ช่วยเพิ่มศักยภาพการขนส่งได้ดีขึ้น โดยเฉพาะความเร็วของรถไฟ เมื่อเปลี่ยนมาใช้รางคู่จะทำให้รถไฟเร่งความเร็วได้มากขึ้น

และด้วยความพร้อมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางด้านวิศวกรรมโยธา จึงได้เข้ามาร่วมมือกับเครือข่าย “พันธมิตรระบบราง” เพื่่อพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง และเป็นที่มาของการริเริ่ม ศูนย์วิศวกรรมโยธาและฐานรากระบบรางขั้นสูง (Chiang Mai University Advanced Railway Civil and Foundation Engineering Center) หรือเรียกสั้นๆ ว่า CMU RailCFC ภายใต้การสนับสนุนของ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่่เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ด้านเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานของระบบรางอย่างจริงจัง

รองศาสตราจารย์ ดร.พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมโยธาและฐานรากระบบรางขั้นสูง ได้กล่าวถึงแนวทางของศูนย์ CMU RailCFC ว่า “การดำเนินงานจะแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสแรกจะเน้นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายพันธมิตร ซึ่งจะเข้ามาช่วยในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการขั้นสูง ทางด้านเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ที่สามารถทดสอบไม้หมอนในแบบ One Stop Service รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ ร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ

เฟสที่ 2 คือ การเขียนขอทุนวิจัยในระดับประเทศ เรื่องของ หินรองหมอนรถไฟ ประเด็นงานวิจัยนี้้เกิดขึ้นจากเราต้องการสร้างรถไฟรางคู่ 6-7 เส้นทาง ซึ่งต้องใช้หินโรยทางรถไฟในปริมาณมหาศาล จึงศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำเอาหินที่เสื่อมสภาพมาผสมกับหินใหม่ เพื่อลดการทำลายธรรมชาติจากการระเบิดภูเขา หากเป็นไปได้จะเกิดผลกระทบเชิงบวกอย่างมาก จะทำให้ประเทศพัฒนารางรถไฟควบคู่กับแนวทาง SDGs ทำให้เกิดความยั่งยืน

และเฟสที่ 3 ในปี 2567 การทำงานจะเต็มรูปแบบ ทั้งโครงการวิจัย โครงการทดสอบ การสนับสนุนการสอน และการเข้าไปมีส่วนร่วมในงานวิจัยระดับนานาชาติมากขึ้น ทางศูนย์ฯ ยังมองเรื่องของเทคโนโลยีอนาคต โดยเฉพาะเทคโนโลยี Wireless sensor ที่จะเข้ามามีบทบาทในระบบราง ซึ่งตอนนี้ทีมนักวิจัยได้สร้างเครื่องมือตรวจวัดขึ้น เรียกว่า สมาร์ทร็อค (Smart rock) จะนำไปฝังในราง ซึ่งถือเป็นโครงการแรกของมหาวิทยาลัย

โดยการทำงานของเครื่อง จะเปรียบเสมือนหินรองรถไฟก้อนหนึ่ง เมื่อรถไฟมีการวิ่งใช้งาน ทุกอย่างจะมีการเสื่อมสภาพ สมาร์ทร๊อคจะตรวจจับได้ว่า รางมีการชำรุดไปเท่าไหร่ มีการหมุนตัวอย่างไร และส่งสัญญาณว่าตัวมันเปลี่ยนแปลงอย่างไรเป็นตัวเลขที่แน่นอน แล้วส่งข้อมูลเข้าระบบแบบ Real-time ไปยังศูนย์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถซ่อมบำรุงได้ โดยไม่จำเป็นต้องปล่อยให้รางเสียหายก่อน”

ด้วยงานวิจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากการขับเคลื่อนของศูนย์ CMU RailCFC จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยไขให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า โดยมีระบบขนส่งพื้นฐานระบบรางเป็นตัวเกื้อหนุนในการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจ และจะเป็นเสาหลักในการสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศต่อไป

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง