พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัย ในหลวงรัชกาลที่ 9

10 มหาวิทยาลัย ที่บัณฑิตรับพระราชทานปริญญาบัตร จากพระหัตถ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9

Home / วาไรตี้ / 10 มหาวิทยาลัย ที่บัณฑิตรับพระราชทานปริญญาบัตร จากพระหัตถ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9

ถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจที่สุด ที่หาจากที่ไหนไม่ได้เลย สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งในอดีตเหล่าบัณฑิตได้เคยรับ พระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ที่พระองค์ทรงประทับอยู่บนเก้าอี้เป็นระยะเวลานานๆ โดยไม่ทรงมีพระกิริยาแสดงความเหน็ดเหนื่อยออกมาให้เราได้เห็นกันเลย  อดทนอยู่ในท่าตรงเช่นนั้น เพื่อจะพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิตนับหลายพันคน จนเสร็จพระราชกรณียกิจ

ย้อนชมภาพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิต

วันนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนมาย้อนชมภาพในพิธิพระราชทานปริญญาบัตร กับ 10 มหาวิทยาลัยไทย ที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยพระราชทานปริญญาบัตรแก่เหล่าบัณฑิต (นี่เป็นเพียงแค่ 10 มหาวิทยาลัยไทยเท่านั้นที่ เราขออนุญาตเลือกมาให้ทุกคนได้ชมภาพในวันสุดภูมิใจกันเท่าน แต่ยังมีอีกหลายสถาบันการศึกษาที่เคยได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจาก ในหลวงรัชกาลที่ 9)

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University) ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีพิธีในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระราชทานปริญญาบัตรแก่เวชบัณฑิต (แพทยศาสตรบัณฑิต) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ตึกบัญชาการ (อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ในปัจจุบัน)

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat University) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ทรงกล่าวแนวทางในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติตนแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร…

“ในการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจการงาน ย่อมจะต้องมีปัญหาต่างๆ เป็นอุปสรรค ขัดขวางความสำเร็จอยู่เสมอ ยากที่ผู้ใดหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะหลีกเลี่ยงพ้นได้ คนก็มีปัญหาของคน สังคมก็มีปัญหาของสังคม ประเทศก็มีปัญหาของประเทศ แม้กระทั่งโลกก็มีปัญหาของโลก ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตและกิจการงานจึงเป็นเรื่องธรรมดา ข้อสำคัญเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะต้องแก้ไขให้ลุล่วงไปโดยไม่ชักช้า ผู้ใดมีสติปัญญาคิดได้ดี ปฏิบัติได้ถูก ผู้นั้นก็มีหวังบรรลุถึงเป้าหมาย มีความสำเร็จสูง ถ้าเป็นตรงกันข้าม ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จสมหวังได้”

มหาวิทยาลัยศิลปากร

3. มหาวิทยาลัยศิลปากร

มหาวิทยาลัยศิลปกร (Silpakorn University) ถือได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการเรียนการสอนเกี่ยวกับงานศิลปะ และยังมีความโดดเด่นในด้านศิลปะกรรมและสถาปัตยกรรม อีกด้วย โดยงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร จะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) โดยเสด็จฯ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2508 ณ วังท่าพระ และในปัจจุบัน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

4. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2516 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ทรงกล่าวแนวทางในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติตนแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร…

“ข้าพเจ้าและพระราชินีมีความยินดี ที่ได้มาร่วมพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกวาระหนึ่ง และมีความพอใจที่ได้ทราบตามรายงานว่า กิจการของมหาวิทยาลัยดำเนินก้าวหน้ามาด้วยดีทุกๆ ด้าน ขอแสดงความชื่นชมกับทุกๆ ท่าน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จในครั้งนี้ ปัจจุบันนี้เป็นสมัยเร่งรัดพัฒนา จึงบังเกิดสิ่งต่างๆ ใหม่ๆ ขึ้นมากมายเป็นผลติดตามมา ในฐานะที่ท่านทั้งหลายเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา และส่วนใหญ่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการนั้นด้วยแน่นอน อยากให้พิจารณาบรรดาผลงานที่ได้ลงทุนลงแรงไปแล้วว่าคุ้มค่า เป็นประโยชน์ตรงกับความประสงค์เพียงใด ช่วยให้บ้านเมืองเจริญขึ้น และมีความผาสุกมั่นคงขึ้นเพียงใด เชื่อว่าจะได้พบผลได้ที่ไม่พึงประสงค์อยู่ไม่น้อย แสดงว่าการทำงานของเรายังมีคุณภาพไม่สมบูรณ์ ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุง

การทำงานอย่างให้มีคุณภาพ ให้ได้ผลบริบูรณ์นั้น จะทำอย่างไร เบื้องต้น ต้องทำความเห็นให้ถูกต้องในงานที่จะทำเสียก่อน โดยใช้ปัญญาไตร่ตรองให้เห็นเหตุที่แท้ผลที่แท้ ที่ถูกต้องตรงตามเป้าหมายที่พึงมุ่งหวัง แล้ววางแผนการอันแน่นอนที่จะดำเนินการต่อไป ด้วยหลักวิชา ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน และสำคัญที่สุด ต้องมีความพากเพียรไม่ย่อหย่อน ในอันที่จะกระทำต่อตามไปจนกว่าจะเป็นผลสำเร็จ ขอให้ถือว่าการงานที่จะทำนั้นต้องการเวลา เป็นงานที่มีผู้ดำเนินมาก่อนแล้ว ท่านเป็นผู้ที่จะเข้าไปเสริมกำลัง จึงต้องมีความอดทนที่จะเข้าไปร่วมมือกับผู้อื่น ต้องปรองดองกับเขาให้ได้ แม้เห็นว่ามีจุดหนึ่งจุดใดจะต้องแก้ไขปรับปรุง ก็ต้องค่อยพยายามแก้ไขไปตามที่ถูกที่ควร อย่าได้ด่วนหักหาญ มิฉะนั้นจะเกิดความร้าวฉาน จะเกิดความท้อแท้เป็นอุปสรรคให้งานหยุดชะงักลงกลางคัน

เมื่อท่านตั้งใจดี มีแผนงานดี มีหลักวิชา มีเหตุผล มีสติรอบคอบในงานที่ทำแล้ว จะเกิดความทราบตระหนักด้วยตนเองขึ้นว่า งานที่ทำนั้นจะได้ผลดีแน่นอน แม้อาจยังไม่ปรากฏผลในปัจจุบันทันตาเห็น ก็จะแน่แก่ใจได้ว่าจะสำเร็จลุล่วงด้วยดีในเวลาต่อไป ความแน่ใจดังนี้เป็นอานิสงส์สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ท่านภูมิใจ มั่นใจ ไม่ท้อแท้ เกิดพลังทั้งกายและใจที่จะกระทำต่อไปจนถึงที่สุด ขอให้ทุกคนนำถ้อยคำของข้าพเจ้าไปคิดใคร่ครวญให้แน่ชัด ให้เป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่การงานและแก่การครองชีวิตของตนต่อไป

ข้าพเจ้าขออวยพรให้บัณฑิตใหม่ทุกคน สามารถประกอบกิจการต่างๆ ให้สัมฤทธิ์ผลอันพึงประสงค์ทุกอย่าง และให้ประสบความสุข ความสำเร็จ และความเจริญทุกประการในชีวิต”

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

5. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Chiang Mai University) เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาค ตามโครงการพัฒนาการศึกษาของภูมิภาค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 โดยมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ที่เชิงดอยสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีการศึกษา 2532 ณ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้ารับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภูมิศาสตร์ ด้วย

มหาวิทยาลัยมหิดล

6. มหาวิทยาลัยมหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University) เป็นสถาบันที่ก่อตั้งมาจากโรงเรียนแพทย์ ณ โรงพยาบาลศิริราช ที่มีชื่อว่า “โรงเรียนแพทยากร” และเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” และต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็น “มหาวิทยามหิดล” ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย จากการจัดอันดับของสำนักจัดอันดับหลายสำนัก และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด สาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ และเป็นสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN) อีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชดำรัสในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ 4 กรกฏาคม พ.ศ. 2540 โดยพระองค์ ได้กล่าวแก่ บัณฑิตมหิดลทั้งหลายว่า “ผู้ปรารถนาความก้าวหน้า เมื่อประสบความสำเร็จในกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ควรหยุดยั้งพอใจอยู่เพียงเท่านั้น แต่ชอบที่จะยึดถือความสำเร็จทั้งนั้น เป็นรากฐานในการสร้างสรรค์ความสำเร็จที่ยิ่งสูงขึ้น และเป็นประโยชน์กว้างขวางขึ้น”

มหาวิทยาลัยรามคำแหง

7. มหาวิทยาลัยรามคำแหง

มหาวิทยาลัยรามคำแหง (Ramkhamhaeng University) สถาบันของพ่อขุนราม จัดเป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชาแห่งเดียวในประเทศไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อตั้งเมื่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2514 บนบริเวณที่ดินประมาณ 300 ไร่เศษ บนถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร คำขวัญเดิมของรามคำแหง คือ รู้จักอภัย ตั้งใจศึกษา บูชาพ่อขุน สนองคุณชาติ

เมื่อครั้งอดีต วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 นับเป็นวันที่สำคัญยิ่งของประชากรชาวรามคำแหง เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก ณ บริเวณหน้าสำนักหอสมุดกลางฯ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงได้นำวันที่ 26 พฤศจิกายน มาเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ

หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ความตอนหนึ่งว่า…

“มหาวิทยาลัยรามคำแหงนี้ เป็นมหาวิทยาลัยในแบบที่ให้โอกาสแก่ ผู้ปรารถนาวิชาความรู้ ให้เข้ามาศึกษาค้นคว้าวิทยาการต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง และอย่างอิสระจึงอำนวยประโยชน์ได้มาก ในด้านสนับสนุนส่งเสริมบุคคลทั่วไป และโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานแล้ว ให้ได้ฟื้นฟูเพิ่มพูนความสามารถของตนทางด้านวิชาการ เพื่อนำไปปรับปรุง การงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยกฐานะหน้าที่ให้สูงขึ้น มหาวิทยาลัยมีความมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริม ผู้ที่เข้ามาศึกษาดังนี้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วทุกคนควรจะได้มองเห็น และควรที่จะได้น้อมนำมาเป็นคติในการดำเนินชีวิตและการงานต่อไป โดยทำความตั้งใจและความเพียรให้มั่นคง ในอันที่จะฝึกฝนและปรับปรุงตนเอง ในการทำงานให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ และสำคัญที่สุดควรจะได้พยายาม หาทางนำความคิดวิทยาการซึ่งอุตส่าห์ฝึกฝนศึกษามาได้ด้วยยากนั้นมาใช้ ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความ เจริญมั่นคงของชาติบ้านเมืองของเรา”

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 

8. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้พระนาม “พระจอมเกล้า” เป็นชื่อของมสถาบัน และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “King Mongkut’s Institute of Technology” และต่อมาได้เปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (King Mongkut’s University of Technology Thonburi) หรือ บางมด โดยเป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ อีกด้วย

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 1 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

มหาวิทยาลัยขอนแก่น

9. มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำหรับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Khon Kaen University) เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น มีจุดประสงค์เพื่อให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 และสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2509

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังจังหวัดขอนแก่น ทรงประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น (รุ่นแรก) ณ หอประชุมมหาวิทยาลัย ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

10. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เมื่อปี พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ว่า “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล”  ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531 โดยความหมายของชื่อก็คือ สถาบันเทคโนโลยีอันเป็นมิ่งมงคลแห่งพระราชา

สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548

  1. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
  3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
  4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  5. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
  6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
  7. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
  8. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
  9. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

ทุกวันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ถือเป็น “วันราชมงคล” ซึ่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ในวันดังกล่าวเป็นประจำทุกปี เพื่อแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดย สกอ. ผลปรากฏว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยดีเด่นในด้านการเรียนการสอน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับการจัดอันดับดีเด่นในด้านการเกษตร

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลและภาพ : http://blog.eduzones.com/goodueduzones/170673, www.dmcr.go.th, www.sa.ku.ac.th, http://khuntubkaew.exteen.com/20110713/entry, www.chaoprayanews.com, www.info.ru.ac.th, www.ourking.in.th, www.rmutt.ac.th