การเรียนแบบ โฮมสคูล (Homeschool) อิสระทางการศึกษา ที่เลือกเองได้

การเรียนแบบ โฮมสคูล หรือ การเรียนแบบอยู่บ้าน นั้นเป็นหนึ่งในประเภทการจัดการศึุกษาของประเทศไทยที่ถูกจัดไว้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติโดยประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2542 ถูกต้องตามมาตรา 12 ที่ให้ครอบครัวจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้บุตรเองได้ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ครอบครัวที่ไม่ประสงค์ส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียน เพราะต้องการจัดการเรียนการสอนให้ลูกได้เรียนที่บ้าน หรือที่เรียกว่า Homeschool นั่นเองค่ะ หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้จัก วันนี้เย็นตาโฟดอทคอม จะพาทุกคนไปรู้จักการเรียนแบบ โฮมสคูล กันค่ะ

การเรียนแบบ โฮมสคูล

อิสระทางการศึกษา ที่เลือกเองได้

Homeschool  การจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ได้ระบุประเภทของการจัดการศึกษาในประเทศไทยไว้ 3 ประเภทคือ

1)การจัดการศึกษาในระบบห้องเรียน
2)การจัดการศึกษานอกระบบห้องเรียน
และ 3) การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งประชาชนมีสิทธิเลือกรูปแบบเองได้

แน่นอนว่าส่วนใหญ่ในบ้านเราก็เลือกเรียนระบบในห้องเรียน แต่ทว่ายุคปัจจุบัน หลายๆ ครอบครัวอาจจะขาดความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการศึกษาในระบบห้องเรียน อาจจะได้รับข่าวสารจากสื่อต่างๆ ถึงเรื่องการจัดอันดับการศึกษาของไทยที่อยู่ในอันดับเกือบท้ายๆ ทั้งในอาเซียน และอันดับโลก จึงทำให้ผู้ปกคริงหลายๆ ท่านมองไปถึงอนาคตของลูกๆ ว่าอาจจะไม่ประสบความสำเร็จได้ การศึกษาแบบ HomeSchool จึงเป็นตัวเลือกที่หลายครอบครัวให้ความสนใจ เพราะผู้ปกครองสามารถเลือกรูปแบบการเรียนให้ได้ลูก

การเรียนแบบ Homeschool คืออะไร?

คือการที่เด็กได้เรียนอยู่กับบ้าน โดยส่วนใหญ่ จะมีคุณพ่อคุณแม่เป็นคนสอนเอง สามารถจัดรูปแบบการศึกษาได้เองอย่างเสรี โดยเน้นที่ความสนใจของตัวเด็กเป็นสำคัญ เลือกรายวิชาที่เด็กชอบ หรือถนัด อีกทั้งยังสามารถพาลูกออกไปทำกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ ไม่จำเป็นว่าต้องอยู่แค่ในบ้านเพียงอย่างเดียว เป็นการเรียนที่เด็กจะได้เรียนรู้จริง เห็นถึงวิถีชีวิต ประสบการรืองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ในห้องเรียนอาจจะไม่มี

แต่ก่อนจะเรียนนั้น จะต้องทำการลงทะเบียน และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ

Homeschool เรียนอะไรบ้าง?

นอกจากความสนใจของตัวเด็กที่พ่อแม่ต้องยึดเป็นหลักสำคัญแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เด็กสนใจเรื่องงานศิลปะ ก็อาจจะเริ่มจากให้วาดภาพจากสิ่งของใกล้ตัว จากธรรมชาติ พาไปขยายความรู้เพิ่มเติมด้วยการพาออกไปดูศิลปะในแขนงต่างๆ อาจจะที่พิพิธภัณฑ์ หรือนักวาดทั่วๆไป ให้เขาได้เห็นได้พูดคุย กับคนที่มีประสบการณ์

นอกจากนี้ในบทเรียน หรือหน่วยการเรียนหนึ่งๆ จะมีการนำวิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ภูมิศาสตร์ มารวมไว้ในหัวข้อเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ในหน่วยการเรียนเรื่องช็อกโกแลต สำหรับวิชาวรรณกรรมจะเรียนวรรณกรรมเยาวชนเกี่ยวกับช็อคโกแล็ต อย่างชาลีกับโรงงานช็อคโกแล็ต ในวิชาศิลปะจะเรียนเรื่องการทำลายห่อช็อคโกแล็ต  ในวิชาคณิตศาสตร์จะสอนเรื่องการชั่ง ตวงช็อคโกแล็ต เป็นต้น

ขั้นตอนการเรียนการสอนแบบ โฮมสคูล

1. เตรียมความพร้อมโดยศึกษาข้อมูลความรู้ ในระดับพัฒนาการของลูก และค้นหาความสนใจพิเศษ

2. ยื่นขอข้อมูลและระเบียบการได้จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามที่คุณอาศัยอยู่ เพื่อทำหลักสูตรหรือแผนการสอนของลูก

3.หลักฐานวุฒิการศึกษาของผู้ปกครองต้องไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า

4. หากเด็กมีความบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อ่อนคณิตศาสตร์ ทางเขตจะให้ระยะเวลาซ่อมเสริม เพื่อประเมินใหม่อีกครั้ง

5. ให้ครอบครัวประเมินความรู้ของเด็กตามหลักเกณฑ์ในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน โดยทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะตรวจสอบปีละ 1 ครั้ง ว่ามีพัฒนาการตรงตามที่ครอบครัวประเมินไว้หรือไม่ และกำหนดความสามารถของเด็กว่าเทียบได้ในระดับชั้นใด

6. หากครอบครัวใดมีความพร้อมลดลง ไม่สามารถทำโฮมสคูลให้ลูกได้ เด็กสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ตามปกติ ตามระดับชั้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้เทียบไว้

ขั้นตอนการทำ home school ในประเทศไทย

ครอบครัวมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พรบ.การศึกษา และกฎกระทรวงฯ ให้สามารถจัดการศึกษาได้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ อนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น! (*ระดับอุดมศึกษา/มหาวิทยาลัย ยังไม่อนุญาติ) รายละเอียด มีดังนี้

– ระดับปฐมวัย (อนุบาล)

ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเขตพื้นที่การศึกษาว่าจะอนุญาตให้ครอบครัวจดทะเบียนเพื่อจัดการศึกษาบ้านเรียนหรือไม่ (ข้อมูล ณ ขณะนี้ 20 ต.ค. 55 บางเขตพื้นที่การศึกษาก็ไม่อนุญาตโดยอ้างว่าไม่จำเป็นต้องจด ให้พ่อแม่สอนลูกไปเองก่อน ค่อยมายื่นขอจดทะเบียนตอนระดับประถมศึกษา)

– ระดับประถมศึกษา

ครอบครัวสามารถยื่นขออนุญาตจดทะเบียน และจัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาตามภูมิลำเนา

– ระดับมัธยมศึกษา

**ไม่ได้ขึ้นกับเขตพื้นที่การประถมศึกษา ** ซึ่งครอบครัวจะต้องยื่นขออนุญาต จดทะเบียนจัดการศึกษากับหน่วยงาน ดังต่อไปนี้

– สำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา
– ลงทะเบียนเป็นนักเรียนกับ กศน. (การศึกษานอกระบบ)
– ลงทะเบียนเป็นนักเรียนกับ การจัดการศึกษาทางไกล

*ครอบครัวจะได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษี/เงินสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการจัดการศึกษา เหมือนโรงเรียนในระบบเช่นกัน

ที่มาข้อมูล: วิชาการดอทคอม

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง