บัณฑิตจุฬาฯ คนสุดท้าย ที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร จากพระหัตถ์ในหลวง ร.9

หากย้อนเวลากลับไป… ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ได้มีการจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรขึ้น โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่7) และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่เวชบัณฑิต (แพทยศาสตรบัณฑิต) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บัณฑิตจุฬาฯ คนสุดท้าย ที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร จากพระหัตถ์ในหลวง ร.9

ซึ่งต่อมาในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ได้มีการจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 และเคยมีผู้คำนวณว่า หากเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร 490 ครั้ง ประทับนั่งครั้งละประมาณ 3 ชั่วโมง เท่ากับทรงยื่นพระหัตถ์พระราชทานใบปริญญาบัตร 470,000 ครั้ง

จึงมีผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน ให้ลดการพระราชทานปริญญาบัตรเฉพาะระดับมหาบัณฑิตขึ้นไปเท่านั้น แต่มีพระราชกระแสตอบว่า “เสียเวลายื่นปริญญาบัตรให้บัณฑิตคนละ 6-7 วินาทีนั้น แต่ผู้ที่ได้รับนั้นมีความสุขเป็นปีๆ เปรียบกันไม่ได้เลย” นอกจากนี้ก็ยังรับสั่งว่า “จะพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตปริญญาตรีไปจนกว่าจะไม่มีแรง”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เองเป็นระยะเวลาเกือบ 50 ปี และต้องยุติพระราชกิจลง ด้วยพระชนมายุมากขึ้นประกอบกับทรงพระประชวร

สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย..

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เองครั้งสุดท้าย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 และนิสิตคนสุดท้ายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้แก่ นางสาว โอบเอื้อ อิ่มวิทยา จากคณะวิทยาศาสตร์ (วิทยาศาสตรบัณฑิต) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางสาวโอบเอื้อ อิ่มวิทยา บัณฑิตคนสุดท้าย ที่รับพระราชทานปริญญาบัตร จากในหลวง ร.9

บัณฑิตชุดสุดท้าย ของจุฬาฯ ที่รับปริญญา จากในหลวงรัชกาลที่ 9

พระราชทานพระบรมราโชวาท…

หลังจากเสร็จพิธีพระราชทานปริญญาบัตร  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทว่า…

“ข้าพเจ้ามีความยินดี ที่ได้มาทำพิธี มอบปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกวาระหนึ่ง ขอแสดงความชื่นชมกับผู้ทรงกิตติคุณและบัณฑิตทุกคน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จในการศึกษา

เมื่อวันวาน ข้าพเจ้าได้กล่าวกับบัณฑิตในที่ประชุมนี้ เป็นความว่า การรู้จักประมาณตน ทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถ ที่มีอยู่ได้พอเหมาะพอดีกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น ผู้รู้จักประมาณตน จึงสามารถทำตนทำงานได้ผลดีกว่าคนอื่น ผู้ที่แม้จะมีความรู้ความสามารถมากกว่า แต่ไม่รู้จักประมาณตน วันนี้ใคร่จะกล่าวกับท่านถึงเรื่อง การรู้จักประมาณสถานการณ์

การรู้จักประมาณสถานการณ์ ได้แก่ การรู้จักพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ให้เห็นชัดถึงความเป็นมาและที่เป็นอยู่ แล้วคาดว่าควรจะเป็นไปอย่างไรในอนาคต อย่างเช่น เมื่อเกิดน้ำท่วม ณ ที่ใดที่หนึ่ง ก็จะต้องศึกษาสถานการณ์ต่างๆ ให้รู้กระจ่างทั่วถึง เริ่มแต่น้ำท่วมนั้นเกิดขึ้นมาอย่างไร ในพื้นที่นั้นมีสภาพเป็นอย่างไร เคยมีน้ำท่วมมาแล้วกี่ครั้ง มีระยะถี่ห่างอย่างไร แต่ละครั้งก่อให้เกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด และในปัจจุบันมีลักษณะอย่างไร เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร เมื่อรู้สถานการณ์ที่เป็นมาและที่เป็นอยู่แน่ชัด ก็ควรประมาณสถานการณ์ได้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร และจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด การแก้ไขป้องกัน ก็จะสามารถกำหนดวิธีการได้ถูกตรงกับปัญหา และสภาพพื้นที่ ทั้งสามารถกำหนดเวลาปฏิบัติได้ว่า การใดควรจะทำก่อนหลัง และการใดเป็นการด่วน ที่จะต้องเร่งทำให้แล้วเสร็จทันการณ์ทันเวลา เพื่อป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดมีขึ้นอีก การรู้จักประมาณสถานการณ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ในการปฏิบัติงาน ยิ่งประมาณสถานการณ์ได้ถูกต้องเพียงใด ก็จะทำให้งานที่ทำสำเร็จผลสมบูรณ์ และได้ประโยชน์คุ้มค่ามากขึ้นเพียงนั้น

ขออวยพรให้บัณฑิตใหม่ประสบความสมประสงค์ ในความดีงามความรุ่งเรืองตามที่ปรารถนาทุกประการ และขอให้ทุกท่านที่มาประชุมพร้อมกันในพิธีนี้ มีความสุขสวัสดีจงทั่วกัน”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยhttp://welovethaiking.com, YouTube Workpoint News

ข่าวที่เกี่ยวข้อง