มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันที่มาจากการเป็นโรงเรียนแพทย์ ณ โรงพยาบาลศิริราช ชื่อว่า “โรงเรียนแพทยากร” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2432 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “มหิดล” อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ใช้แทนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดล
ประวัติ
มหาวิทยาลัยมหิดล มีความเป็นมาจากโรงศิริราชพยาบาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นบริเวณพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือที่เรียกว่า “วังหลัง” ต่อมาในปี พ.ศ. 2436 จึงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ ณ โรงศิริราชพยาบาล และตั้งชื่อโรงเรียนแพทย์ว่า “โรงเรียนแพทยากร” จัดการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตร 3 ปี หลังจากนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดตึกของโรงเรียนแพทย์ จึงได้พระราชทานนามโรงเรียนแพทยากรใหม่ว่า “โรงเรียนราชแพทยาลัย” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” จึงได้รวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้าเป็นคณะหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 โดยใช้ชื่อว่า “คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ต่อมา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล”
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้น โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรกำหนดฐานะระเบียบแบบแผนสำหรับการศึกษาในกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กระทรวงการสาธารณสุข โดยแยก คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งเป็น “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” สังกัดกระทรวงการสาธารณสุข
โดยได้จัดตั้งคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมากมาย เช่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน บัณฑิตวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ พญาไท และคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท ตามลำดับ ต่อมาได้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยการโอนคืนคณะที่ซ้ำซ้อนต่างๆ ออกจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์คืนไปยังต้นสังกัดเดิม ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปเป็น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ไปเป็น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ไปเป็น คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ โอนกลับไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต่อมา ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล” อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก แทนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เดิม
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผลทำให้มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดลจัดการเรียนการสอนภายในคณะ สถาบัน วิทยาลัยต่างๆ ครอบคลุมทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์
ปรัชญาประจำมหาวิทยาลัย
ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ
ตราประจำมหาวิทยาลัย
เมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2486 ทางมหาวิทยาลัยได้ใช้ตราวงกลม 2 ชั้น ภายในเป็นรูปงูพันคบเพลิง วงนอกด้านบนเขียนว่า “อตฺตานํ อุปมํ กเร” ด้านล่างเขียนว่า “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยเรื่อยมา
จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานชื่อ “มหาวิทยาลัยมหิดล” เป็นชื่อมหาวิทยาลัยแทนชื่อเดิม ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงได้เปลี่ยนตราสัญลักษณ์ใหม่ โดยให้นายแพทย์นันทวัน พรหมผลิน เป็นผู้ออกแบบ และอาจารย์กอง สมิงชัย เป็นผู้ช่วยร่างแบบ เมื่อออกแบบเสร็จแล้วจึงนำเสนอทูลเกล้าฯ เพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่หม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี สถาปนิกพิเศษประจำสำนักพระราชวัง ในการปรับแก้ไขตรี และพระมหามงกุฏของตราให้เป็นแบบไทย และพระราชทานตราให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลม 2 ชั้น โดยวงกลมชั้นในมีพื้นหลังเป็นสีน้ำเงิน ตรงกลางเป็นตราประจำราชสกุลมหิดลสีเหลืองทอง ส่วนวงกลมชั้นนอกนั้นมีพื้นหลังสีขาวตัวอักษรสีเหลืองทองด้านบนเขียนว่า “อตฺตานํ อุปมํ กเร” ด้านล่างเขียนว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล” คั่นด้วยดอกประจำยามสีเหลืองทอง
สีประจำมหาวิทยาลัย
คือ สีน้ำเงินแก่ เป็นสีแห่งความเป็นราชขัติยนุกูลแห่งบรมราชวงศ์ ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2512
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
คือ ต้นกันภัยมหิดล ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทานพระราชวินิจฉัยชี้ขาดให้ “ต้นกันภัยมหิดล” เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
วิทยาเขต และสถานที่ตั้ง
มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพมหานคร แบ่งออกได้ 3 บริเวณ ได้แก่
1. มหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย เป็นที่ตั้งของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะเทคนิคการแพทย์ เป็นวิทยาเขตที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2432
2. มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท มี 3 บริเวณย่อย ได้แก่
– บริเวณถนนพระรามที่ 6 เป็นที่ตั้งของคณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และ ศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา
– บริเวณถนนราชวิถี เป็นที่ตั้งของคณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะทันตแพทยศาสตร์
– บริเวณถนนศรีอยุธยา เป็นที่ตั้งของคณะเภสัชศาสตร์
3. วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนวิภาวดีรังสิต เขตพญาไท เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ตั้งอยู่ ณ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะกายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะวิทยาศาสตร์ (เพื่อสอนวิชาพื้นฐานในสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์แสะเทคโนโลยี) คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ วิทยาลัยนานาชาติ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา วิทยาลัยราชสุดา วิทยาลัยศาสนศึกษา ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โรงแรม Salaya Pavilion และหน่วยงานอื่นๆ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2525
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ตั้งอยู่ ณ ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ ตั้งอยู่ ณ ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ ตั้งอยู่ ณ ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ
มหาวิทยาลัยมหิดล : Mahidol University
ชื่อย่อ : MU
คติพจน์ : อตฺตานํ อุปมํ กเร (พึงปฏิบัติต่อผู้อื่น เหมือนดังปฏิบัติต่อตนเอง) Wisdom of the Land (ปัญญาของแผ่นดิน)
สถาปนา : พ.ศ. 2486
ประเภท : สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
เว็บไซต์ : www.mahidol.ac.th
Facebook :mahidol
Facebook : Mechanical Engineering Mahidol University
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยมหิดล