บริติช เคานซิล ศิลปินไทย

ชวนรู้จัก 2 ศิลปินไทย ผู้ได้รับทุน Connections Through Culture

Home / วาไรตี้ / ชวนรู้จัก 2 ศิลปินไทย ผู้ได้รับทุน Connections Through Culture

แม้ปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนจะเข้ามาให้ความสำคัญและคุณค่ากับงานศิลปะมากขึ้น เห็นได้จากการสนับสนุนศิลปินและเปิดพื้นที่สำหรับการจัดแสดงผลงาน ทำให้คนทั่วไปได้สัมผัสกับศิลปะอย่างใกล้ชิดกว่าในอดีต แต่ศิลปินและผู้ประกอบอาชีพด้านศิลปะและวัฒนธรรมยังคงต้องการแรงสนับสนุนเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน โดยเฉพาะเงินทุนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ

2 ศิลปินไทย

ผู้ได้รับทุน Connections Through Culture

เช่นเดียวกับ บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินและผู้ประกอบอาชีพด้านศิลปะและวัฒนธรรม ไปจนถึงหน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรมจากประเทศไทยและสหราชอาณาจักรได้ร่วมงานกัน ผ่านการสนับสนุนทุน “Connections Through Culture” โดยในปี 2566 นี้ มีศิลปินไทยได้รับทุนทั้งสิ้น 8 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000,000 บาท

ด้วยภารกิจการเชื่อมโยงผู้คนและสร้างความเข้าใจผ่านงานศิลปะ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั่วโลกให้มีความเข้มแข็งและเชื่อมโยงกับสหราชอาณาจักรได้ดียิ่งขึ้น บริติช เคานซิล ได้เริ่มโครงการทุนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางศิลปะมาตั้งแต่ปี 2563 ตลอดระยะเวลา 3 ปี มีคนไทยได้รับทุนไปแล้ว 24 ทุน มูลค่ารวมกว่า 6,000,000 บาท

โดยจุดมุ่งหมายของทุนคือการสนับสนุนให้ศิลปิน นักสร้างสรรค์ บุคลากร และหน่วยงานในแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้แลกเปลี่ยนความคิด ได้ค้นพบวิธีการทำงานใหม่ ๆ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่โครงการที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวมโดยวันนี้ บริติช เคานซิล มีโอกาสได้พูดคุยกับ 2 ศิลปินไทยจากโครงการที่ประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดผลงานอันสร้างสรรค์ สร้างคุณค่าให้สังคม พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับผู้คน

· เรื่องเล่าจาก 2 ตลาดดอกไม้ในโลกคู่ขนาน ลอนดอน-กรุงเทพฯ

ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงที่มาโครงการ ‘ปากคลอง Pop up’ ตลาดดอกไม้ปากคลองตลาด หนึ่งในกิจกรรมเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 ที่ใช้การศิลปะการออกแบบ ภาพถ่าย งานศิลปะจัดวาง และนิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันของผู้คน เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับวัฒนธรรมของตลาดดอกไม้ที่เก่าแก่ของกรุงเทพฯ ให้คนทั่วไปได้มองเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยุ่ในย่านปากคลอง

โดยการนำดอกไม้สร้างสรรค์เป็นผลงานที่ถ่ายทอดความเป็น “ปากคลองตลาด” ในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ สร้างภาพจำที่ดูสร้างสรรค์และร่วมสมัยให้ย่านปากคลองตลาด ซึ่งการสนับสนุนจากทุน Connections Through Culture จากบริติช เคานซิล ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานนี้เกิดขึ้นได้ รวมถึงการทำงานร่วมกับเพื่อนที่สหราชอาณาจักร รศ.ดร.คาทาลินา ออทิส ในการสร้างนิทรรศการภาพถ่ายจากสองตลาดดอกไม้ ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของตลาดดอกไม้วันอาทิตย์ที่ถนนโคลัมเบีย กรุงลอนดอน และตลาดปากคลอง กรุงเทพฯ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในหลายมิติ ช่วยเติมเต็มและเปิดโลกของนิทรรศการให้กว้างขึ้น นำไปสู่การจุดประกายแรงบันดาลใจระหว่างกันและกัน

“เราคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สังคมมองเห็นคุณค่าของการสร้างสรรค์งานด้านศิลปะและวัฒนธรรมมากขึ้น เพราะผลงานศิลปะและงานสร้างสรรค์ไม่เพียงพาเราไปสำรวจย่านปากคลองตลาด โดยการเชื่อมโยงผลงานเข้ากับบริบทในพื้นที่โดยรอบ แต่ยังช่วยหนุนเสริมให้อัตลักษณ์ของย่านโดดเด่นและน่าสนใจขึ้น ผ่านการเล่าเรื่องด้วยเครื่องมือใหม่ๆ และยังนำไปสู่การช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชน

เพราะคนที่มาร่วมงานส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นยุคใหม่ที่สนใจศิลปะ เมื่อมาเดินชมนิทรรศการและถูกใจดอกไม้ก็จะเลือกซื้อกลับไป เป็นการช่วยกระตุ้นการค้าขายอีกทางหนึ่ง ผลตอบรับในช่วงที่จัดงานแม่ค้าและผู้ขายต่างบอกว่ารู้สึกขอบคุณที่มีงานนี้เกิดขึ้น เพราะช่วยให้มีลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้น”

· ขับเคลื่อนศิลปะชุมชนด้วย Artist Residency กับโครงการศิลปินในพำนักชุมชน

คุณนวรัตน์ แววพลอยงาม ผู้ก่อตั้งกลุ่มกลุ่มศิลปะชุมชน ‘อีเลิ้ง’ ชุมชนนางเลิ้ง เล่าว่า ที่มาของโครงการศิลปินพำนักในชุมชนคือต้องการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน และสร้างฐานข้อมูลศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมไม่ให้หายสาบสูญไปตามกาลเวลา ซึ่งเราพบว่าในประเทศไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของฐานข้อมูลเหล่านี้มากพอ โดยเฉพาะศิลปะระดับชุมชนที่ซ่อนตัวอยู่ในที่ที่หลายคนอาจมองข้ามไป ทำให้ศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่สูญหายไปอย่างน่าเสียดายเมื่อไม่มีผู้สืบทอด

โดยเลือกบันทึกและนำเสนอข้อมูลมรดกวัฒนธรรมชุมชนนางเลิ้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง และถ่ายทอดออกมาในรูปแบบดิจิทัล ชูจุดเด่นของชุมชนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รู้สึกสนุก กับการเสพงานด้านศิลปะดั้งเดิมในรูปแบบที่ทันสมัย

ภายใต้การทำงานร่วมกันของเครือข่ายอีเลิ้งและศิลปินคุณภาพจากอังกฤษ นอกจากนี้ผลงานความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Buffalo Field หรือเทศกาลสนามควาย ซึ่งเป็นเทศกาลศิลปะประจำปีของชุมชนนางเลิ้ง

ประกอบด้วยการแสดง นิทรรศการศิลปะ และกิจกรรมต่าง ๆ การได้รับเลือกจาก Connections Through Culture นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเชื่อว่ามีผู้ที่เข้าใจถึงแนวคิดและวัตถุประสงค์ของโครงการที่พยายามสื่อสารไปยังสังคม และมีส่วนสำคัญในการเข้ามาช่วยสนับสนุนให้กระบวนการเกิดขึ้นจริงตั้งแต่วันนี้ โดยไม่ต้องใช้เวลาอีกหลายปีข้างหน้าที่สังคมจะตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

สามารถติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของกิจกรรมตลอดทั้งปี ของ บริติช เคานซิล ได้ที่เว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th หรือ เฟสบุ๊คแฟนเพจ British Council Thailand

บทความแนะนำ