เมื่อย้อนกลับไป ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2493 ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) เสด็จฯ จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถึงประเทศไทย ทรงมีพระราชกรณียกิจอย่างต่อเนื่อง แทบจะกล่าวได้ว่า พระราชกรณียกิจเพื่อปวงประชาของพระองค์ได้ดำเนินขึ้นในทันทีที่ก้าวพระบาทแรกประทับลงบนผืนแผ่นดินไทย
ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก
ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมพระเชษฐา (ร.8) เสด็จพระราชทานปริญญาบัตร
เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงพยาบาลศิริราช เพื่อพระราชทานปริญญาและอนุปริญญาแก่บัณฑิต มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (คือ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) ครั้งนี้นับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินมาศิริราชเป็นครั้งที่ 2
ครั้งแรกเสด็จ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเสด็จฯ สมเด็จพระบรมเชษฐา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8) เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาและอนุปริญญาแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พิธีการทั้ง 2 ครั้ง จัดขึ้นเหมือนกันทุกประการ และได้ใช้สถานที่เดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่องค์ประธานในพิธี การพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้ จึงเป็นการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกและเป็นพระราชกรณียกิจแรกในศิริราช ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9
โดย เวลา 14.00 น. วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ มายังปะรำพิธีที่สร้างขึ้นใหม่หน้าตึกรังสีวิทยา (บริเวณศาลาศิริราช 100 ปี ในปัจจุบัน) พิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรในวันนั้นเป็นไปอย่างเรียบง่าย ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงประทับนั่งบนเก้าอี้ที่วางอยู่บนพื้นระดับเดียวกับบัณฑิตแพทย์ ขณะนั่งคุกเข่ารับใบปริญญาบัตรจากพระองค์ โดยไม่มีสิ่งใดขวางกั้นระหว่างพระองค์กับบัณฑิตแพทย์เลย เรียกได้ว่า บัณฑิตแพทย์รุ่นนั้น ช่างโชคดีมีบุญเหลือเกินที่ได้ใกล้ชิดพระองค์ท่านถึงเพียงนี้ แม้เพียงครั้งเดียวในชิวิตก็ตาม
ซึ่ง บัณฑิตแพทย์คนแรก ที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้แก่ ศ.นพ. เอื้อม ศิลาอ่อน เข้ารับพระราชทานปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปริญญาเอก) คนที่ 2 คือ ศ.นพ. อำนวย เสมรสุต ส่วนคนที่ 3 คือ นพ. เขียน กรัยวิเชียร สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (ปริญญาโท) สำหรับแพทยศาสตรบัณฑิต (ปริญญาตรี) ในปีนั้น ตรงกับแพทย์รุ่น 55 มีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาจำนวน 79 คน บัณฑิตแพทย์คนแรกที่เข้ารับพระราชทาน คือ นพ. เกษม วนะภูติ เมื่อพระราชทานพระบรมราโชวาทเสร็จแล้ว ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับทางชลมารค
สำหรับ การรับพระราชทานปริญญาบัตรแบบนั่งรับ (คุกเข่าซ้ายลง ส่วนเข่าขวาชันขึ้น) ที่ปะรำพิธีหน้าตึกรังสีวิทยา มีมาจนถึง พ.ศ. 2494 และต่อมาใน พ.ศ. 2495 เมื่อศิริราชสร้างหอประชุมราชแพทยาลัยเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงย้ายพิธีพระราชทานปริญญาบัตรไปจัดที่หอประชุมแทน และยังคงนั่งรับพระราชทานปริญญาบัตร จนถึง พ.ศ. 2505 โดยที่ แพทย์รุ่น 61 เป็นปีสุดท้ายที่นั่งรับ และเพื่อเป็นการประหยัดเวลา ในปี พ.ศ. 2506 จึงเปลี่ยนจากการนั่งรับเป็นยืนรับเหมือนกันหมดทุกมหาวิทยาลัย เป็นต้นมา
บทความที่เกี่ยวข้อง
- 10 มหาวิทยาลัยชื่อพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
- 10 โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนของพ่อหลวง (รัชกาลที่ 9)
- 10 มหาวิทยาลัย ที่บัณฑิตรับพระราชทานปริญญาบัตร จากพระหัตถ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9
- บัณฑิตจุฬาฯ คนสุดท้าย ที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร จากพระหัตถ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9
ขอบคุณข้อมูลจาก :
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. ๕๐ ปี ในหลวงกับศิริราช
สรรใจ แสงวิเชียร. ๑๒๐ ปี โรงเรียนแพทย์ศิริราช