ม.รังสิต ศิษย์เก่า

ชีวิตการเรียน และการทำงานที่ไม่ตรงสาย ศิษย์เก่าวิทยาลัยศิลปศาสตร์ ม.รังสิต

Home / ดาวเด่นมหาวิทยาลัย / ชีวิตการเรียน และการทำงานที่ไม่ตรงสาย ศิษย์เก่าวิทยาลัยศิลปศาสตร์ ม.รังสิต

จุดพลิกผันของชีวิต สามารถนับเป็นบทเรียนที่สำคัญของตัวเราได้ ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นเรื่องราวแง่ลบ หากแต่เรามองว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นจุดเริ่มต้น และไม่ว่าคนเราจะมี Safe Zone ของชีวิตที่เรียกว่าดีแล้ว ก็ตาม แต่การอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่ดีนั้น เราอยู่แบบมีชีวิตชีวา มีความสนุกสนานแก่ชีวิตหรือไม่ ก้าวใหม่ การเปลี่ยนแปลงใหม่ อาจจะเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของ Safe Zone ใหม่ก็เป็นได้

ชีวิตการเรียน และการทำงานที่ไม่ตรงสาย

ศิริพร ทองมณี ศิษย์เก่าวิทยาลัยศิลปศาสตร์ ม.รังสิต

วันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับศิษย์เก่าวิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต บทบาทของเธอในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งงานที่น่าสนใจ และเชื่อว่าหลายๆ คนอยากเป็น นั่นก็คือ อาชีพผู้จัดการดารานักแสดง แม้ว่าตัวงานจะไม่สามารถเล่าลงรายละเอียดได้มากนัก แต่บทสัมภาษณ์นี้ ควรค่าแก่การอ่านเป็นอย่างยิ่ง

นางสาวศิริพร ทองมณี (โบว์) ศิษย์เก่าสาขาวิชาภาษาอังกฤษ วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า โบว์จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทย์-คณิต จากโรงเรียนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เส้นทางการเลือกศึกษาต่อค่อนข้างพลิกไปมา การจะเลือกเข้ามาเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ นับเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งสำหรับคนต่างจังหวัด เพราะนั่นหมายถึงชีวิตของเรา และคนที่บ้านจะต้องเปลี่ยนไป

“ตอนแรกเกือบจะไม่ได้เลือกเรียนที่ ม.รังสิต ค่ะ สมัครเรียนแถวบ้านไปเรียบร้อยแล้ว แต่พอได้คุยกับหลายๆ คน ผู้ใหญ่ เพื่อน เขาก็แนะนำว่าถ้าอยากลองเปิดโอกาสให้ตัวเองก็น่าจะเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นคุยกับที่บ้านเป็นจริงเป็นจังเลยค่ะ ก็ถามว่าจะโอเคไหม ถ้าเรามาเลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนในกรุงเทพฯ ก็หาข้อมูลและก็บอกเล่าให้เขาฟังว่าเออ มหาวิทยาลัยไหนเป็นอย่างไร ความโดดเด่นของม.รังสิต ที่ทำให้เราจำได้ มุมของคนต่างจังหวัดอ่าเน๊อะ เขาก็จะจำศิลปินดาราได้ เราก็จำได้ว่าใครบ้างที่เป็นดาราเรียน ม.รังสิต เขาเรียนคณะอะไรกัน ดูแล้วน่าสนใจ

โบว์เองก็เรียนสายวิทย์-คณิตมานะคะ แต่พอต้องเลือกเรียนจริงๆ อยากเรียนอะไรที่เราชอบมากกว่า เลยเลือกเรียนเอกอังกฤษ โบว์จบมาหลายปีแล้วค่ะถ้านับตอนนี้ แต่ยังคงจำเรื่องราวสมัยเรียนมหาวิทยาลัยได้เหมือนเราเพิ่งจบใหม่ๆ ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่ง เราก็ใช้มันอย่างเต็มที่ เรียนด้วย ทำกิจกรรมแบบหนักๆ เลยค่ะ เพราะว่าไม่เหงาดีค่ะ เดี๋ยวมีแข่งกีฬา เดี๋ยวมีกิจกรรมรับน้อง วันไหว้ครู กิจกรรมออกค่ายต่างจังหวัด และอีกหลายกิจกรรมมากๆ ทำงานสโมสรนักศึกษาของมหาวิทยาลัยด้วยค่ะ โบว์ได้เพื่อน ได้รู้จักคนมากมายก็จากการทำกิจกรรม สังคมมหาวิทยาลัยเป็นอะไรที่เปิดกว้างมากๆ ดังนั้น เราต้องโฟกัสทุกเรื่องด้วยตัวเอง จะลงเรียน จะเที่ยวเล่น จะทำกิจกรรม ทิ้งหรือละเลยสิ่งไหนไปไม่ได้เลยค่ะ”

มุมมองด้านการทำงานหลังเรียนจบ

ช่วงใกล้จะเรียนจบ โบว์มักจะถามตัวเองเสมอว่า อยากทำงานอะไร สิ่งที่เราเรียนมาสามารถต่อยอดด้านไหนได้บ้าง เราอยากได้สังคมการทำงานแบบไหน ก็จะมีคำถามที่ตอบยากอยู่หลายคำถาม

“เริ่มต้นจากการฝึกงาน ช่วงทำ Thesis โบว์มีคำถามกับตัวเองมากมายเลยค่ะ ตอบได้นะว่าตัวเราชอบอะไร ตอบได้นะว่าเราอยากทำงานสายไหน แต่ไม่รู้ว่าต้องทำงานที่ไหน บริษัทอะไร เลยโยนคำถามให้ตัวเองใหม่ว่า เราชอบดารานี่ ชอบอะไรที่เป็นแบบไอดอล งานประสานงาน ครีเอทีฟ ช่วงทำกิจกรรมตอนเรียนก็มาสายนี้อยู่แล้ว งั้นเลือกงานในวงการดีกว่า ดีที่สุด จึงไปสมัครงานที่ Broadcast Thai television ค่ะ เป็นที่ทำงานที่แรกและทำงานที่นั่นมาถึง 6 ปี ภาระงานหลักเน้นเรื่องการประสานงาน งานบริหารจัดการ ทักษะงานออฟฟิศค่ะ ได้ใช้มาตลอด

จนวันหนึ่งโบว์รู้สึกว่า หรือมีงานอื่นๆ ไหม คิดถึงความรู้สึกตอนทำกิจกรรมมหาวิทยาลัย ได้เจอคน ได้แสดงออก ไม่อยากนั่งอยู่แต่หน้าคอมแล้ว งานนี้เป็น Safe Zone ที่ดี แต่ทำยังไง เราเริ่มไม่สนุก คำถามมากมายเกิดขึ้นกับตัวเองอีกแล้วค่ะ จังหวะช่วงคนในวงการเริ่มทำคอนเทนต์ออนไลน์ โบว์ถือเป็นอีกคนที่อยู่ใกล้กับอะไรแบบนี้ เรามีโอกาส เรามีคอนเนคชั่นกับคนที่ทำงานในวงการ ก็เลยตัดสินใจขอลาออก และมารับงานผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ โบว์เป็น Producer Youtube ให้กับช่องของดารานักแสดงท่านหนึ่ง จนกระทั่งมาเจอกับดาราอีกคนหนึ่ง ได้ร่วมงานกัน และก็ผันตัวมารับบทเป็นผู้จัดการดาราค่ะ

การทำงานกับคนมากมาย ประสานงานและตัดสินใจ เป็นการทำงานที่ค่อนข้างกดดัน ทุกที่น่าจะมีความกดดันทั้งนั้น ไม่ว่าเราจะทำงานอะไรกับใคร แต่ถ้าเรามีมุมมองการทำงานที่เป็นบวก แม้จะคิดลบไปแล้ว แต่พยายามประนีประนอมกับความรู้สึกของตัวเองได้ เราก็ตั้งสติกับทุกปัญหาที่เจอ เราก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น มีปัญหาก็สอบถามพูดคุย มีปมก็แก้ไปทีละปม

สิ่งที่โบว์ปรับมุมมองเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด เป็นเรื่องตารางชีวิตค่ะ นาฬิกาชีวิตในทุกวันไม่นิ่ง เราเลือกทำในสิ่งนี้ เรายังสนุกกับงาน จัดการได้ทุกปัญหา ตราบใดที่ยังชอบ และสนุก เช่นตอนนี้ โบว์ก็จะต้องล็อกวันสำหรับพาน้องไปถ่ายละคร ถ่ายหนัง หรือมีอีเวนท์ ซึ่งเวลาจะผันเปลี่ยนไปตามดีลต่างๆ โบว์ยังตัวคนเดียว การจัดการเรื่องเวลาจึงไม่ติดอะไร และอย่างที่บอกเลยค่ะ เรายังสนุก เรายังชอบงานที่ทำงานนี้ โบว์มีช่วงเวลาที่ย้อนกลับไปขอหยิมยืมไฟในการตื่นมาในทุกๆ วัน ชอบนึกถึงตอนเรียน ตอนทำกิจกรรม ชีวิตวัยนั้นถึงไหนถึงกัน และนั่นมันผลักดันให้โบว์ได้เดินมาถึงตรงนี้”

ชีวิตไม่ตรงสาย มาแต่ไหนแต่ไร แต่ไม่เห็นเป็นอะไรเลย

โบว์เองจบสายวิทย์-คณิต มหาวิทยาลัยเลือกเรียนด้านภาษาอังกฤษ ระหว่างเรียนเน้นกิจกรรมควบคู่ไปด้วย แต่จบมาทำงานในวงการบันเทิง

“อะไรก็ตาม แม้จะไม่ได้ปูทางมาเพื่อสิ่งนั้นโดยเฉพาะ แม้จะไม่สามารถแมตซ์จับคู่เข้ากันได้ 100%  แต่มันไมได้ล้มเหลวนะ มันเป็นจุดเริ่มต้น ในจุดเริ่มต้น ในจุดเริ่มต้นต่างหาก ทำไปแล้ว เรียนไปแล้ว เลือกไปแล้ว ไม่ใช่ว่ามันไม่ได้อะไรกลับมาเลย โบว์ได้ประสบการณ์ ได้ทักษะต่างๆ จากทุกสิ่งที่ทำ เอาเป็นว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไร เลือกอะไร ทุกอย่างจะเป็นประสบการณ์ เป็นบทเรียน เป็นการเรียนรู้ และเราก็สามารถที่จะปรับตัว และอยู่ได้ แม้จะต้องอยู่กับการเปลี่ยนแปลง”

เรียนจบแล้ว แต่มหาวิทยาลัยยังเป็นเสมือนบ้าน

นักกิจกรรมตัวยง โบว์ให้ความสำคัญในวิชากิจกรรมมากพอๆ กับวิชาการ การเรียนช่วยให้เรามีความรู้ การทำกิจกรรมช่วยให้เรารู้จักความรัก และมีประสบการณ์ด้านการทำงานในโลกอีกใบหนึ่ง

“ไม่นานมานี้ โบว์ได้รับความเมตตาจากอาจารย์นวรัตน์ ก๋งเม่ง ท่านกรุณานึกถึง และเลือกให้โบว์เป็นศิษย์เก่าดีเด่นฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยศิลปศาสตร์ จริงๆ แล้ว เป็นการไม่คิดไม่ฝันว่าเราจะสามารถไปสร้างแรงบันดาลใจ ไปเป็นต้นแบบให้ใครได้ โบว์เพียงใช้ชีวิตให้เต็มที่ในรั้วมหาวิทยาลัย สนุกกับกิจกรรมของวิทยาลัย ทำเต็มที่ตามสิ่งที่เราได้รับมอบหมาย ในสิ่งที่เราสนุก

งานกิจการนักศึกษาของวิทยาลัยศิลปศาสตร์ ฐานของกลุ่มนักศึกษาคณะของเรา แข็งแกร่งมาตั้งแต่สมัยรุ่นพี่ เขาสร้างงานกิจกรรมมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ส่งต่อสู่รุ่นน้อง เรียนรู้ธรรมเนียมปฏิบัติกันต่อมา พื้นที่แห่งกิจกรรมนี้ เป็นบ้านที่อบอุ่นมากค่ะ เลิกเรียนมา เรามีเพื่อนมีอาจารย์ วันหยุดเรามีกิจกรรมให้ทำ เทศกาลเรามีค่ายให้ไป เมื่อเราเรียนจบมานานเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็มีแวะเวียนกลับไปบ้างในช่วงแรกๆ  จากนั้นด้วยภารกิจ หน้าที่การงาน ก็เริ่มห่าง แต่ก็ยังมีติดต่อกับเพื่อนๆ อาจารย์ และรุ่นพี่อยู่เรื่อยๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย

จนล่าสุดที่ได้กลับไปที่มหาวิทยาลัย งานมอบรางวัลของวิทยาลัย โบว์ตื่นเต้นที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่สิ่งที่ไม่รู้สึกว่าเปลี่ยนไป คืออบอุ่น เดินเข้ามาแบบภูมิใจกับบ้านหลังนี้ คิดถึงวันเก่าๆ ภาพที่เราเคยได้ใช้ชีวิตที่นี่ เพื่อนๆ ที่เรียนจบกันไป แม้แยกย้าย แต่สำหรับโบว์พวกเขายังสำคัญในความรู้สึก ยังมีทุกคนอยู่ในความทรงจำ แม้เราจะไม่ค่อยได้เจอกัน ไม่ได้ทักทายกันตลอด แต่ไม่ว่าเมื่อไหร่ที่เริ่มเจอ เริ่มแชทคุยกัน มันต่อกันติดอย่างรวดเร็วเสมอ”