คำว่า ” โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ” นั่นหมายถึง โรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงให้การอุปถัมภ์ในด้านต่างๆ อาทิ พระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ ให้ความอุปถัมภ์ หรือทรงให้คำแนะนำ ทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียน และพระราชทานพระบรมราโชวาท เพื่อเป็นการสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้แก่ครูและนักเรียน โดยมีทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ดังต่อไปนี้
10 โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9
1. โรงเรียนจิตรลดา
โรงเรียนจิตรลดาตั้งอยู่ในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นสำหรับพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง ตลอดจนเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปก็สามารถเข้ามาเรียนในที่นี้ได้ด้วยเหมือนกัน
ในตอนต้น ได้พิจารณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสอนชั้นอนุบาลขึ้น ณ ห้องชั้นล่างของพระที่นั่งอุดร บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2498 เนื่องด้วยมีพระราชประสงค์ให้ สมเด็จลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ได้ทรงเรียนร่วมกับเด็กอื่นๆ อีก 7 คน นับเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนจิตรลดา ต่อมาเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารเรียนชั้นเดียวในบริเวณสวนจิตรลดาและพระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนจิตรลดา” และได้จดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลศึกษาถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ปีการศึกษา 2507 ได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการขยายชั้นเรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และในปีการศึกษา 2511 ได้ขยายชั้นเรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมาจนถึงปัจจุบัน โดยรับนักเรียนทั่วไปตามกฎเกณฑ์ของโรงเรียนแต่ละปีการศึกษา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนทั่วไปได้เข้ามาเรียนโดยมิได้เลือกชั้นวรรณะ ตามพระบรมราโชวาท “ให้โรงเรียนรับนักเรียนทั่วไปโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเชื้อพระวงศ์”
นักเรียนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ามาเรียนในโรงเรียนจิตรลดา ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายของโรงเรียน นอกจากนี้ยังได้พระราชทานอาหารว่างและอาหารกลางวันแก่คณะครูและนักเรียนด้วย
2. โรงเรียนราชวินิต
โรงเรียนราชวินิตจัดตั้งตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยทรงให้สำนักพระราชวังจัดตั้งโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ประเภทโรงเรียนสหราษฎร์ระดับประถมศึกษา รับบุตรหลานของข้าราชการในราชสำนักโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน เปิดสอนชั้นเด็กเล็กถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ซึ่งได้ทำการขอครูจากกระทรวงศึกษาธิการมาช่วย ใช้งบประมาณจากเงินสวัสดิการของกองมหาดเล็ก สำนักพระราชวัง จำนวน 100,000 บาท ในการสร้างอาคารเรียนในที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บริเวณสวนเพาะชำ วังสวนกุหลาบ โดยมีคุณหญิงพวงรัตน์ วิเวกานนท์ เป็นผู้บริหารคนแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดป้ายโรงเรียน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2511 และ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 100,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนพระราชทานแก่นักเรียนที่เรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย
3. โรงเรียนไกลกังวล
ตั้งอยู่ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรอานันทมหิดลมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2481 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาแก่บุตรหลานของเจ้าหน้าที่ผู้รักษาวังไกลกังวล ซึ่งมีอยู่จำนวนมากแต่ไม่มีสถานที่เล่าเรียน มีฐานะเป็นโรงเรียนราษฎร์ที่ได้ทรงอุปการะค่าใช้จ่ายจากเงินพระราชกุศลเป็นรายปี
โรงเรียนวังไกลกังวล เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กขึ้นไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นเพิ่มเติมด้วย โรงเรียนวังไกลกังวลอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และได้มีการพัฒนาปรับปรุงมาเป็นลำดับ
4. โรงเรียนราชประชาสมาสัย ฝ่ายมัธยม รัชดาภิเษก ในพระบรมราชูปถัมภ์
เป็นโรงเรียนรัฐบาลประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 6 (สมุทรปราการ) (สังกัดเดิมคือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต 1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่บริเวณถนนสุขสวัสดิ์ ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายแบบสหศึกษา
โรงเรียนนี้ถือกำเนิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์จัดสร้างโรงเรียนสำหรับบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อนที่เลี้ยงแยกจากบิดามารดาตั้งแต่แรกเกิด เพราะเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับเชื้อโรคเรื้อน แต่มีพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อ บังคับมิให้เข้าโรงเรียนใดรับเข้าเป็นนักเรียน ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าเพื่อความเป็นธรรม เด็กเหล่านี้ควรมีสิทธิเสรีภาพเช่นเดียวกับเด็กอื่นๆ และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างอาคารใหม่ 500,000 บาท บนที่ดินราชพัสดุจำนวน 32 ไร่ และอีก 500,000 บาทให้ใช้เงินสำหรับบริหารโรงเรียน
ทำการจดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์ ปี พ.ศ.2506 พระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนราชประชาสมาสัย” โดยมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นเจ้าของ และท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิเป็นผู้จัดการ เปิดรับนักเรียนรุ่นแรก 40 คน มีครู 3 คน ทรงรับนักเรียนเหล่านี้ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์อยู่ประจำที่โรงเรียน ต่อมาในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2507 ได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์อีก 1,000,000 บาท เพื่อสร้างอาคารหลังที่ 2 และทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้รับเด็กทั่วไปเข้าเรียนได้ตามความสมัครใจ ดังนั้นในปีการศึกษา 2508 โรงเรียนจึงได้รับนักเรียนไป-กลับในท้องถิ่นเข้ามาเรียนด้วย
5. โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดิมคือ “โรงเรียนราชวิทยาลัย” ตั้งขึ้นตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 ณ ตำบลบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อำเภอธนบุรี เป็นโรงเรียนประจำ โดยมีวัตถุประสงค์จะฝึกอบรมนักเรียนให้มีความรู้เตรียมตัวไปศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในยุโรป ต่อมาในปลายรัชกาลที่ 5 ได้โอนมาสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายที่ให้นักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาได้ศึกษาวิชากฎหมายต่อในชั้นอุดมศึกษา พร้อมทั้งได้มีพระบรมราชโองการให้โรงเรียนนี้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้ย้ายมาเปิดสอนที่อาคารใหม่ ตำบลบางขวาง จังหวัดนนทบุรี
ในรัชกาลที่ 6 ได้มีประกาศให้โรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นต่อสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อมารัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนราชวิทยาลัยรวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียนเดียวกันอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานนามว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คณะครูและศิษย์เก่าได้ร่วมกันจัดตั้งและดำเนินกิจการโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นใหม่ โดยได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงศึกษาธิการ ใช้สถานที่ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสามพรานเดิม พร้อมทั้งได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานนามอักษรย่อพระปรมาภิไธย “ภ.ป.ร.” นำหน้าชื่อโรงเรียน จึงได้รับพระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์” และทรงพระกรุณารับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา ตลอดจนเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดป้ายโรงเรียน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2507
6. โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์
โรงเรียนนี้กำเนิดขึ้นจากพระเมตตาต่อเยาวชนที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกลบนภูเขา โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อสอนหนังสือให้แก่ชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคม พระราชทานนามว่า “โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์” เป็นอาคารเรียนถาวรสำหรับเด็กนักเรียนชาวเขา ในระดับก่อนประถมและประถมศึกษา ตั้งอยู่บริเวณชายแดนภาคเหนือ ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวเขา ทำให้เยาวชนชาวไทยภูเขาเหล่านี้ได้มีโอกาสเรียนรู้หนังสือไทย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย เป็นการสร้างสำนึกของความเป็นคนไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นคงของชาติ
โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมีจำนวนทั้งสิ้น 10 โรง ต่อมาเมื่อท้องถิ่นนั้นมีความเจริญขึ้น หน่วยราชการที่รับผิดชอบโดยตรงสามารถเข้าไปดำเนินการได้ ก็จะโอนให้กับส่วนราชการนั้นๆ รับไปดำเนินการต่อ ปัจจุบันโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ที่อยู่ในความดูแลของตำรวจตระเวนชายแดน มีจำนวน 3 โรง อาทิ โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 2 จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับก่อนประถมและประถมศึกษาแล้ว ยังมีโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโรงเรียนเหล่านี้อีกด้วย ได้แก่ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการส่งเสริมคุณภาพทางการศึกษา โครงการฝึกอาชีพนักเรียน โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน โครงการนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และโครงการสหกรณ์ในโรงเรียน ตชด.
7. โรงเรียนร่มเกล้า
โรงเรียนร่มเกล้าแห่งแรก คือ โรงเรียนร่มเกล้า บ้านหนองแคน ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เดิมชื่อโรงเรียนบ้านหนองแคน เปิดทำการสอนครั้งแรกในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพียงชั้นเดียวมาตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2486 โดยใช้ศาลาวัดบ้านหนองแคนเป็นสถานที่เรียน ต่อมาในปี พ.ศ.2514 คณะครูและผู้ปกครองได้ร่วมมือกันก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว 1 หลัง ในที่ดินซึ่งประชาชนได้บริจาคให้จำนวน 10 ไร่ เป็นกระต๊อบยาว มุงด้วยหญ้าแฝก พื้นห้องเป็นดิน และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 92,063 บาท ให้ก่อสร้างอาคารเรียนถาวรหลังแรก ขนาด 5 ห้องเรียน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารเรียน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2516 และได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนร่มเกล้า” เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4
ในสมัยนั้น บ้านหนองแคนเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม เป็นที่ชุมชนของผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกับรัฐบาล ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่บนเทือกเขาภูพาน โรงเรียนบางโรงเรียนต้องปิดไป เพราะเยาวชนส่วนใหญ่ถูกชักจูงไปเข้าป่า พันเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บังคับการกรมผสมที่ 23 ปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในย่านนั้น ได้กราบบังคมทูลสร้างโรงเรียนที่บ้านหนองแคน เพื่อให้การศึกษาป้องกันมิให้เยาวชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกระโซ่และภูไท ต้องถูกชักจูงเข้าป่า
การก่อสร้างโรงเรียนร่มเกล้าเป็นไปอย่างยากลำบาก ได้รับการขัดขวางจาก ผกค. ทำลายเส้นทางการลำเลียงสิ่งของและเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง และมีการลอบยิงผู้ที่เข้าไปสร้างโรงเรียน แต่ชาวบ้านได้หันกลับเข้ามาให้ความร่วมมือ เมื่อทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างโรงเรียน และในทันทีที่โรงเรียนสร้างเสร็จเพียง 2 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปเปิดโรงเรียนท่ามกลางความวิตกของผู้ที่มาเฝ้ารับเสด็จ ซึ่งในพื้นที่นั้น เป็นเวลานับสิบปีแล้วที่ยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปนอกจากทหาร และก่อนหน้านั้นเพียง 2 วันก็ยังมีการยิงกันอยู่ แต่ความสงบร่มเย็นก็เกิดขึ้นในวันที่พระองค์ท่านเสด็จฯ
8. โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาสงเคราะห์เด็กยากจนขาดที่พึ่งและเด็กในถิ่นกันดาร ให้ได้รับการศึกษาตามควรแก่อัตภาพจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคณะกรรมการดำเนินการ มีสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัตเป็นประธาน เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวัด เป็นประเภทโรงเรียนราษฎร์
สมเด็จพระวันรัตเป็นเจ้าของในนามคณะกรรมการ และมีพรราชประสงค์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้จัดการในโรงเรียนของแต่ละจังหวัด ขอความร่วมมือจากคณะสงฆ์ช่วยอุปถัมภ์ อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิมาช่วยสอน สำหรับทุนทรัพย์ในการจัดตั้งและดำเนินกิจการ เป็นทุนทรัพย์พระราชทานส่วนหนึ่ง และทุนที่ได้รับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล โดยทางราชการองค์รัฐวิสาหกิจและพ่อค้าประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ปัจจุบันมี 3 โรงเรียน
โรงเรียนแรกคือ โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ จัดตั้งขึ้นโดยสืบเนื่องจากวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2509 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคโดยเรือพระที่นั่งชื่อ “เศษกระดาน” ตามแม่น้ำเจ้าพระยามาถึงหมู่บ้านคลองคอต่อ ตำบลบางปูใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ ทอดพระเนตรเห็นเรือประมงแล่นเข้าคลอง จึงเสด็จฯ ตามจนสุดคลองพบถนนสุขุมวิท สองฟากคลองมีหมู่บ้านชาวประมงตั้งอยู่ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจนจนพากันเข้ามาเฝ้าฯ และทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของที่พอจะหาได้ เช่น กุ้ง หอยปู ปลา เป็นต้น
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมีพระราชเสาวนีย์ถามถึงความเป็นอยู่และการศึกษาของเด็ก ชาวบ้านกราบบังคมทูลขอพระราชทานให้สร้างโรงเรียนมัธยมขึ้น เพื่อสงเคราะห์เด็กขัดสนในหมู่บ้านให้มีที่เรียนต่อจากชั้นประถมศึกษา หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณณสิริมหาเถระ) แต่ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จวันรัต เป็นประธานกรรมการ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนสร้างโรงเรียนเริ่มแรก 400,000 บาท และมีผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลอีกส่วนหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์อาคารเรียน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2512 อาคารเป็นทรงไทย 2 ชั้น มี 8 ห้องเรียน ชื่อตึก ภ.ป.ร. ราคา 1,300,000 บาท เปิดสอนเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ตั้งแต่ชั้น ม.1 – ม.3 เก็บค่าบำรุงการศึกษาปีละ 1,020 บาท ผู้ใดขัดสนก็ยื่นเรื่องราวขอทุนโดยเสนอตามความเป็นจริงและมีคณะกรรมการรับรอง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดให้คณะกรรมการรับโรงเรียนนันทบุรีวิทยา อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน และโรงเรียนวัดบึงเหล็ก อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เข้าอยู่ในโครงการโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนนี้ด้วย
สำหรับโรงเรียนนันทบุรีวิทยา ยกเว้นไม่เก็บค่าล่าเรียนถึงร้อยละ 80 ของนักเรียนทั้งหมด แจกชุดนักเรียนให้นักเรียนที่ยากจนและจัดหนังสือให้ยืมเรียน รวมทั้งมอบทุนการศึกษาให้นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ถึง 16 คน ส่วนโรงเรียนวัดบึงเหล็ก จัดการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายให้เปล่าทั้งหมด
9. โรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วน
ในคราวที่คณะกรรมการ และคณะกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัดต่างๆ พร้อมด้วยคณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้าฯ ทูลเก้าฯ ถวายเงินกับน้อมเกล้าฯ ถวายรถยนต์โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ณ ศาลาดุสิตดาลัย วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า
“… ผู้ที่ประสบภัยโดยเฉพาะพวกเด็กๆ ได้สูญเสียทั้งโรงเรียนทั้งผู้อุปการะ ฉะนั้นได้ตั้งนโยบายที่จะช่วยเหลือเด็กที่เป็นกำพร้าจากภัยธรรมชาติ ซึ่งก็ได้ทำการตั้งโรงเรียนและได้อุปการะเด็กให้มีที่เรียน และมีผู้ปกครองก็คือมูลนิธิ ให้สามารถที่จะเรียนตั้งแต่ชั้นเล็กๆ จนกระทั่งจบโรงเรียนชั้นมัธยม มีบางรายก็ได้เงินสนับสนุนจนกระทั่งถึงขั้นอุดมศึกษากันเลยทีเดียว…”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารเรียนของโรงเรียนซึ่งได้รับความเสียหาย เนื่องจากอุทกภัยและวาตภัย และพระราชทานนามโรงเรียนเหล่านี้ว่าโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เรียงตามลำดับตามการก่อสร้างก่อนหลัง
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์รุ่นแรก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์สร้างและบูรณะซ่อมแซม คือโรงเรียนที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากวาตภัยครั้งใหญ่ที่ภาคใต้ในปีพ.ศ. 2506 จำนวน 12 โรงเรียนกระจายอยู่ใน 6 จังหวัดด้วยกัน
ต่อมาใน พ.ศ. 2513 เกิดน้ำป่าไหลท่วมบ้านเรือนราษฎรตำบลท่าแฝก อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรโรงเรียนบ้านงอมศักดิ์ ทรงเห็นว่ามีสภาพสุดโทรมมากจึงได้พระราชทานเงิน 15,000 บาท ให้ผู้ใหญ่ซ่อมอาคารเรียน แต่ราษฎรได้พร้อมใจกันโดยเสด็จพระราชกุศลช่วยสร้างโรงเรียนหลังใหม่ โดยย้ายไปอยู่บนเนินในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังได้พระราชทานเงินปีละ 20,000 บาท ให้แก่ทางโรงเรียนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ตามแผนพัฒนาโรงเรียนราชประชานุเคราะห์อีกส่วนหนึ่งด้วย โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 13
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ร่วมกับจังหวัดประสบภัย จัดสร้างโรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัดพัง และอุทกภัยเพิ่มขึ้นอีก 3 จังหวัด รวม 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 14 จังหวัดหนองคาย และราชประชานุเคราะห์ 15 จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้รับความเสียหาย เนื่องจากประสบภัยในปี พ.ศ. 2509 ราชประชานุเคราะห์ 16,17,18 จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งได้รับความเสียหายจากวาตภัยในปี พ.ศ. 2514
สำหรับโรงเรียนบ้านปลายแหลม ตำบลตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ จัดสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2529 และพระราชทานชื่อโรงเรียนนี้ใหม่ว่า “โรงเรียนราชประชานุเคราะห์” ไม่มีหมายเลขกำกับ เนื่องจากถือว่าเป็นสถานที่ต้นเหตุพระราชทานกำเนิดมูลนิธิราชประชานุเคราะห์
การรับเด็กที่เรียนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์แต่ละแห่ง มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 19 จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดตั้งใน พ.ศ. 2532 และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 20 จังหวัดชุมพร จัดตั้งในพ.ศ. 2533 เป็นโรงเรียนที่กรมสามัญศึกษา ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์จัดตั้งขึ้นเพื่อให้โอกาสทางการศึกษาแก่บุตรของผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและขาดโอกาสทางการศึกษาในจังหวัดภาคใต้
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๑, ๒๒ ตั้งขึ้นที่อำเภอแม่ลาน้อยและอำเภอแม่ปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นโรงเรียนที่กรมสามัญศึกษา มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และกองทัพภาคที่ ๓ ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อรับเด็กชาวไทยภูเขาที่อยู่ตามแนวชายแดน
ส่วนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23 จังหวัดพิษณุโลก และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 จังหวัดพะเยา จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2536 เป็นโรงเรียนที่กรมสามัญศึกษาจัดตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีเพื่อเด็กยากจน เด็กที่มาจากครอบครัวประสบปัญหาทางสังคม ครอบครัวแตกแยก ครอบครัวที่พ่อแม่ติดยาเสพติด เด็กที่มาจากครอบครัวประกอบอาชีพที่ไม่พึงประสงค์ การคัดเลือกเด็กเข้าเรียนกระทำ ด้วยความรอบคอบ กลั่นกรองด้วยครู ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้ทราบสภาพแท้จริงของครอบครัวเด็กเป็นอย่างดีนอกจากนี้ใน พ.ศ. 2539 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๒๓ ได้รับนักเรียนในโครงการ “เสมาพัฒนาชีวิต” ตามนโยบายกรมสามัญศึกษา จากจังหวัดพะเยา จำนวน 112 คน ซึ่งโรงเรียนให้การดูแลอย่างใกล้ชิด และจัดทำกิจกรรมต่างๆ ให้นักเรียนได้เพิ่มพูนความรู้ และมีคุณภาพต่อไป
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 25, 26, 27 28, 29 ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดแพร่ ลำพูน หนองคาย ยโสธร และศรีสะเกษ ตามลำดับ เป็นโรงเรียนที่กรมสามัญศึกษาจัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในมหามิ่งมงคลวโรกาสที่เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติครบ 50 ปี บางส่วนเพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าชาวอีสานที่พ่อแม่ไปรับจ้างทำงานในจังหวัดภาคใต้ และเสียชีวิตลงเนื่องจากพายุเกย์ที่จังหวัดชุมพรและบางส่วนเป็นเด็กยากจนในพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์สนับสนุนกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการตั้ง
งบประมาณก่อสร้างโดยขอให้ทางกองทัพภาคที่ 3 ได้เป็นผู้ดำเนินการ่อสร้างโรงเรียน ราชประชานุเคราะห์ 25 และ 26 และกองทัพภาคที่ 2 ดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27, 28 และ 29 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ทั้ง 5 แห่งนี้ ได้จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2537 โดยเริ่มรับนักเรียนมาตั้งแต่ปี 2538
10. โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
แต่เดิม โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นวังเก่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นราชสกุล “วัฒนวงศ์” ทรงอุทิศให้รัฐบาลตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูสตรีแห่งแรก เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำบุญเปิดโรงเรียนฝึกหัดครูหญิงแห่งนี้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2456 และเปิดสอนในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2456 มีนักเรียน 24 คน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโรงเรียนว่า “เบญจมราชาลัย” และกรมศึกษาธิการได้เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงเปิดนามโรงเรียน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2456
ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ได้รื้ออาคารวัฒนานุสสรณ์ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น สร้างให่เป็นอาคาร 6 ชั้น มีสระว่ายน้ำ “วิบูลวรรณ” บนดาดฟ้า เพื่อเป็นที่ระลึกในพระกรุณาธิคุณของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ องค์ต้นราชสกุล “วัฒนวงศ์” ผู้ทรงอุทิศวังแห่งนี้ อาคารหลังใหม่นี้เปิดใช้ในปีการศึกษา 2536 อาคารหลังนี้คือ “อาคารวัฒนวงศ์” จากนั้นโรงเรียนได้พัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ให้โรงเรียนเบญจมราชาลัยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
———————————————————–
ข้อมูลและภาพประกอบจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, prdnorth.in.th , http://www.rpr.ac.th, http://www.manager.co.th และ http://www.ohm.go.th