มหาวิทยาลัยศิลปากร

Silpakorn University

Home / academy / มหาวิทยาลัยศิลปากร
มหาวิทยาลัยศิลปากร (Silpakorn University) เป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกในประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และโบราณคดีปัจจุบัน เปิดสอนครอบคลุมทุกสาขาวิชา ทั้งวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาศาสตร์การเกษตร ตามมาตรฐานของมหาวิทยาลัยสากลอย่างสมบูรณ์… See More

มหาวิทยาลัยศิลปากร (Silpakorn University) เป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกในประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และโบราณคดีปัจจุบัน เปิดสอนครอบคลุมทุกสาขาวิชา ทั้งวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาศาสตร์การเกษตร ตามมาตรฐานของมหาวิทยาลัยสากลอย่างสมบูรณ์

มหาวิทยาลัยศิลปากร

มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประวัติความเป็นมา
มหาวิทยาลัยศิลปากร เดิมคือ โรงเรียนปราณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (เดิมชื่อ Corrado Feroci) ชาวอิตาเลียน ซึ่งเดินทางมารับราชการในประเทศไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ร่วมกับคุณพระสาโรช รัชตมินมานก์ (สาโรช สุขยางค์) ท่านทั้งสองได้ก่อตั้งโรงเรียนปราณีตศิลปกรรมขึ้นในปี พ.ศ. 2476 ใช้พื้นที่วังกลาง และวังตะวันออก หน้าพระบรมมหาราชวังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนแห่งนี้ เปิดสอนให้แก่ข้าราชการ และนักเรียนในสมัยนั้นโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ต่อมาปีพ.ศ. 2478 ได้รวมเอาโรงเรียนนาฏยดุริยางคศาสตร์ ที่ตั้งอยู่วังหน้าไว้ด้วย และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนศิลปากร”

โรงเรียนศิลปากรได้เจริญเติบโตเป็นลำดับเรื่อยมา กระทั่งพระยาอนุมานราชธนร่วมกับอาจารย์ศิลป์ พัฒนาหลักสูตรจนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 จัดตั้งคณะจิตรกรรม และประติมากรรม ขึ้นเป็นคณะวิชาแรก (ปัจจุบันคือ คณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์) ในปี พ.ศ. 2498 อาจารย์ศิลป์ผลักดันให้เกิดคณะวิชาใหม่ คือ คณะสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งมี พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) เป็นผู้ก่อตั้ง (ซึ่งต่อมาได้ปรับหลักสูตร และเปลี่ยนชื่อเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) คณะโบราณคดี วางรากฐานโดยหลวงบริบาล บุรีภัณฑ์ และต่อมาจึงมีคณะมัณฑนศิลป์ซึ่งแยกตัวออกมาจากคณะจิตรกรรมฯ จากนั้นได้ขยายพื้นที่มหาวิทยาลัยโดยได้จัดซื้อที่ดินวังท่าพระซึ่งอยู่ติดกับที่ตั้งเดิมจากทายาทสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ต่อมาเมื่อผู้แทนขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติได้ให้คำแนะนำในการจัดตั้ง สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยให้มีลักษณะสอดคล้องกับหลักการสากล คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาโครงการปรับปรุงมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อขยายการศึกษาวิชาต่างๆ โดยไม่จำกัดเฉพาะศิลปะ และโบราณคดีเท่านั้น ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้ดำเนินการจัดตั้งคณะอักษรศาสตร์ขึ้นเป็นคณะวิชาลำดับที่ 5 เป็นคณะวิชาแรกของวิทยาเขตแห่งใหม่ คือ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ณ จังหวัดนครปฐม โดยเริ่มเปิดสอนนักศึกษารุ่นแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 และคณะอักษรศาสตร์ได้ถือวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาคณะฯ ตลอดมา และได้มีการจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ในปีพ.ศ. 2513 คณะวิทยาศาสตร์ในปีพ.ศ. 2515 คณะเภสัชศาสตร์ในปีพ.ศ. 2529 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมในปีพ.ศ. 2535 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม) และคณะสัตวศาสตร์ และเทคโนโลยีการเกษตรในปีพ.ศ. 2544 (เปิดการเรียนการสอนรวมกับคณะวิทยาศาสตร์) ตามลำดับ

ระหว่างปีพ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคณะดุริยางคศาสตร์ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 36 พรรษา ในวันที่2 เมษายน พ.ศ. 2536 และเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสมบูรณ์ทางด้านศิลปะมากยิ่งขึ้น โดยจัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตรที่สำนักงานอธิการบดีตลิ่งชัน

จากนั้นมหาวิทยาลัยจึงได้มีมติก่อตั้งวิทยาเขตใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัยในอนาคต โดยมีมติเลือกอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี คือ วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี โดยมีคณะวิทยาการจัดการในปีพ.ศ. 2545 เป็นคณะสาขาวิชาแรกของวิทยาเขต จากนั้นคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรจึงได้ย้ายมาเปิดการเรียนการสอนเต็มรูปแบบที่วิทยาเขตนี้ ตามด้วยการจัดตั้ง คณะเทคโนโลยีสารเทศและการสื่อสาร ในปีพ.ศ. 2546 เป็นคณะล่าสุด

ปรัชญาประจำมหาวิทยาลัย
ศิลป์และศาสตร์ สร้างสรรค์ชาติยั่งยืน

ตรา มหาวิทยาลัยศิลปากร

ตราประจำมหาวิทยาลัย
คือ พระพิฆเนศวร เทพเจ้าแห่งศิลปวิทยาการ และการประพันธ์ประทับบนเมฆ พระหัตถ์ขวาบนถือตรีศูล พระหัตถ์ขวาล่างถืองาช้าง พระหัตถ์ซ้ายบนถือปาศะ (เชือก) พระหัตถ์ซ้ายล่างถือครอบน้ำ ประทับบนลวดลายกนก ภายใต้มีอักษรว่า “มหาวิทยาลัยศิลปากร” ประกาศใช้เมื่อ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2494 ซึ่งคล้ายคลึงกับกรมศิลปากร

สีประจำมหาวิทยาลัย
คือ เขียวเวอร์ริเดียน เป็นสีของน้ำทะเลระดับลึกที่สุด แต่ในระยะแรกก่อตั้งมหาวิทยาลัยได้กำหนดใช้สีเขียว ซึ่งเป็นสีพื้นป้ายมหาวิทยาลัยป้ายแรก แต่ช่วงนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดลก็ใช้สีเขียวเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยเช่นกัน จึงมีแนวคิดที่จะสร้างความแตกต่าง และเนื่องจากนักศึกษาคณะจิตกรรมฯ นิยมพารุ่นน้องปี 1 ไปทำกิจกรรมรับน้องที่เกาะเสม็ด จึงได้มีโอกาสชื่นชมสีของน้ำทะเลใส และได้นำมาเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสีที่บ่งบอกถึงความสร้างสรรค์ของชาวศิลปากร

เพลงประจำมหาวิทยาลัย
1. เพลง
Santa Lucia เป็นเพลงพื้นเมืองของประเทศอิตาลี แต่งขึ้นในราวศตวรรษที่ 19 เป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อชมความงามของชายหาดที่มีชื่อเสียงของเมืองเนเปิลส์ นอกจากนี้ เพลง Santa Lucia ยังเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย สืบเนื่องจาก ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านเป็นชาวอิตาลี ซึ่งมีชื่อเดิมว่า คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) และชอบร้องเพลงนี้บ่อยๆ เวลาทำงาน หลังจากนั้น คณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ ได้นำทำนองเพลงนี้ มาใส่เนื้อร้องภาษาไทย โดยใช้ชื่อเพลงว่า “ศิลปากรนิยม”
2. กลิ่นจัน เป็นเพลงที่มาจากคณะอักษรศาสตร์ ผู้ประพันธ์เพลงนี้คือ คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ เจ้าของนามปากกา ว.วินิจฉัยกุล และแก้วเก้า ซึ่งท่านเคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เวลาผ่านไป เพลงกลิ่นจันก็แพร่หลายไปทั่วมหาวิทยาลัย
3. สวัสดีศิลปากร แต่งโดยนักศึกษานักศึกษาคณะโบราณคดี เพื่อที่จะนำไปเต้นเรี่ยไรเงินสมทบทุนช่วยภัยน้ำท่วมช่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ ปัจจุบันเป็นเพลงสันทนาการประจำมหาวิทยาลัย ที่นักศึกษาทุกคณะสามารถร้อง และเต้นพร้อมกัน แต่ท่าเต้นจะต่างกันเล็กน้อย

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
คือ ต้นจัน เป็นต้นไม้ใหญ่ ผลมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ยืนต้นเก่าแก่อยู่คู่กับวังท่าพระมาช้านาน และยังมีต้นเก่าแก่อีกต้นที่พระตำหนักทับขวัญ พระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้ต้นจันเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย เป็นที่มาของเพลงกลิ่นจัน ปัจจุบันมีการปลูกต้นจัน ที่วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรีเพิ่มขึ้นด้วย

ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย
คือ ดอกแก้ว ด้านข้างท้องพระโรง วังท่าพระ มีสวนแก้วอยู่ด้านใน ยามเมื่อดอกแก้วออกดอก จะส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วทั้งวัง

ที่ตั้ง และวิทยาเขต
1. วังท่าพระ 
31 ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง และท่าช้าง มีพื้นที่ประมาณ 11 ไร่ เดิมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นวิทยาเขตแรก และจุดกำเนิดของมหาวิทยาลัย เป็นที่ตั้งของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ (ชั้นปีที่2-5) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (ชั้นปีที่ 1-5) คณะโบราณคดี คณะมัณฑนศิลป์ (ชั้นปีที่2-4) และหอศิลป์ต่างๆ

2. วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ถนนราชมรรคาใน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000
วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เป็นที่รู้จักในชื่อว่า “ม.ทับแก้ว” ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ซึ่งเคยเป็นพระราชวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพื้นที่ประมาณ 888 ไร่ แต่ใช้เป็นที่ก่อสร้างอาคารของมหาวิทยาลัยเพียง 428 ไร่ โดยเป็นที่ตั้งของคณะอักษรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ (ชั้นปีที่1) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (ชั้นปีที่ 1-2) และคณะมัณฑนศิลป (ชั้นปีที่1) นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเปิดให้มีการเรียนการสอนแบบสหศึกษาแก่นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษาปีที่ 1-6 และชั้นมัธยมปีที่ 1-6 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ศูนย์วิจัยและพัฒนา ศูนย์วิทยาศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการต่างๆ

3. สำนักงานอธิการบดี ตลิ่งชัน  22 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170
เป็นที่ตั้งของคณะดุริยางคศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัยทั้งภาคไทยและอังกฤษ และวิทยาลัยนานาชาติสาขาการจัดการโรงแรม(เริ่มทำการย้ายไปเขตบางรัก)

4. วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี เลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ถนนชะอำ-ปราณบุรี ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 76120 มีพื้นที่ 621 ไร่ วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี เป็นวิทยาเขตแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีการออกแบบอาคาร และวางแผนแม่บทให้ประหยัดพลังงาน และรักษาสภาพแวดล้อม (Clean and Green Campus) โดยอาคารทุกหลังจะสูงไม่เกิน 5 ชั้น ใช้บันไดติดต่อสัญจรทางตั้ง โดยไม่ต้องใช้ลิฟท์ ออกแบบโดยการใช้หลักการในการประหยัดพลังงาน ทั้งในเรื่องการลดความร้อน การใช้แสงสว่าง และลมธรรมชาติ รวมทั้งการนำของเสีย และพลังงาน หมุนเวียนมาใช้ประโยชน์

การวางผังจะให้รถยนต์จอดที่ด้านหน้าวิทยาเขต แต่ภายในจะใช้จักรยาน ทางเดิน และรถไฟฟ้าเท่านั้น ถนนทุกสายรวมทั้งการเดินเท้า ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาตลอดทุกสาย ทางเดินติดต่อระหว่างอาคารที่สำคัญมีหลังคาคลุมกันแดด และฝน มีคลองเรียบถนนสายหลัก มีสระน้ำ คูน้ำ บ่อน้ำ และบึง กระจายอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ทางเดินติดต่อของบ้านพักอาจารย์ และข้าราชการ เป็นสะพานลอย เช่นเดียวกับหมู่บ้านชาวประมง เพราะอยู่บนที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมถึง การใช้สะพานเป็นทางเดินติดต่อจะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ได้เป็นอย่างดี และยังมีการนำบรรยากาศของวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์มาผสมผสาน เมื่อจัดทำภูมิสถาปัตยกรรมเสร็จเรียบร้อย จะเป็นวิทยาเขตที่งดงาม และปราศจากมลพิษ ถือเป็นวิทยาเขตแห่งอนาคตของมหาวิทยาลัยศิลปากร(ปัจจุบันวิทยาเขตไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากมีข้อขัดข้องบางประการ โดยเฉพาะการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการรับนักศึกษาเข้าเรียนและการขาดแคลนงบประมาณ จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนดไว้)

วิทยาเขตนี้เป็นที่ตั้งของคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาการจัดการ และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ชั้นปีที่1-3) คลังโบราณวัตถุของคณะโบราณคดี ศูนย์วิจัยของคณะเภสัชศาสตร์ และในอนาคตตามแผนพัฒนาของคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2550 มีมติให้มีการขยายสาขาด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคตะวันตก ไว้ที่ “วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี” โดยจะมีคณะตั้งใหม่ คือ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะการออกแบบยานพาหนะ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะกายภาพบำบัด รวมถึงวิทยาลัยนานาชาติ สาขาทัศนศิลป์และสถาบันศิลปะร่วมสมัยแห่งภูมิภาคเอเชียด้วย

5. วิทยาเขตบางรัก ในปี พ.ศ. 2551 ตามนโยบายของสภามหาวิทยาลัย ได้เปิดวิทยาเขตใหม่ ขึ้นที่อาคารของบริษัท ก.ส.ท.หรือตึกแคทเทเลคอม ในเขตบางรัก ซึ่งพื้นที่ที่จะใช้งานคือโฮมออฟฟิศชั้นที่ 10 และ 11 ของอาคารจอดรถของบริษัท ก.ส.ท. ซึ่งอยู่ในซอยหลังที่ทำการไปรษณีย์กลาง กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้จะมีนักศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาติสาขาการออกแบบมัลติมีเดีย และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ กับชั้นปีที่ 4 ของสาขาออกกับแบบสาขาธุรกิจ และสาขาธุรกิจภาคต่อเนื่อง ศึกษาอยู่ที่วิทยาเขตบางรักทั้งหมด โดยจะใช้บริเวณชั้นที่ 8 เป็นหลัก โดยตามประกาศคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ทำตามนโยบายของสภามหาวิทยาลัยในหัวข้อ “หนึ่งคณะสองวิทยาเขต” จึงทำให้มีการปรับปรุงและโยกย้ายนักศึกษา ที่เคยศึกษาเดิมที่วิทยาเขตท่าพระ และตลิ่งชันนั้นมาสู่วิทยาเขตบางรัก ทางมหาวิทยาลัยได้อนุมัติงบพัฒนาพื้นที่บริเวณโฮมออฟฟิศดังกล่าวให้ทันสมัย โดยชั้นที่ 8 ของนักศึกษาคณะเทคโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มีการสร้างห้องเรียน ขนาด 45 60 80 120ที่นั่ง เพื่อการรองรับนักศึษาที่เพิ่มขึ้นทุกปีของสาขานิเทศศาสตร์ และห้องแลปคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยเทียบเท่าห้องแลปสองที่ตึกอาคารบริหาร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ที่มีความทันสมัยและเหมาะแก่การปฏิบัติงานทางกราฟิก และแอนิเมชั่น ปัจจุบันวิทยาลัยนานาชาติสาขาการจัดการโรงแรมได้ย้ายที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ Vatel Restaurant และบางวิชาภาคทฤษฏี เริ่มเปิดบริการวันที่ 9 มกราคม 2555 และภาควิชาภาคทฤษฏีที่อื่นๆจะตามมาเป็นทีหลังเป็นลำดับไป

 

มหาวิทยาลัยศิลปากร : Silpakorn University
ชื่อย่อ : มศก. / SU
คติพจน์ : ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น (Ars longa vita brevis)
สถาปนา : 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486
ประเภท : สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
เว็บไซต์ : www.su.ac.th
Facebook : https://www.facebook.com/SilpakornU?rf=658878347479918

 

ที่มา จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

See Less