AOF SMITH issue56 SILENT RAVAGE ศิลปินไทย

เส้นทางระบายสีสันของศิลปินหนุ่มผู้มีสไตล์เฉพาะตัว “AOF SMITH”

Home / ดาวเด่นมหาวิทยาลัย / เส้นทางระบายสีสันของศิลปินหนุ่มผู้มีสไตล์เฉพาะตัว “AOF SMITH”

อ๊อฟ-พรหมพิริยา คงสถิตย์ ศิลปินหนุ่มผู้มีแนวคิดไม่เหมือนใครและมีผลงานโดดเด่นถึงต่างแดน หรือที่รู้จักกันในนามของ “AOF SMITH” กับเส้นทางกว่าจะเป็นจิตรกรสายอาชีพ ทั้งชีวิตที่ผูกพันกับเส้นสายลายฝันแห่งศิลปะ พร้อมคำแนะนำสู่น้องๆ ศิลปินรุ่นต่อๆ ไป

“AOF SMITH”

เส้นทางระบายสีสันของศิลปินหนุ่มผู้มีสไตล์เฉพาะตัว 

INSPIRATION

อ๊อฟ สมิธ กับการเติบโตขึ้นมาจากครอบครัวศิลปะ ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ พี่ชายและพี่สาว ที่หล่อหลอมใจรักในงานศิลป์ตั้งแต่เด็กๆ จากเด็กที่วาดรูปไม่เก่ง แต่ความอยากเอาชนะความคาดหวังของคุณพ่อ เลยกลายเป็นความสนใจอย่างจริงจัง จนพาตัวเองเข้าไปเรียนในคณะชื่อดังทางศิลปะของจุฬาฯ ได้พบความสนุกสนานในบรรยากาศของเด็กสายติสท์ และก็ทำให้ตัวเองได้ค้นพบเส้นทางงานเพ้นท์ติ้งที่ต่อยอดสู่สายอาชีพมาจนถึงปัจจุบัน

IMPORTANT IN A CAREER

“ด้วยความที่โตมากับครอบครัวศิลปะ คุณพ่อจบเพาะช่าง แล้วก็รับราชการเป็นครูสอนศิลปะอยู่แล้ว ก็เริ่มสอนเราตั้งแต่เด็กๆ แต่ตอนเด็กเราวาดรูปไม่เก่ง โดนคุณพ่อบ่นบ่อยๆ คุณพ่อคาดหวังอยากให้วาดรูปเก่ง แต่คือเรื่องพวกนี้ไม่สามารถเทรนด์ได้ทั้งชีวิต มันขึ้นกับตัวเราว่าเราชอบแล้วอยู่กับมันได้นานมั้ย แล้วผมก็ค้นพบว่าการวาดรูปเป็นสิ่งที่ผมสนใจ และอยู่กับมันได้นาน ก็เลยตัดสินเข้าไปเรียนในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สาขาทัศนศิลป์ ซึ่งก็สนุกมาก ในยุคที่จุฬาฯ ยังคาบเกี่ยวระหว่างความศิวิไลซ์ ก็ทำให้เราได้มีโอกาสปาร์ตี้จุดไฟเฮฮากันหน้าคณะ เอนจอยกับชีวิตมหา’ลัยค่อนข้างเยอะ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีวินัยกับการเรียนพอสมควร เราได้ความรู้จากอาจารย์ ได้เพื่อนที่คุยกันได้ทุกเรื่อง แล้วปี 3 ก็ได้เลือกเอกเพ้นท์ติ้ง ซึ่งทุกอย่างก็กลายมาเป็นหลักวิธีคิดที่ทำให้เราดำเนินชีวิตต่อได้อย่างแข็งแรงจนถึงปัจจุบัน

พอช่วงเรียนจบใหม่ๆ ได้ทำงานที่แรกเป็นสไตลิสต์ อยากลองประสบการณ์ว่าจะเป็นยังไง สุดท้ายแล้วมันก็ตอบโจทย์ว่าไม่ใช่ทาง เราก็ออกมาจากตรงนั้น มาตั้งเป้าเรียนต่อปริญญาโทที่ลาดกระบังฯ จนเรียนจบที่นี่แหละที่ทำให้เราได้วิธีคิดในการทำงานและสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น จากตรงนั้นได้ลองทำ SOLO EXHIBITION และมันก็ต่อยอดขยับขยายไปเรื่อยๆ ทำให้เราตั้งเป้าว่าจะต้องมีโชว์หนึ่งครั้งในปีหนึ่ง ระหว่างนั้นก็หาโอกาสใหม่ๆ ให้ตัวเองไปด้วย ไปลองประกวดในต่างประเทศ ถือเป็นรางวัลให้ชีวิต ทำให้โลกเห็นงานของเราในสิ่งที่ถูกที่ถูกทาง อย่างมีงานประกวดที่ได้ตีพิมพ์ลง Direct Art Magazine ที่นิวยอร์ก ก็ถือเป็นหนึ่งรางวัลที่เราดีใจกับมัน เพราะมองย้อนกลับไปตอนเรียนป.ตรี หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่อาจารย์เปิดให้เราดูตอนเรียน เราได้เห็นสไตล์ของงานในนี้ พอผ่านมา 6-7 ปี ได้มีโอกาสลองส่งดูแล้วก็ได้ อย่างที่อาจารย์เคยให้ดูเป็นแรงบันดาลใจ สำหรับเป้าหมายในงานของตัวเองตอนนี้ คือ การทำคอนเท้นท์ใหม่ๆ ที่ท้าทายมากขึ้น ค่อยๆ ขยับไปทำแกลเลอรี่ในต่างประเทศมากขึ้น วงการศิลปะทั่วโลกมันกำลังเปิดกว้างและกระจายตัว แล้วเราเชื่อว่ามนุษย์ถ้าจะสนุกกับชีวิต มันต้องมีการเดินทางใหม่ๆ ความท้าทายใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำซากจำเจ”

HOW TO WORK

เมื่อใจรัก ทุกอย่างก็ไม่มีอะไรยาก

“คนมองว่ากว่าจะทำงานศิลปะออกมาชิ้นหนึ่งมันต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน แต่เราไม่ได้คิดว่ามันยาก เราเชื่อว่าทุกอาชีพมันยากหมด แต่เมื่อไหร่ที่เราตั้งว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันยาก ก็จะไม่แฮปปี้กับมัน อยู่ที่ความถนัดของแต่ละคนมากกว่า อย่างอุปสรรคที่เกิดขึ้นเราก็ต้องทำความเข้าใจกับมันว่า ทุกอย่างต้องเจอปัญหาและแก้ไขมันไป เมื่อไหร่ที่เจอปัญหาและแก้ไข ก็เป็นสิ่งที่ดีกับชีวิตที่ทำให้เราได้เจอโลกมากขึ้น เมื่อเราเจอปัญหาซ้ำๆ เรื่องเดิมๆ ก็จะทำให้เรารู้ว่าเราจะแก้ไขมันยังไง”

แรงบันดาลใจในผลงานแต่ละชิ้นที่ออกมา

“เป็นคนชอบฟังข่าวมาก ข่าวทุกอย่าง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เปิดฟังอย่างเดียว แต่ไม่ได้ดูมัน เพราะคิดว่าการดูจะทำให้มันถูกวิเคราะห์ไปอีกแบบหนึ่ง แต่เมื่อใดที่เราฟัง การวิเคราะห์จะถูกตีไปอีกแบบ แล้วมันจะทำให้เราได้ตระหนัก ได้ตั้งคำถามกับมัน กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เรื่องนั้นสามารถมาเป็นประเด็นได้ ถ้าเราสนใจมันจริงๆ ความสนุกในงานศิลปะก็คือการได้ตั้งคำถามที่มันไม่มีคำตอบ มันเหมือนโจทย์ที่สังคมหรือโลกเราไม่สามารถหาคำตอบให้กับเรื่องนี้ได้ มันมีทั้งบวก ทั้งลบ ทั้งดีจริง ไม่ดีจริง คือการวิเคราะห์พวกนี้ทุกอย่างมันไหลออกมาเรื่อยๆ มันมีคอนเซ็ปต์ที่อยากจะทำอยู่แล้ว จนบางครั้งเราต้องหยุดความคิดเพื่อคัดกรองงานที่มันไหลออกมาว่ามันดีจริงเหมาะสมมั้ยที่จะทำออกมาเป็นชิ้นงาน”

ผลงานศิลปะ “SILENT RAVAGE”

“กับนิทรรศการล่าสุดที่เพิ่งจัดแสดงที่ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์ (S.A.C) ในชื่อ “SILENT RAVAGE” มาจากการมองภาพการถูกทารุณกรรมของสัตว์เลี้ยงในครัวเรือน มันเหมือนเป็นสงครามเงียบ ที่บางทีเราไม่สามารถเข้าไปรับรู้ ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง มันตระหนักถึงจิตใจของมนุษย์ที่เสื่อมถอยลงไป สัตว์เลี้ยงที่คุณเลือกมาในวัยเด็กที่มันดูน่ารัก แต่พอโตขึ้น คุณก็แกล้งหรือทำร้ายมัน ประเด็นเหล่านี้ผู้คนก็ให้ความสนใจค่อนข้างเยอะ เลยต้องการสื่อออกมาในรูปแบบของ ความตลกร้าย มันมีแก๊กบางอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้กับมนุษย์ที่ทำกับสัตว์ อย่างเช่นข่าวคนเอาแมวมาตากกับราวตากผ้าให้ลมมันตีไปตีมา มันสะท้อนถึงสังคมตลกร้าย ที่เรารู้สึกมันไม่ตลก”

 THINKING TO CAMPUS

“อยากฝากถึงน้องๆ จะเป็นอะไรก็ได้ที่ชอบ เป็นเกษตรกรก็ได้ ก็ทำที่ชอบ แล้วทำให้มันดี ทำอะไรก็ได้ แล้วสนุกกับมัน อย่าทำอะไรที่เครียด ไม่สนับสนุนเลย อยากร้องเพลงก็ฝึกร้องเพลง อยากวาดรูปก็ฝึกวาดรูป ง่ายมาก ไม่มีอะไรยาก ไม่จำเป็นต้องมีคำพูดที่บางทีมันสูงส่งว่าเฮ้ย มันต้องอย่างงั้นอย่างงี้ มันต้องแลกด้วยพลังหรือจิตวิญญาณของคุณ เพื่ออะไร ก็แค่ลงมือทำ ไม่มีทริคอะไรให้ใครทั้งนั้น ทุกอย่างอยู่ที่ความพยายาม ความตั้งใจ และผลของงานล้วนๆ อย่างการที่ได้จัดแสดงนิทรรศการที่ผ่านมาก็ทำให้เราได้คุยแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาคนรุ่นใหม่มากขึ้น และคิดว่าส่วนนี้มันสำคัญมาก เราเชื่อว่า เรายังมีคนรุ่นใหม่อยู่ในเจนใกล้ๆ กันที่เหมือนเป็นแรงเคลื่อนของประเทศต่อไป ประชากรของประเทศที่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองคิดและทำ เชื่อในศักยภาพคนหนึ่งที่สามารถทำงานได้ดีพอ ไม่ว่าจะในงานไหนก็ตาม เพราะถ้าไม่เชื่อในศักยภาพ ไม่เชื่อในความคิดตัวเอง มันก็จบลงไปในท้ายที่สุด เด็กปัจจุบันนี้ชอบทำอะไรหลายอย่างค่อนข้างเยอะ แต่อยากให้ Concentrate ส่วนที่ชอบที่ตรงกับใจ แล้วทำให้มันดีพอ แล้วเราจะเจอความสุขตรงนั้นจริงๆ”

 

ติดตามได้ในคอลัมน์ Worker ในนิตยสาร Campus Star No.56

www.facebook.com/campusstar