ศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต ผลักดันโครงการ และบุกเบิก เส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร ปักหมุดพื้นที่จังหวัดชุมพร – ระนอง พร้อมขับเคลื่อน นำร่องเส้นทางสายวัฒนธรรม จากอ่าวไทยสู่อันดามัน เชื่อมภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิ
เส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร
อาจารย์อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล ผู้อำนวยการศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนความเข้าใจ หรือ ภาพรวมทางประวัติศาสตร์ในบริบทใหม่ๆ ศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา จึงได้รับภารกิจในการสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเป็น HUB แห่งการเชื่อมโยง การคมนาคม ผลักดันให้ดินแดนนี้เป็นเหมือน เบ้าหลอมทางวัฒนธรรมทั้งจากตะวันตก และตะวันออก ในการจะสร้างผลลัพธ์และเป็นอิทธิพลที่จะสามารถชี้นำอนาคตของภูมิภาคนี้
“จากอดีตสู่การอภิวัฒน์ภูมิปัญญา มิให้สูญหายตามวิสัยทัศน์ ของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีกิตติคุณผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต ปณิธานที่ได้เล็งเห็นคุณค่า และการเชื่อมโยงระหว่างผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนตอนใต้ ภูฏาน และอินเดียตะวันออก ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า ดินแดนสุวรรณภูมิ คือ เส้นทางการคมนาคมทั้งทางบก และทางน้ำ เชื่อมโลกตะวันตกและตะวันออก ศูนย์กลางการค้าที่สามารถนำความเจริญมาสู่ประเทศได้ในทุกด้าน จึงก่อตั้งศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา เพื่อกอบกู้ความภาคภูมิใจ ดังที่ได้ปรารภไว้ว่า ที่จริงแล้วสุวรรณภูมิเป็นความลึกซึ้ง มีความสัมพันธ์กันทั้งเรื่อง เชื้อชาติ สายเลือด ประเพณีวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา มีความศรัทธาและความเชื่อที่มีความเป็นปึกแผ่นใกล้ชิด ซึ่งน่าจะรุ่งโรจน์ ต่อยอดต่อไปได้ในอนาคต
ซึ่งน่าคิดมากว่า เรื่องราวเหล่านี้กำลังจะสูญสลายไปกับโลกปัจจุบัน กลายเป็นภาพของความขัดแย้ง แทนที่จะร่วมกันสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน เราควรมองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งที่มีค่า เป็นต้นแบบ เป็นต้นกำเนิด เป็นความผูกพันและลึกซึ้งทางสายเลือด เครือญาติทางวัฒนธรรม เราจึงควรเปิดโลกทัศน์ใหม่ เพราะเขตแดนเป็นเรื่องสมมุติ
ฉะนั้น ควรรวมศูนย์เข้ามาเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่น มาร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งการศึกษา สาธารณสุข แรงงาน การทำมาค้าขาย และการท่องเที่ยว เพื่อการภิวัฒน์ประเทศ ปลุกความมีชีวิตชีวา ก้าวสู่ยุคใหม่ไปด้วยกัน การสร้างชาติต้องเริ่มจากการสร้างคน ลึกซึ้งที่สุด คือการสร้างคน ศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา จะมีความหมายหากศึกษาแล้วนำมาเข้าสู่กระบวนการพัฒนา นำมาสร้างชาติ สร้างคน สร้างกระบวนทัศน์แห่งความหลอมรวมเป็นหนึ่ง ความเป็นพี่ น้องร่วมรากวัฒนธรรม เพื่อไม่ให้ล้าหลัง แต่กอบกู้ขึ้นมา เพื่อพัฒนาให้เกิด ความร่วมสมัย และนำสมัยมากขึ้น เพื่อให้คนไทยได้ก้าวเดินต่อไปด้วยกัน”
หากเราสามารถถอดรหัส และแปรเปลี่ยนคุณค่าของอารยธรรม ให้เข้าสู่ความร่วมสมัย สร้างมิติที่จะพัฒนาและต่อยอดออกไปให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงปรับกระบวนทัศน์แห่งความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และเป็นกลางมากขึ้น หยิบฉวย นวัตกรรม และ เทคโนโลยี มาสนับสนุน ความรู้จากรากวัฒนธรรม ย่อมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง และการสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมแห่งธรรมาธิปไตยได้อย่างไม่รู้จบ