ธุรกิจ ภาษาจีน ม.รังสิต

เส้นทางธุรกิจ เปิดใจเจ้าของแบรนด์กระเป๋า Ruyi ศิษย์เก่า ม.รังสิต

Home / ดาวเด่นมหาวิทยาลัย / เส้นทางธุรกิจ เปิดใจเจ้าของแบรนด์กระเป๋า Ruyi ศิษย์เก่า ม.รังสิต

ทุกความท้าทายของชีวิต จะผลักเราให้เจอกับทางออกที่เราเป็นคนเลือก และไม่ว่าจะต้องเลือกอะไรสักกี่ครั้ง เราทุกคนก็จะมีสัญชาตญาณหนึ่ง ที่เหมือนถูกจับมือให้เลือกในสิ่งที่เราอยากเลือกมากที่สุด หรือคิดว่าน่าจะเป็นทางเลือกที่ใช่มากที่สุด เช่นเดียวกับศิษย์เก่าคนนี้ เธอพลิกวิกฤติช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ลงมือทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ แต่เธอก็ตัดสินใจเลือกทำสิ่งนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าน่าจะมีโอกาสเป็นรูปเป็นร่าง เป็นงานขึ้นมาได้ด้วยพื้นฐานด้านภาษาที่มีอยู่ นำมันมาใช้ ปลุกอีกหนึ่งพรแสวงที่มันอยู่ในช่วงวิกฤติ และเราต้องผ่านมันไปให้ได้

สมฤทัย นุชกูล เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Ruyi

นางสาวสมฤทัย นุชกูล (พลอย) ศิษย์เก่าสาขาวิชาภาษาจีน วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันเป็นเจ้าของกระเป๋าแบรนด์ Ruyi ธุรกิจร่วมที่เธอลงมือทำในช่วงสถานการณ์ COVID-19

ตัดสินใจเรียนภาษาจีน

“พลอยเรียนจบด้านนาฏศิลป์มาค่ะ เมื่อต้องตัดสินใจเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ก็ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนสายการเรียน จึงเลือกเรียนเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ ด้วยเหตุผลง่ายๆ เลยว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาพื้นฐาน สามารถทำงานได้หลายอาชีพ น่าจะหางานได้ง่ายด้วย

ตอนที่มาสมัครได้พบกับอาจารย์ที่คอยให้คำปรึกษากับนักเรียน อาจารย์ถามว่า พลอยมีพื้นฐานภาษาอังกฤษมากน้อยแค่ไหน ก็ตอบกลับไปด้วยความมั่นใจเลยค่ะ ว่ามี่พื้นฐานเลย เพราะเรียนชั้นมัธยมด้านนาฏศิลป์ เน้นเรื่องปฏิบัติ เรียนรำ สะมากกว่า
ค่ะ วิชาสามัญทั่วไปจึงไม่ค่อยแข็งเท่าคนอื่นๆ อาจารย์ก็เลยหยั่งเชิงมาแบบนี้ค่ะ ในเมื่อคิดจะเริ่มต้นเรียนใหม่แล้ว ทำไมไม่ลองภาษาจีนดู ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่คนมากมายเข้าถึง ดังนั้นหากเราเลือกเรียนภาษาอื่นๆ จาก Everybody เราจะกลายเป็น Somebody ได้

เชื่อไหมว่าพอได้ยินคำนี้ปุ๊ป มันรู้สึก Touch ใจมากๆ เลยค่ะ วันนั้นจึงลองดูแผนการเรียนของภาษาจีนด้วย สิ่งที่ทำให้ไม่ลังเลก็คือแผนการเรียนแบบ 2+3 และ 3+1 ที่เราสามารถเลือกไปเรียนที่จีนได้ด้วย ก็เลยสมัครสาขาวิชาภาษาจีนเลยค่ะ

กิจกรรมในมหาวิทยาลัย

ความประทับใจแรกคือกิจกรรมรับน้อง ตอนนั้นจำได้ว่าทั้งสนุกและฮามากๆ และแน่นอนว่าเพื่อนของเราในตอนนี้หลายๆ คนยังวนเวียนติดต่อกันยังอยู่ในชีวิตซึ่งกันและกัน แต่บางคนก็ขาดการติดต่อไป เรื่องการเรียนก็เป็นความท้าทายมากๆ ตลอดระยะเวลาสี่ปี นอกจากอาศัยความมีวินัยในการฝึก การทบทวนแล้ว พลอยขอขอบคุณอาจารย์ทุกคนมากๆ ค่ะ ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจจนเราค่อยๆ คลายความเครียด และยังสอนให้โฟกัสสิ่งที่จะต้องทำเป็นหลัก”

ทำงาน

เส้นทางของนักภาษาที่หลายๆ คนมักบอกว่า ทำงานได้หลากหลาย สำหรับพลอย ค่อนข้างหลากหลายจริงเช่นกัน หลังจากเรียนจบปริญญาตรี พลอยเริ่มทำงานเป็นลูกจ้างโครงการของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง

“ทำงานเป็นลูกจ้างในโครงการของหน่วยงานอีกทีค่ะ ทำอยู่ประมาณ 3 ปีถ้วน ด้วยเนื้องานเป็นเรื่องของเอกสาร ที่สำคัญไปกว่านั้น ไม่ได้ใช้ภาษาจีน จึงทำให้รู้สึกว่าอยากก้าวออกจากตรงนี้ ตอนนั้นคือไม่อยากตื่นไปทำงาน และอยากทำอะไรที่เปิดกว้างมากกว่านี้ ช่วงนั้นพลอยบ่นให้เพื่อนฟังค่ะ เพื่อนคนนี้สนิทกันเพราะเราไปเรียนที่มหาวิทยาลัยครูกวางสี ที่กุ้ยหลินในโครงการ 3+1 ด้วยกัน เพื่อนจึงชวนไปทำงานที่ภูเก็ต เป็นไกด์ค่ะ รายได้ดีอยู่นะคะ จึงตัดสินใจสอบบัตรมัคคุเทศก์ และก็ปักหลักอยู่ที่ภูเก็ต เป็นไกด์อิสระ รับทัวร์คนจีน

ตอนนั้นต้องตั้งใจคุยกับแม่ ขอแม่ว่าไม่อยากทำงานราชการ และจะขอไปทำงานไกลบ้าน แม่ก็ถามหาความมั่นใจก่อนว่า จะต้องไปอยู่นอกบ้านนะ แน่ใจแล้วหรือ ใจลึกๆ ก็กังวล แต่เราจะปล่อยให้ความกลัว มาหยุดเราไม่ได้ ต้องกล้าที่จะก้าวออกจากเซฟโซนตรงนี้ ช่วงที่เกิดโรคระบาดของ COVID-19 ทางรัฐบาลประกาศยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศ ทำให้ตกงานอยู่ประมาณ 1 ปีเต็ม ในความอ่อนล้าก็ยังมีแสงสว่าง น้องสาวมาชวนทำธุรกิจร่วมกัน ดีลของจากประเทศจีนมาขาย

ตัดสินใจ เริ่มต้นธุรกิจ

และก็ได้เวลานั่งคุยกับตัวเองอีกครั้งค่ะ เราอยากขายอะไร ชอบอะไร ได้ภาษาจีนอยู่นะ ลุยเลยดีไหม ก็สรุปกันว่าจะทำกระเป๋าขาย  จึงมองหาโรงงานที่ประเทศจีน จนได้เจอโรงงานที่ใช้วัสดุชั้นดีมีคุณภาพ เราออกแบบกระเป๋า และส่งให้ทางจีนผลิตเพื่อเอากลับมาขาย ทุกกระบวนคือความเป็นตัวของเราเอง เพราะไอเดีย และเทสต์ในการออกแบบ เลือกสี เลือกวัสดุ ตลอดจนการนำสิน้าเข้ามา ก็ต้องทำเองกันหมดเลยค่ะ

เอาจริงๆ ความสำเร็จของคนเราไม่เหมือนกัน สำหรับพลอย ตอนนี้การได้เห็นลูกค้าใช้กระเป๋าแบรนด์ของพลอย ใช่แบรนด์ของเราไม่ได้ดังเลย แต่เห็นความไว้วางใจที่ลูกค้ามีให้ พลอยเรียกมันว่าความสำเร็จค่ะ ความท้าทายของการทำแบรนด์ตรงนี้ สำหรับพลอยเองท้าทายตัวเองเสร็จแล้วว่าเราสามารถผลิตกระเป๋าดีๆ ออกมาขายได้ ความท้าทายต่อไปคือ ลูกค้าใช้แล้วเขาชอบไหม เวลาที่ลูกค้ารีวิวสินค้ากลับมา ว่าใช้แล้วนะ ถ่ายรูปมาให้แม่ค้าดู มันทำให้เราอยากตื่นขึ้นมาตอบแชท อยากขายของ สนุก

แต่ในสิ่งราบรื่นใดๆ ก็ตามนั้น ทุกงานก็จะต้องมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้น ต้องบอกเลยว่าเยอะแยะสำหรับพลอยเช่นกัน ปัญหาที่เจอบ่อยคือ การออกแบบโปสเตอร์ขายสินค้า ทักษะด้านการออกแบบก็มีน้อยนิด ทำให้ทุกครั้งเราฟุ้งไปแหละ ว่าอยากพีอาร์แบบนี้ อยากออกแบบอย่างนี้ จับนั่นแต่งนี้มามันไปคนละทางเลยค่ะ ก็เลยต้องจ้างคนที่เขาถนัดมาช่วยออกแบบ มันยากมากๆ ที่จะออกแบบงานมาแล้วคนเห็นโปสเตอร์ปุ๊ป เขาสะดุดตา เห็นแล้วอยากกดออเดอร์เลย อย่างเรื่องนี้ก็ต้องพึ่งคนที่เขามีเซนส์และทักษะด้านการออกแบบมาช่วย”

ทักษะ ประสบการณ์

นอกจากภาษาจีนที่ได้นำมาประยุกต์ใช้ในการสื่อสาร ในการทำงานแล้วนั้น ยังมีเรื่องของทักษะความคิด ประสบการณ์ชีวิตที่เราเคยรู้สึกท้อ รู้สึกยาก ตอนเรียน ก็เอาแรงฮึดตอนนั้นมาฮึดในตอนนี้ด้วย

“จำได้ตอนต้องหัดคัดภาษาจีน ต้องท่องคำศัพท์ ภาษาจีนก็เส้นเยอะ ขีดมากมาย ต้องตั้งใจฟังที่อาจารย์แนะนำ รุ่นพี่แนะนำ ก็จะเป็นการนำเทคนิคมาใช้เพื่อให้จำง่ายขึ้น เข้าใจง่ายขึ้น เรียกได้ว่าช่วยได้เยอะเลยค่ะ ดังนั้นหากถามว่าตอนทำงานนี้ล่ะ ได้เอาอะไรมาประยุกต์ใช้กับการทำงานไหม ตอบได้เลยว่าอย่าเรียกว่าประยุกต์ใช้ พลอยถูกหล่อหลวมเป็นพลอยทุกวันนี้มาได้ ไลฟ์สไตล์ ทัศนคติความคิด ก็มาจากการได้เรียนที่ ม.รังสิต ถามว่าประยุกต์ไหม ก็ไม่เชิงแต่คือเราได้เรียนรู้อะไรมา เราก็สู้กับทุกอุปสรรคด้วยใจที่เรามี”

การเรียนรู้

พลอยมองว่าเราทุกคนสามารถค้นหาตัวเองได้ทั้งชีวิตเลย แต่ละช่วงอายุเราต่างก็จะได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ สิ่งที่ชอบก็จะเปลี่ยนไป สิ่งที่ไม่ชอบก็ยังเปลี่ยนไป เมื่อเรายิ่งเติบโตขึ้นความชัดเจนก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะกับสถานการณ์นั้นๆ ตัวเราเองก็จะเค้นคำตอบออกมาได้เอง และเราก็จะไปได้สุดในแบบของเรา

บทความแนะนำ